สัญญาจะซื้อจะขายบ้าน มีอะไรที่คุณต้องรู้บ้าง? [ครบถ้วนใน 5 นาที]

/
/
สัญญาจะซื้อจะขายบ้าน มีอะไรที่คุณต้องรู้บ้าง? [ครบถ้วนใน 5 นาที]

ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย มาทำความรู้จักกับสัญญาจะซื้อจะขายบ้านให้ดีก่อนว่าสัญญาดังกล่าวคืออะไร มีรายละเอียดอะไรบ้างที่ควรเข้าใจ

ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย มาทำความรู้จักกับสัญญาจะซื้อจะขายบ้านให้ดีก่อนว่าสัญญาดังกล่าวคืออะไร มีรายละเอียดอะไรบ้างที่ควรเข้าใจ

บ้านและที่ดินเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูง ประเภทอสังหาริมทรัพย์ มีขั้นตอนในการซื้อขายตามกฎหมาย ต่างจากสินค้าทั่วไปที่เพียงจ่ายเงินแล้วได้มา เพราะต้องมีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ (ป.พ.พ. มาตรา 456) 

การซื้อขายบ้านและที่ดิน จึงต้องมี “สัญญาจะซื้อจะขาย” เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐานการตกลงแสดงเจตนาซื้อขาย ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หรือ ใช้เป็นเอกสารประกอบการยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน หรือใช้เพื่อเป็นหลักฐานฟ้องร้องกัน หากมีการผิดสัญญา 

ก่อนจะซื้อหรือขายบ้าน ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย เราอยากชวนมาทำความรู้จักกับสัญญาจะซื้อจะขายบ้านให้ดีก่อนว่า สัญญาดังกล่าว คืออะไร มีรายละเอียดอะไรบ้างที่ควรเข้าใจ สรุปไว้ด้านล่างนี้แล้

สัญญาจะซื้อจะขายบ้านคืออะไร

สัญญาจะซื้อจะขายบ้าน คือ สัญญาที่ทำขึ้น เพื่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้จะซื้ออสังหาริมทรัพย์และผู้จะขายอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นการแสดงเจตนาของทั้งสองฝ่าย มีการวางเงินมัดจำไว้เป็นประกัน ว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ภายในระยะเวลาที่ตกลงกัน ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้สัญญาจะซื้อจะขายบ้านจะเป็นสัญญาซื้อขายบ้านที่สมบูรณ์ต่อเมื่อ ผู้ซื้อและผู้ขายไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิที่สำนักงานที่ดินเท่านั้น

ประเภทของสัญญาจะซื้อจะขาย

สัญญาจะซื้อจะขายสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทหลักตามลักษณะของอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดิน และสัญญาจะซื้อจะขายคอนโด

สัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดิน

สัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดิน ใช้สำหรับการซื้อขายบ้านพร้อมที่ดิน หรือที่ดินเปล่า โดยมีรายละเอียดสำคัญที่ต้องระบุในสัญญา ได้แก่ เลขโฉนดที่ดิน (น.ส. 4 จ.) ซึ่งเป็นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน รายละเอียดสิ่งปลูกสร้าง (ถ้ามี) เช่น ลักษณะบ้าน จำนวนชั้น พื้นที่ใช้สอย และระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งโดยทั่วไปมักอยู่ที่ 1-3 เดือน

สัญญาประเภทนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ หรือที่ดินเปล่าเพื่อปลูกสร้างบ้านในอนาคต โดยสัญญาจะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างชัดเจน รวมถึงภาระผูกพันต่างๆ ที่อาจมีอยู่บนที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น

สัญญาจะซื้อจะขายคอนโด

สัญญาจะซื้อจะขายคอนโด ใช้เฉพาะสำหรับการซื้อขายห้องชุดหรือคอนโดมิเนียม โดยมีรายละเอียดสำคัญที่ต้องระบุในสัญญา ได้แก่ เลขหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด (อ.ช. 2) ซึ่งเป็นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในห้องชุด รายละเอียดโครงการและหมายเลขห้อง รวมถึงพื้นที่ใช้สอยและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์สำหรับคอนโดอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสถานะของคอนโด โดยคอนโดที่สร้างเสร็จแล้วหรือคอนโดมือสองมักจะมีระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 1-3 เดือน เช่นเดียวกับบ้านและที่ดิน แต่สำหรับคอนโดที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์อาจยาวนานถึง 12-24 เดือน หรือจนกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ

