ก่อนที่จะตัดสินใจขอสินเชื่อบ้านกับธนาคาร สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือการศึกษาข้อมูล และเข้าใจรูปแบบของการกู้ซื้อบ้านให้ครบถ้วนก่อน เพื่อจะช่วยให้คุณได้รับสินเชื่อบ้านที่คุ้มค่า และยังช่วยให้การอนุมัติสินเชื่อนั้นผ่านฉลุยได้เร็วขึ้นด้วย
โดยในบทความนี้ เราได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการขอสินเชื่อบ้านและโครงการสินเชื่อบ้านเพื่อคนทุกลุ่มอาชีพ ที่คุณสามารถเลือกให้ตอบโจทย์และเหมาะสมกับสภาพคล่องทางการเงินของคุณมากที่สุดเอาไว้แล้ว
รู้จักกับ สินเชื่อบ้านกับธนาคารอาคารสงเคราะห์
สินเชื่อบ้าน คือ เงินกู้ชนิดหนึ่งที่ทางธนาคารปล่อยกู้ให้กับผู้กู้ในระยะยาว โดยจะใช้ที่อยู่อาศัยที่จะซื้อมาจำนองเอาไว้ และในแต่ละโครงการของธนาคารนั้น ก็จะมีวัตถุประสงค์ของสินเชื่อบ้านต่างกันออกไป เช่น
- ขอสินเชื่อเพื่อนำไปซื้อที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว คอนโด ทาวน์เฮาส์/ทาวน์โฮม อาคารพาณิชย์
- ขอสินเชื่อเพื่อนำไปซื้อที่ดิน
- ขอสินเชื่อเพื่อนำไป ปลูกสร้าง/ซ่อมแซม/ต่อเติม/ตกแต่งบ้าน
- ขอสินเชื่อเพื่อนำไปซื้อบ้านมือสอง
ซึ่งธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นธนาคารที่ดีที่สุดสำหรับคนที่อยากมีบ้าน ช่วย เติมเต็มความฝันเพื่อคนอยากมีบ้าน โดยสินเชื่อของธนาคารมีบริการสินเชื่อบ้านแบบครบวงจร ที่ตอบโจทย์ของคนอยากมีบ้านและครอบคลุมทุกค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้าน คอนโด ที่ดินพร้อมปลูกสร้าง หรือว่าจะกู้เงินเพื่อซ่อมแซม/ต่อเติม/ตกแต่งบ้าน ก็สามารถทำได้ภายใต้เงื่อนไขของธนาคาร
ขอสินเชื่อบ้านกับ ธอส. ให้ความคุ้มค่าอย่างไร?
ความคุ้มค่าที่คุณจะได้รับจากการขอสินเชื่อบ้านกับ ธอส . นั่นคือ อัตราดอกเบี้ย ที่สมเหตุสมผล เนื่องจากเราเป็นธนาคารเพื่อคนอยากมีบ้านโดยเฉพาะ ทำให้อัตราดอกเบี้ยของเรามีราคาต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการขอสินเชื่อบ้านกับธนาคารอื่นๆ และยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับคุณได้มากขึ้น ด้วยการยืดระยะเวลาผ่อนชำระได้ยาวนานที่สุดถึง 40 ปี
นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่กำลังมองหาสินเชื่อเพื่อการซื้อบ้าน ธอส. ยังมีบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสินเชื่อบ้านที่ครบวงจรแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ให้บริการโดยผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ที่คอยให้คำแนะนำ เปรียบเทียบ และช่วยหาข้อเสนอที่คุ้มค่ากับคุณได้มากที่สุด
โดยก่อนที่จะใช้บริการปรึกษาสินเชื่อบ้านกับ ธอส. คุณสามารถเรียนรู้ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนปรึกษาสินเชื่อบ้าน แล้วเริ่มใช้บริการได้เลย
สินเชื่อบ้านที่ ธอส. เหมาะกับใครบ้าง?
