เมื่อต้องการกู้สินเชื่อเพื่อซื้อหรือสร้างบ้าน หนึ่งในคำถามแรกที่ทุกคนสงสัยคงหนีไม่พ้นคำถามว่า “ขอสินเชื่อบ้านที่ไหนดี” เพราะการเลือกธนาคารขอสินเชื่อนั้นหมายถึงการเลือกผู้ที่เราอยากจะทำธุรกรรมด้วยกันเป็นเวลายาวนาน นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเราประหยัด และช่วยให้เรามีบ้านได้จริง ดังนั้น ก่อนจะเลือกธนาคารขอสินเชื่อบ้านจึงควรมีเกณฑ์ในการประเมินธนาคารก่อน ซึ่งเกณฑ์การเลือกธนาคารโดยทั่วไป ก็มีอยู่ 5 ข้อด้วยกัน
1.เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย
เกณฑ์ข้อแรกสำหรับการเลือกธนาคาร อย่างไรก็ต้องคือ ‘อัตราดอกเบี้ย’ เพราะอัตราดอกเบี้ยหมายถึงสิ่งที่คุณต้องจ่าย และไม่ว่าใครก็คงอยากจ่ายน้อยกว่า ต่ำกว่า หากเลือกได้ และเพื่อดูว่าธนาคารใดที่จะคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่านั้น ทั้งนี้ สิ่งที่คุณต้องรู้ก่อนก็คือวิธีการคิดอัตราดอกเบี้ยทั้ง 2 แบบ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed rate) และอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Float rate)
อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดเป็นตัวเลข เช่น 5% โดยไม่เปลี่ยนแปลงตามต้นทุนหรือความผันผวนของธนาคาร ตลอดระยะเวลาผ่อนชำระ หรือเงื่อนไขสัญญา
อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Float rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่จะปรับลงหรือขึ้นตามต้นทุนและผลประกอบการของธนาคาร โดยอ้างอิงดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคาร ได้แก่ MRR หรือ MLR
โดยทั่วไป อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่จะกู้ ธนาคารมักคิดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ในช่วง 1 – 3 ปีแรก (ตามแต่ละโครงการและโปรโมชั่น) แล้วหลังจากนั้นจึงคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ความรู้เรื่องนี้จะช่วยให้เราสามารถคำนวณดอกเบี้ยจากแต่ละธนาคารมาเปรียบเทียบกันได้ ซึ่งแนะนำว่า ให้คำนวณอัตราดอกเบี้ยออกมาเป็นค่าเฉลี่ย 3 ปี
ยกตัวอย่างเช่น
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า แม้ในปีแรก ธนาคาร ข จะคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าที่อื่น แต่เมื่อคิดค่าเฉลี่ยดอกเบี้ย 3 ปี แล้ว จะแพงกว่าอีก 2 ธนาคาร โดยในช่วง 3 ปี ที่ทำสัญญากู้จะไม่สามารถรีไฟแนนซ์ได้ ดังนั้น เมื่อจะเลือกธนาคารจากอัตราดอกเบี้ยจึงควรพิจารณาอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี ทั้งนี้ หลายธนาคารในปัจจุบันมักออกโปรโมชั่นที่คิดอัตราดอกเบี้ยซับซ้อนเพื่อดึงความสนใจ เช่น อัตราดอกเบี้ย 0% ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยนี้เพียง 3 เดือน หลังจากนั้นจึงปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นซึ่งอาจแพงกว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารอื่นก็เป็นได้
หมายเหตุ ถึงแม้ว่าธนาคาร ก จะมีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกที่สุด แต่อาจมีเงื่อนไขอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ประกันชีวิต ซื้อกองทุน หรือการทำบัตรเครดิต เป็นต้น
2. พิจารณาธนาคารที่ให้เวลาผ่อนนานและวงเงินกู้สูงตรงตามความต้องการ
ระยะเวลาผ่อนชำระถือเป็นอีกปัจจัยที่ต้องคิด เพราะการที่สามารถผ่อนชำระได้ยาวนานก็เท่ากับว่ายอดผ่อนต่อเดือนก็จะต่ำลงไป หากสามารถขอผ่อนชำระได้ 30 ปี – 40 ปี ระยะเวลาผ่อนชำระที่มากกว่า 10 ปี อาจทำให้ยอดผ่อนต่อเดือนลดลงไปหลายพันบาท ผู้กู้ก็จะมีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น อีกทั้งถ้าบริหารเงินเป็น อาจนำเงินส่วนที่เหลือไปเพิ่มพูน และเอามา “โปะ” เงินต้น ลดดอกเบี้ย และลดระยะเวลาผ่อนชำระลงได้