สัญญาประเภทนี้มีความเฉพาะเจาะจงสำหรับการซื้อขายคอนโด ซึ่งมีลักษณะทางกฎหมายที่แตกต่างจากบ้านและที่ดิน โดยจะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับส่วนกลาง กฎระเบียบของอาคารชุด และสัดส่วนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง

สัญญาจะซื้อจะขายใช้ตอนไหน

  • เมื่อผู้ซื้อต้องการเวลาในการจัดหาเงินทุน เช่น การขอสินเชื่อจากธนาคาร
  • เมื่อผู้ขายต้องการเวลาในการเตรียมเอกสารหรือดำเนินการเรื่องต่างๆ ก่อนการโอนกรรมสิทธิ์
  • ในกรณีของคอนโดที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ซื้อจะได้รับห้องชุดเมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้น
  • เมื่อต้องการกำหนดเงื่อนไขพิเศษในการซื้อขาย เช่น การผ่อนชำระเป็นงวด หรือการตกลงเรื่องการซ่อมแซมก่อนการโอนกรรมสิทธิ์

สัญญาจะซื้อจะขายบ้านจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยเฉพาะในกรณีที่การซื้อขายไม่สามารถเกิดขึ้นได้ทันที

หนังสือสัญญาขายที่ดิน (ท.ด. 13) คืออะไร ใช้ตอนไหน

หนังสือสัญญาขายที่ดิน หรือ ท.ด. 13  คือ หนังสือสัญญาตามรูปแบบของทางราชการ จดทะเบียนโดยเจ้าพนักงานที่ดิน ณ สำนักงานที่ดิน ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ เมื่อผู้ซื้อและผู้ขายได้ดำเนินการตามข้อตกลง “สัญญาจะซื้อจะขาย” และทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์ ค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในวันโอนกรรมสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ กำหนดตามแบบมาตรฐานของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร (ผู้ประกอบการจัดสรรที่ดิน) ผู้จะขายจะแจ้งกำหนดวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ให้ผู้จะซื้อทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน กรณีผู้ขายไม่ใช่ผู้ประกอบการจัดสรร คู่สัญญาอาจตกลงการแจ้งกำหนดวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ตามที่เห็นสมควร

สัญญาจะซื้อจะขาย vs สัญญาซื้อขายที่ดิน ต่างกันอย่างไร

สัญญาทั้งสองประเภทนี้มีชื่อที่คล้ายคลึงกัน โดยใช้เพื่อการซื้อขายบ้านและที่ดินเช่นเดียวกันด้วย ทำให้หลายคนเกิดความสับสนว่า แล้วตกลงสัญญาทั้งสองเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้หรือไม่ เกี่ยวข้องกันหรือไม่ แล้วมีความสำคัญอย่างไรในแง่กฎหมายและการซื้อขาย ซึ่งความแตกต่างของสัญญาทั้ง 2 ประเภท คือ

1. ความสัมพันธ์ระหว่างสัญญาทั้งสองประเภท

ความสัมพันธ์ระหว่างสัญญาทั้งสองประเภท

สัญญาจะซื้อจะขาย คือ หนังสือสัญญาที่แสดงเจตจำนงว่า “จะซื้อและจะขาย” ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เกิดขึ้นตอนเริ่มต้นตกลงซื้อขาย โดยจะมี

  • รายละเอียดของคู่สัญญา 
  • รายละเอียดสินทรัพย์ 
  • ระบุโฉนดที่ดิน (น.ส. 4 จ.) 
  • ข้อตกลงต่าง ๆ รวมไปถึงรายละเอียดการวางเงินมัดจำเพื่อจองสินทรัพย์ 