“ทำให้คนไทยมีบ้าน” เป็นพันธกิจของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่ช่วยสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยของคนไทยทุกคนให้เป็นจริง
โดยธนาคารมีโครงการสินเชื่อที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับเงื่อนไขของคนแต่ละสายอาชีพ และเปิดกว้างให้กับผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยหลากหลายกลุ่ม ซึ่งได้แก่
1. กลุ่มผู้มีรายได้ประจำทั่วไป
ประชาชนคนวัยทำงานทั่วไปหรือ พนักงานบริษัทเอกชนที่มีรายได้ประจำ ที่กำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัวด้วยการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง
สามารถขอสินเชื่อบ้านกับ ธอส. สำหรับลูกค้าทั่วไปได้ โดยใช้หลักฐานแสดงที่มาของรายได้อยู่ในระบบ ได้แก่ ใบรับรองเงินเดือน / หนังสือผ่านสิทธิสวัสดิการ, สลิปเงินเดือนหรือหลักฐานการรับเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน และ สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 3 เดือน
2. กลุ่มบุคลากรภาครัฐ
บุคลากรภาครัฐ ซึ่งได้แก่ ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงาน/เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ชื่อเรียกอย่างอื่น และลูกจ้างประจำ ที่เป็นผู้มีสิทธิขอกู้เงินตามคำนิยามในข้อตกลงโครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยประเภทไม่มีเงินฝาก
สามารถขอ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อบุคลากรภาครัฐ กับ ธอส. ได้ โดยใช้เอกสารทางการเงินในการยื่นกู้ ได้แก่ ใบรับรองเงินเดือน / หนังสือผ่านสิทธิสวัสดิการ, สลิปเงินเดือนหรือหลักฐานการรับเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน และ สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 3 เดือน
3. กลุ่มผู้มีรายได้น้อย
สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีรายได้ต่อเดือนน้อย แม้มีงบประมาณจำกัด ก็มีบ้านเป็นของตัวเองได้ ด้วย สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำ จาก ธอส. สินเชื่อเฉพาะที่เอื้อประโยชน์สำหรับคนรายได้น้อย เพื่อสนับสนุนให้คนไทยสามารถมีบ้านได้โดยไม่ต้องแบกรับภาระหนัก
โดยธนาคารจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ยื่นกู้ ที่มีรายได้ต่อเดือนน้อย จากการดูปัจจัยหลักดังนี้
- รายการเดินบัญชี หรือ สเตทเม้น (Statement) เพื่อดูความเคลื่อนไหวของเงินหมุนเวียนในบัญชีแต่ละเดือน ทั้งรายได้ที่เข้ามา และข้อมูลรายการฝาก-ถอนที่มีวินัย
- ประวัติการชำระหนี้ หรือ เครดิตบูโร ซึ่งธนาคารจะทำการตรวจเช็กประวัติการชำระหนี้ของผู้ยื่นกู้กับ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (National Credit Bureau) เพื่อดูประวัติการค้างชำระหนี้ว่าจ่ายตรงเวลา หรือค้างชำระบ่อยหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาการอนุมัติสินเชื่อจากทางธนาคารด้วย
- อัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ (Debt Service Ratio) เป็นส่วนที่ทางธนาคารใช้พิจารณาว่าผู้ยื่นกู้มีความสามารถในการจ่ายหนี้คืนมากแค่ไหน ซึ่งสัดส่วนที่เหมาะสมคือ ภาระหนี้ทั้งหมด รวมกับ ภาระหนี้สำหรับการกู้บ้านครั้งนี้ ต้องไม่เกิน 30% – 40% ของรายได้ต่อเดือน
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทางธนาคารใช้พิจารณาอนุมัติสินเชื่อบ้าน จะเห็นว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนรายได้ที่น้อย แต่จะให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือของการชำระหนี้มากกว่า
หากยังไม่รู้จะเลือกสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำอย่างไรให้เหมาะสมต่อรายจ่ายในแต่ละเดือน อ่านต่อ: เงินเดือนน้อย เลือกสินเชื่อบ้านอย่างไรดี
ตัวอย่างโครงการสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำ สำหรับผู้มีรายได้น้อยจาก ธอส.