สำหรับวงเงินที่ธนาคารให้ แน่นอนอยู่แล้วว่า ทุกคนอยากได้วงเงินสินเชื่อที่สูงๆ เพราะจะช่วยให้ไม่ต้องออกเงินในส่วนแรกเองมาก ทั้งยังอาจเหลือเงินสำหรับตกแต่งบ้านเพิ่มเติมได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ปัจจัยที่คุณจะได้วงเงินที่สูงนั้นมาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ ธนาคาร และเครดิตทางการเงินของผู้ยื่นกู้ โดยธนาคารจะเป็นผู้ประเมินวงเงินกู้ให้คุณจากประวัติค้างชำระหนี้จากเครดิตบูโร (Credit Bureau) รายได้ต่อเดือนและความสามารถในการผ่อน และพิจารณาว่าหลักทรัพย์มีมูลค่าเท่าไร ทั้งนี้ เพื่อขยายวงเงินกู้ คุณอาจใช้วิธีกู้ร่วมซึ่งธนาคารจะถือว่าคุณมีรายได้และความสามารถในการผ่อนที่สูงขึ้น
3. ตรวจสอบเงื่อนไขและค่าธรรมเนียมการขอสินเชื่อบ้าน
เกณฑ์เลือกธนาคารในข้อนี้ หลายคนอาจจะลืมนึกถึงไป ทั้งเกณฑ์ข้อนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสยื่นกู้ได้สำเร็จและประหยัดเงินได้ถึงหลักหมื่นบาท โดยให้พิจารณาเงื่อนไขต่างๆ และค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายก่อนที่จะยื่นกู้ เพราะแต่ละธนาคารก็อาจมีเงื่อนไขในการยื่นกู้หรือพิจารณาอนุมัติกู้สินเชื่อที่ต่างกัน รวมทั้ง สิทธิพิเศษที่สามารถงดเว้นค่าธรรมเนียมบางรายการลงได้
ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียม สำหรับโครงการสินเชื่อบ้านบางประเภทหรือสินเชื่อที่มีโปรโมชั่นบางสินเชื่ออาจงดเว้นค่าธรรมเนียมบางรายการ เช่น ค่าธรรมเนียมยื่นกู้ ค่าประเมินหลักประกัน และค่าดำเนินการอื่นๆ
4. เลือกที่บริการและความรวดเร็ว
หนึ่งในเกณฑ์ที่หลายคนให้ความสนใจ คือ การให้บริการของธนาคารและความรวดเร็วในการดำเนินงาน เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าการซื้อหรือสร้างบ้าน รวมทั้ง กระบวนการในการกู้สินเชื่อนั้นมีขั้นตอนที่ค่อนข้างละเอียด และต้องมีการประสานงานระหว่างตัวผู้กู้กับธนาคารในช่วงแรกค่อนข้างมาก ดังนั้น หากธนาคารให้บริการไม่ดี ไม่รวดเร็ว หรือดำเนินงานไม่ชัดเจน ก็จะส่งผลต่อกระบวนการซื้อ/สร้างบ้านของผู้กู้ อาจมีปัญหา อาจให้ลูกค้ารอนาน แต่สุดท้ายปฏิเสธ หรืออาจทำให้กำหนดการที่วางไว้ไม่เป็นไปตามแผนได้
วิธีที่จะเลือกธนาคารจากบริการและความรวดเร็วนั้น อาจเห็นได้จากการยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารที่ต่างๆ พร้อมๆ กัน และดูว่าที่ใดให้บริการอย่างไร ใส่ใจผู้ยื่นกู้ หรือคอยติดตามและรายงานความคืบหน้าของการยื่นกู้แค่ไหน และมีกระบวนการพิจารณาอนุมัติในเวลาที่เหมาะสม รวดเร็วหรือไม่ ทั้งนี้ คุณอาจสอบถามจากคนที่เคยมีประสบการณ์การกู้กับธนาคารแต่ละที่ได้
ทั้งนี้ คุณสามารถเตรียมพร้อมในส่วนของคุณเพื่อให้กระบวนการพิจารณาเร็วขึ้นได้ด้วยการเตรียมเอกสารสำหรับยื่นกู้ให้พร้อมก่อนได้ ได้แก่ เอกสารส่วนบุคคล เอกสารทางการเงิน และเอกสารหลักประกัน ซึ่งทั้งหมดหากมีผู้กู้ร่วมก็ต้องเตรียมเอกสารของผู้กู้ร่วมให้พร้อมด้วยเช่นกัน
5. เลือกธนาคารที่เอื้อต่อการอนุมัติ
เนื่องจากการอนุมัติสินเชื่อของธนาคาร มีเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้สินเชื่อหลายข้อ แตกต่างกันไปตามแต่ละธนาคาร คุณอาจเลือกหาธนาคารที่มีเกณฑ์และเงื่อนไขเอื้อต่อการอนุมัติมากกว่า เพิ่มโอกาสยื่นสินเชื่อผ่านได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มักประสบปัญหาคุณบัติไม่ผ่าน ไม่ว่าจะเครดิตไม่ค่อยดี ไม่มีรายได้ประจำในระบบ
สำหรับ ธอส. ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะ ก็มีแนวทางและสินเชื่อสำหรับคนทุกกลุ่ม สามารถให้คำปรึกษา และมีขั้นตอนให้ความช่วยเหลือเพื่อให้สามารถขอสินเชื่อผ่านได้
สรุป
หากสงสัยว่าเมื่อจะกู้เงินซื้อหรือสร้างบ้าน แล้วควรขอสินเชื่อบ้านที่ไหนดี คุณสามารถใช้เกณฑ์การเลือกธนาคารทั้ง 5 ข้อในบทความนี้ เป็นแนวทางในการตัดสินใจ เพราะการตัดสินใจเลือกธนาคารขอสินเชื่อนั้น ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าธนาคารใดดีกว่าธนาคารใด ด้วยปัจจัยต่างๆ ซึ่งธนาคารจะพิจารณาเป็นกรณีไป คุณจึงควรเลือกธนาคารขอสินเชื่อบ้านด้วยตัวคุณเอง เพื่อประหยัดงบประมาณและอำนวยความสะดวกในการซื้อและสร้างบ้านอย่างราบรื่นและมีบ้านได้จริงตามที่ตั้งใจ