สำหรับสัญญาจะซื้อจะขายจึงมีอีกชื่อว่า “สัญญาวางเงินมัดจำ” สัญญาประเภทนี้ ยังไม่ถือว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์ แต่ทำขึ้นเพื่อตกลงว่า ผู้ขายจะขายและผู้ซื้อจะไปโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะกำหนดระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 1 – 3 เดือน หรือระยะเวลาตามที่ผู้ซื้อผู้ขายเห็นสมควรตกลงกัน เพื่อให้ผู้ซื้อเตรียมตัว 

ส่วนหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน หรือ ท.ด.13 คือ หนังสือสัญญาที่ทำขึ้นตามแบบที่ราชการกำหนด เมื่อผู้ซื้อผู้ขายได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาจะซื้อจะขายครบถ้วนแล้ว และนัดวันโอนกรรมสิทธิ์ ณ. สำนักงานที่ดิน มีการลงนามในหนังสือสัญญาขายที่ดินเพื่อยืนยันการซื้อขาย โอนกรรมสิทธิ์ของผู้ขายไปเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อ เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนขายตามขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว การซื้อขายสมบูรณ์ตามที่กฏหมายกำหนด 

2. ผลทางกฎหมาย

กฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องมีสัญญาจะซื้อจะขาย ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถตกลงกันปากเปล่าได้ เพียงแต่การทำสัญญาจะซื้อจะขายจะเข้ามาช่วยเรื่องคดีความ สามารถใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีฟ้องร้องได้ หรือเพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เมื่อทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้วมีผลผูกพันคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย 

ส่วนหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน ถือเป็นหนังสือที่ยืนยันกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ของผู้ซื้อ หากปราศจากหนังสือสัญญาขาย ตามรูปแบบของทางราชการ และไม่มีการจดทะเบียน โดยเจ้าพนักงานที่ดิน  ณ.สำนักงานที่ดิน ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นโมฆะ ผู้ซื้อไม่ได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นแต่อย่างใด

3. จุดประสงค์ของสัญญา

สัญญาจะซื้อจะขาย คือ หนังสือที่แสดงเจตนาว่าผู้ขายจะขายและผู้ซื้อจะซื้อ และระบุข้อตกลงต่างๆ หากว่าคู่สัญญาผิดข้อตกลง อีกฝ่ายสามารถฟ้องร้องได้ เช่น ผู้ซื้อสัญญาว่าจะซื้อ แต่ไม่ซื้อ ผู้ขายก็สามารถริบเงินมัดจำได้ หรือผู้ขายสัญญาว่าจะขายแต่ไม่ขาย ผู้ซื้อก็สามารถฟ้องร้องให้ขายหรือเรียกร้องค่าเสียหายได้ 

ส่วนหนังสือสัญญาขายที่ดิน คือ หนังสือสัญญาตามแบบที่ราชการกำหนด จดทะเบียนโดยเจ้าพนักงานที่ดิน ที่ยืนยันการซื้อขายจริง เสร็จสิ้น และมีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ให้เป็นของผู้ซื้อแล้ว

รายละเอียดสำคัญในสัญญาจะซื้อจะขายบ้าน มีอะไรบ้าง

โดยรายละเอียดในหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านโดยทั่วไป จะประกอบไปด้วยรายละเอียดเหล่านี้

ตัวอย่างสัญญาจะซื้อจะขายบ้าน

ตัวอย่างสัญญาจะซื้อจะขายบ้าน
ที่มารูปภาพ www.babform.com

1. วันที่ทำสัญญาจะซื้อจะขาย

ในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน จะต้องระบุวันที่เซ็นสัญญาในส่วนหัวของสัญญา เพื่อแสดงวันที่มีผลทางกฎหมาย 

2. รายละเอียดระหว่างคู่สัญญา

รายละเอียดระหว่างคู่สัญญา คือ ข้อมูลที่แสดงตัวตนของผู้จะซื้อและผู้จะขาย เพื่อกำกับว่าสัญญาจะซื้อจะขายบ้านทำขึ้นระหว่างผู้ใด 

โดยข้อมูลจะประกอบไปด้วย ชื่อ อายุ ที่อยู่  “ผู้จะซื้อ” หรือ “ผู้จะขาย” ตามรายละเอียดในบัตรประชาชนของทั้งสองฝ่าย และในสัญญาควรตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องทั้งหมด หากชื่อคู่สัญญาผิด อาจมีผลทำให้สัญญาเป็นโมฆะได้