- โครงการบ้านคนละหลัง สินเชื่อบ้านที่เหมาะกับประชาชนทั่วไปที่มีรายได้ ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน ทั้งที่เป็นพนักงานประจำ หรือประกอบอาชีพอิสระ โดยได้วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 2,000,000 บาทต่อราย/ต่อหลักประกัน
- โครงการบ้าน ธอส. เพื่อสานรัก สินเชื่อบ้านที่เหมาะกับประชาชนทั่วไปที่มีรายได้ ไม่เกิน 35,000 บาทต่อเดือน ทั้งที่เป็นพนักงานประจำ และประกอบอาชีพอิสระ โดยได้วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 3,000,000 บาท
- โครงการบ้านล้านหลัง สินเชื่อบ้านที่เหมาะกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ โดยเป็นกลุ่มคนวัยทำงานหรือประชาชนที่กำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัว ซึ่งจะได้วงเงินสูงสุดต่อรายต่อหลักประกันไม่เกิน 1,200,000 บาท
อ่านเพิ่มเติม: ธอส. แนะนำ “สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำ” สำหรับผู้มีรายได้น้อย
4. กลุ่มผู้ประกอบการ
ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องการขอสินเชื่อเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ทั้งในการปลูกสร้าง ต่อเติม ปรับปรุง ซ่อมแซม ไม่ว่าจะเป็นอพาร์ทเม้นท์ หรือบ้านเช่า
สามารถขอ สินเชื่อผู้ประกอบการ กับ ธอส. ได้ โดยใช้หลักฐานทางการเงิน เช่น รูปถ่ายกิจการ, หลักฐานการชำระภาษี, บัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน เป็นต้น
และในการขอสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ กรณีปลูกสร้างและไถ่ถอนจะมีการขอเอกสารเพิ่มเติมที่ต้องใช้ในการยื่นกู้ด้วย เช่น ใบเสนอราคา สัญญารับเหมาก่อสร้าง, สัญญากู้เงิน / สัญญาจำนอง ทุกฉบับ, สัญญาจะซื้อจะขาย เป็นต้น
5. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ
ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งได้แก่ พ่อค้า แม่ค้า ฟรีแลนเซอร์ หรือรับจ้างทั่วไป ที่มีรายได้ต่อเดือนไม่สม่ำเสมอ ธอส. ก็มีโครงการสินเชื่อหลากหลายที่เปิดให้กู้กับทางธนาคารได้ เหมือนกับกลุ่มผู้มีรายได้ประจำทั่วไป
โดยใช้หลักฐานทางการเงิน เช่น สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 12 เดือน/ หลักฐานแสดงฐานะการเงินอื่นๆ (พร้อมเอกสารฉบับจริง), สำเนาทะเบียนการค้า/ทะเบียนบริษัท/ ห้างหุ้นส่วน, หลักฐานการเสียภาษีเงินได้, รูปถ่ายกิจการ เป็นต้น
คุณสมบัติทางการเงินของผู้ยื่นกู้ไม่ผ่านเกณฑ์การขอสินเชื่อ จะทำอย่างไร?