3. รายละเอียดของอสังหาริมทรัพย์

สัญญาจะซื้อจะขาย จะต้องมีรายละเอียดสำคัญของอสังหาริมทรัพย์ เช่น เลขที่โฉนด ขนาดที่ดิน ชนิดสิ่งปลูกสร้าง เลขที่สิ่งปลูกสร้าง และเขตปกครองที่ที่ดินตั้งอยู่ (ตำบล อำเภอ จังหวัด)

4. ราคาซื้อขายและรายละเอียดการชำระเงิน

ในสัญญาต้องมีการกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่ตกลงซื้อขายอย่างชัดเจน ทั้งเป็นตัวเลขและตัวอักษร 

ถ้าในกรณีที่มีการวางมัดจำแล้ว จะต้องระบุว่าผู้ซื้อได้ชำระมาก่อนแล้วเป็นจำนวนกี่บาท ชำระด้วยวิธีใด ควรระบุเลขอ้างอิง ธนาคาร สาขา พร้อมวันที่ชำระ จะชำระอย่างไร ผ่อนงวดละเท่าไร และยังมีเหลือในส่วนที่จะชำระเพิ่มเติมอีกเท่าไรในวันโอนกรรมสิทธิ์ ณ สำนักงานที่ดิน ต้องระบุให้ชัดเจน 

5. ระยะเวลาของสัญญา และการกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์

ในสัญญาต้องมีการกำหนดระยะเวลา และการกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ภายในเวลาที่คู่สัญญากำหนด ตามที่เห็นสมควร 

6. รายละเอียดค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์

ในสัญญาต้องมีการกำหนดผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จากการโอนกรรมสิทธิ์ เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าภาษีเงินได้และอากร ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ(ถ้ามี) 

ตัวอย่าง กำหนดให้ผู้จะซื้อและผู้จะขายรับผิดชอบค่าธรรมเนียม ฝ่ายละครึ่ง หรือกำหนดให้ผู้จะขายรับผิดชอบค่าภาษีเงินได้และอากรแต่เพียงผู้เดียว เป็นต้น เพื่อป้องกันความขัดแย้งอันอาจจะเกิดขึ้นเมื่อทราบค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในวันโอนกรรมสิทธิ์

7. ความรับผิดกรณีผิดสัญญา 

ในสัญญาต้องกำหนดความรับผิดทั้งในส่วนของผู้จะซื้อหรือผู้จะขาย หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น เช่น กรณีผู้จะซื้อผิดสัญญา เปลี่ยนใจไม่ซื้อ หรือไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์ในวันตามที่ตกลงในสัญญา ให้ผู้จะขายยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขาย และริบเงินมัดจำที่วางไว้ได้ 

หรือกรณีผู้จะขาย ผิดสัญญาไม่โอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้จะซื้อในวันโอนกรรมสิทธิ์ ให้ผู้จะซื้อสามารถขอคืนเงินมัดจำได้และให้ฟ้องร้องให้ผู้จะขายมาดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญา และเรียกค่าเสียหายต่างๆจากผู้จะขายได้ 

8. ข้อตกลงและเงื่อนไขอื่นๆ 

ข้อตกลงต่างๆ ระหว่างผู้จะซื้อและผู้จะขายอาจเป็นได้หลายกรณี เช่น รายละเอียดการยกเลิกสัญญา การคืนเงินมัดจำ การรับประกันบ้าน สัญญาว่าจะสร้างถนนทางเข้า-ออก การจดภาระจำยอมทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะก่อนหรือภายหลังจากโอนกรรมสิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งจะระบุในส่วนท้ายของสัญญา เป็นรายละเอียดอีกส่วนที่ต้องใส่ใจว่าทั้งสองฝ่ายได้รับความเป็นธรรม