หากว่าผู้ยื่นกู้ไม่สามารถแสดงหลักฐานแหล่งที่มาของรายได้ หรือมีคุณสมบัติทางการเงินที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ก็มี โครงการโรงเรียนการเงิน ที่ช่วยในการวางแผนและฝึกวินัยในการเก็บออม พร้อมกับช่วยวางแผนทางการเงินให้พร้อมสำหรับการขอสินเชื่อ
โดยทางธนาคารจะให้ผู้ยื่นกู้จัดทำสมุดบัญชีรับ – จ่ายรายวัน ตามแบบฟอร์มธนาคารไม่น้อยกว่า 9 เดือน พร้อมกับเปิดบัญชีเงินฝากและฝากเงินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำมาแสดงเป็นหลักฐานแสดงการมีอยู่ของรายได้ และเก็บหลักฐานเพื่อแสดงที่มาของรายได้ เช่น ใบเสร็จรับเงิน สัญญาเช่าแผงค้าขาย เป็นต้น
6. สินเชื่อบ้านสำหรับครอบครัว
สำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ก็สามารถขอสินเชื่อเพื่อบ้านประเภทกู้ร่วมกันระหว่าง พ่อ แม่ และลูก เพื่อสร้างความมั่นคงจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยโครงการสินเชื่อบ้าน 2 GEN จาก ธอส. วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 2,500,000 บาท ต่อราย ต่อหลักประกัน (ราคาตามสัญญาจะซื้อจะขาย และ / หรือค่าก่อสร้าง)
โดยผู้ที่ขอสินเชื่อ 2 GEN จะต้องเป็นประชาชนทั่วไปที่มีอายุไม่เกิน 55 ปี และขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยโดยกู้ร่วมกับบุตรที่บรรลุนิติภาวะ หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
และยังสามารถขอกู้ในระยะเวลานานกว่า 40 ปี ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าอายุของลูกที่กู้ร่วมเมื่อรวมกับระยะเวลากู้ต้องไม่เกิน 70 ปี เพื่อขยายกำลังในการผ่อนชำระให้มากขึ้น และลดภาระในการผ่อนชำระค่างวดในแต่ละเดือนลง
7. สินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ
สำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปี แต่ไม่เกิน 80 ปี ที่ต้องการกู้ยืมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอใช้จ่าย ธอส. มีโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage : RM)
ซึ่งเป็นการให้สินเชื่อแบบย้อนกลับ ในวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท ต่อราย / ระยะเวลาการกู้อย่างน้อย 6 เดือน และสูงสุดไม่เกิน 25 ปี โดยอายุผู้กู้รวมกับระยะเวลาขอกู้ต้องไม่เกิน 85 ปี
โดยผู้ขอสินเชื่อต้องนำที่อยู่อาศัยที่ปลอดภาระจำนองมาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ และธนาคารจะจ่ายเงินเข้าบัญชีผู้กู้ทุกเดือน จนเมื่อครบกำหนดจ่ายเงินทุกงวดแล้ว ผู้กู้ยังสามารถอยู่อาศัยต่อในหลักประกันได้จนกว่าจะเสียชีวิต
อ่านเพิ่มเติม: สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ Reverse Mortgage คืออะไร สำคัญอย่างไรต่อวัยเกษียณ
ที่อยู่อาศัยประเภทไหนบ้างที่ขอสินเชื่อบ้านกับ ธอส. ได้
บริการสินเชื่อบ้านของ ธอส. ที่นอกจะเป็นธนาคารเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคนแล้ว ยังรองรับหลักทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยทุกประเภท โดยตัวอย่างที่สินเชื่อของธนาคารรองรับ ได้แก่
- สำหรับซื้อที่ดินพร้อมอาคาร ซึ่งได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ และอาคารพาณิชย์เพื่อที่อยู่อาศัย ยกเว้นแฟลตและบ้านเช่า
- สำหรับซื้อห้องชุด หรือคอนโด
- สำหรับปลูกสร้างอาคาร หรือซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างอาคาร
- สำหรับต่อเติม หรือขยาย หรือซ่อมแซมอาคาร
- เพื่อซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย
และยังรวมไปถึงสินเชื่อสำหรับไถ่ถอน หรือชำระหนี้ของที่อยู่อาศัยที่จำนองเอาไว้ เช่น
- ไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุดจากสถาบันการเงินอื่น
- ไถ่ถอนจำนองที่ดินเปล่าจากสถาบันการเงินอื่นพร้อมปลูกสร้างอาคาร
- ไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมอาคารจากสถาบันการเงินอื่น และปลูกสร้างอาคาร หรือต่อเติม หรือขยาย หรือซ่อมแซมอาคาร
- เพื่อชำระหนี้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
นั่นจึงทำให้บริการสินเชื่อบ้านของ ธอส. นั้นมีครอบคลุม ครบวงจรสำหรับคนที่อยากมีบ้านทุกประเภท และพร้อมช่วยเหลือ สนับสนุนให้คนไทยทุกคนมีบ้านเป็นของตัวเอง
สามารถขอสินเชื่อบ้านมือสองจาก ธอส. ได้หรือไม่?
สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมือสอง ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์/ทาวน์โฮม คอนโดมิเนียม และอาคารพาณิชย์ ก็สามารถยื่นกู้เพื่อซื้อและผ่อนชำระได้เหมือนกับสินเชื่อบ้านทั่วไป
แต่ผู้ยื่นขอสินเชื่อจะต้องศึกษาเงื่อนไขของโครงการสินเชื่อให้รอบคอบ และเช็กดูให้ดีว่าครอบคลุมจุดประสงค์การซื้อบ้านหรือไม่ เนื่องจากการขอสินเชื่อซื้อบ้านมือสอง มีข้อแตกต่างจากการสินเชื่อบ้านมือหนึ่งในบางประการ
เช่น มีโอกาสได้วงเงินไม่เต็ม 100%, ไม่สามารถผ่อนดาวน์ได้, มีขั้นตอนการขอสินเชื่อที่ซับซ้อน เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม: สินเชื่อบ้านมือสอง vs มือหนึ่ง มีข้อแตกต่างอย่างไรบ้าง?
หากจะขอสินเชื่อบ้านกับ ธอส. ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
อีกหนึ่งความสำคัญในการยื่นขอสินเชื่อบ้านกับธนาคาร นั่นคือการเตรียมตัวหาข้อมูลสินเชื่อที่ต้องการให้พร้อม และเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน ก็จะช่วยให้ระยะเวลาอนุมัติสินเชื่อนั้นเป็นไปได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วย่ิงขึ้น
สำหรับขั้นตอนในการเตรียมตัวขอสินเชื่อกับธนาคาร ให้เริ่มจากการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อให้ครบรอบด้าน ซึ่งเมื่อเจอกับสินเชื่อบ้านที่ตอบโจทย์ และคุณสมบัติของผู้กู้เข้าเงื่อนไขตามที่ธนาคารกำหนดแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการเตรียมเอกสารให้พร้อมเพื่อยื่นขอสินเชื่อกับธนาคาร และรอการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารได้เลย
1. ขั้นตอนการเตรียมตัวหาข้อมูลสินเชื่อบ้าน
ในการขอสินเชื่อบ้านกับธนาคารนั้นถือว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องใหญ่ที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพราะเป็นกู้ยืมเงินจำนวนมากจากธนาคาร และเป็นการผ่อนชำระในระยะยาว ดังนั้นการรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อให้ครบรอบด้านจึงเป็นสิ่งจำเป็น
โดยข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อบ้านที่คุณควรหาและทำความเข้าใจ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกยื่นกู้กับธนาคาร ได้แก่
- ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสินเชื่อบ้าน
- วิธีประเมินสุขภาพทางการเงินของคุณ
- การคิดอัตราดอกเบี้ยที่คุ้มค่า
- มองหาโครงการสินเชื่อบ้าน ที่ตอบโจทย์สภาพคล่องทางการเงินของคุณ
- วิธีการบริหารจัดการหนี้สิน และการผ่อนชำระที่ไม่สร้างภาระในการใช้จ่ายมากจนเกินไป
อ่านรายละเอียดแต่ละข้อได้ที่: 5 สิ่งที่ต้องรู้ก่อนขอสินเชื่อบ้าน [รู้ครบใน 3 นาที]
เคล็ดลับการเลือกธนาคารที่ขอสินเชื่อบ้าน
หลังจากการหาข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสินเชื่อบ้านแล้ว ต่อไปก็คือการตัดสินใจเลือกว่าจะ ขอสินเชื่อบ้านที่ไหนดี? ที่จะมอบความคุ้มค่าทั้งด้านวงเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาผ่อน การให้บริการที่รวดเร็ว โปรโมชั่นค่าธรรมเนียม และที่สำคัญคือ เงื่อนไขที่เอื้อต่อการอนุมัติสินเชื่อที่ตอบโจทย์รายได้ของคุณมากที่สุด
ซึ่ง ธอส. เป็นธนาคารที่มีความเชี่ยวชาญด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะ ก็มีแนวทางและสินเชื่อสำหรับคนทุกกลุ่ม โดยเรามีผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ในการให้คำปรึกษา และมีขั้นตอนในการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้คุณสามารถขอสินเชื่อผ่านได้
2. ขั้นตอนการเตรียมเอกสารยื่นขอสินเชื่อบ้าน
หลังจากที่คุณเลือกได้แล้วว่าจะขอสินเชื่อบ้านกับธนาคารไหนดี ขั้นตอนต่อมา คือ การเตรียมเอกสารขอสินเชื่อบ้านให้ครบ ผ่านในหนเดียว เพื่อป้องกันการถูกปฏิเสธสินเชื่อ เนื่องจากเอกสารที่เตรียมมาขอสินเชื่อไม่ผ่าน
เอกสารที่ต้องใช้สำหรับสมัครขอสินเชื่อกับธนาคาร จะขึ้นอยู่กับประเภทของโครงการสินเชื่อที่ขอ โดยหลักๆ แล้วจะประกอบไปด้วยเอกสาร 3 ประเภท คือ
- เอกสารส่วนบุคคล เพื่อยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรม ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน / บัตรข้าราชการ, สำเนาทะเบียนบ้าน / สำเนาทะเบียนสมรส / ใบหย่า / ใบมรณะบัตร, สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ – สกุล, สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนคู่สมรส (ถ้ามี)
- เอกสารทางการเงิน เพื่อยืนยันที่มาของรายได้ทั้งของพนักงานประจำ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ได้แก่ ใบรับรองเงินเดือน / หนังสือผ่านสิทธิสวัสดิการ, สลิปเงินเดือน หรือหลักฐานการรับเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน, รูปถ่ายกิจการ, สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน
- เอกสารหลักประกัน เพื่อใช้เป็นหลักประกันในการชำระหนี้ ได้แก่ สำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย / สัญญาวางมัดจำ, สำเนาโฉนดที่ดิน / นส.3ก / หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด / อช.2 ทุกหน้า
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัญญาจะซื้อจะขาย: สัญญาจะซื้อจะขายบ้าน มีอะไรที่คุณต้องรู้บ้าง? [ครบถ้วนใน 5 นาที]
สินเชื่อบ้านที่คุ้มค่าและตอบโจทย์จาก ธอส.
หากคุณกำลังมองหาสินเชื่อสำหรับการซื้อที่อยู่อาศัย ธนาคารอาคารสงเคราะห์มีรายละเอียดข้อเสนอสินเชื่อบ้านและที่อยู่อาศัย ที่ตอบโจทย์กับผู้ที่ต้องการมีบ้านทุกกลุ่มอาชีพ ด้วยผลิตภัณฑ์หลากหลายที่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างคุ้มค่า
หากคุณสนใจขอสินเชื่อบ้านจาก ธอส. สามารถทำการกรอกข้อมูล เพื่อขอคำแนะนำด้านสินเชื่อ และให้เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับ >>> ได้ที่นี่
เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ที่คอยให้คำแนะนำ พร้อมเปรียบเทียบและยื่นข้อเสนอด้านสินเชื่อที่ดีที่สุดให้กับคุณ ติดต่อเราได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาใกล้บ้านคุณ หรือ
ติดต่อศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์: 02 645 9000