9. ส่วนลงชื่อคู่สัญญาและพยาน

ส่วนสุดท้ายของสัญญา คือ ส่วนลงชื่อรับทราบและยอมรับข้อตกลงการซื้อขายและเงื่อนไขอื่นๆ รับรองว่า สัญญาทำเป็นสองฉบับ โดยมีเนื้อหาเหมือนกันครบถ้วนสำหรับฝ่ายผู้ซื้อและฝ่ายผู้ขาย ซึ่งแต่ละฝ่ายจะต้องมีพยานในการรับทราบสัญญาฝ่ายละ 1 คน

สำหรับการเซ็นสัญญาจะซื้อจะขายบ้านหรือที่ดิน แม้ว่าส่วนลงชื่อจะอยู่ท้ายสัญญา ในกรณีที่สัญญามีจำนวนหน้ามากกว่าหนึ่งหน้า ควรเซ็นสัญญากำกับทุกหน้า

คำแนะนำก่อนทำและเซ็นสัญญาจะซื้อจะขายบ้าน

  1. ทำการตรวจสอบสภาพบ้านหรือที่ดินที่จะซื้อ 
  2. ผู้ซื้อแสดงตน หรือผู้ขายแสดงตนว่าเป็นบุคคลผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินจริง เป็นผู้ที่สามารถทำสัญญาได้ โดยตรวจสอบจากบัตรประชาชนของทั้งสองฝ่าย
  3. ตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วน ของข้อความในสัญญาจะซื้อจะขายเป็นไปตามข้อตกลงหรือไม่ ก่อนลงนาม

นอกจากนี้ ถ้าภายหลังการเซ็นสัญญาจะซื้อจะขายบ้าน คู่สัญญาผิดข้อตกลง เช่น ไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือตามงวดที่กำหนด หรือไม่สร้างถนนทางเข้าออกสำหรับพื้นที่ปิด คู่สัญญาก็สามารถนำสัญญาไปฟ้องร้องคู่สัญญาอีกฝ่ายและเรียกร้องค่าเสียหายได้เช่นกัน

ทำอย่างไรเมื่อเกิดการผิดสัญญาจะซื้อจะขาย

เมื่อเกิดการผิดสัญญาจะซื้อจะขายบ้าน ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายควรดำเนินการอย่างรอบคอบและเป็นขั้นตอน เริ่มจากการตรวจสอบเงื่อนไขในสัญญาอย่างละเอียด โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการผิดสัญญาและบทลงโทษ จากนั้นควรพยายามเจรจากับอีกฝ่ายเพื่อหาทางออกร่วมกัน หากไม่สามารถตกลงกันได้ ฝ่ายที่เสียหายอาจส่งหนังสือแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการ และหากยังไม่ได้รับการแก้ไข อาจพิจารณายกเลิกสัญญาหรือเรียกร้องค่าเสียหายตามที่ระบุไว้ในสัญญา 

ในกรณีที่สถานการณ์ซับซ้อน ควรปรึกษาทนายความเพื่อขอคำแนะนำทางกฎหมาย และอาจพิจารณาใช้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนอกศาลก่อนที่จะดำเนินการฟ้องร้องทางกฎหมาย ซึ่งควรเป็นทางเลือกสุดท้ายเนื่องจากอาจใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง ตลอดกระบวนการ ควรเก็บบันทึกการติดต่อสื่อสารทั้งหมดเป็นหลักฐาน และประเมินผลกระทบทั้งด้านการเงินและกฎหมายอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจดำเนินการใด ๆ โดยพยายามหาทางออกที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจยืดเยื้อ

สรุป หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน (ท.ด. 13)

สัญญาซื้อขายบ้าน มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “หนังสือสัญญาขายที่ดิน” (ท.ด. 13) ทำขึ้นเพื่อให้การซื้อขายบ้านและที่ดินมีผลตามกฎหมาย ยืนยันว่ากรรมสิทธิ์เป็นของผู้ซื้อโดยสมบูรณ์ เมื่อผู้ซื้อผู้ขายลงนามหนังสือสัญญาขายที่ดิน (ท.ด.13) และผู้ซื้อมีการชำระราคาทรัพย์สินให้แก่ผู้ขายครบถ้วน คู่สัญญาชำระค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ครบถ้วน เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนขาย ในขั้นตอนสุดท้าย หนังสือสัญญาขายที่ดิน (ท.ด.13) เก็บไว้ ณ สำนักงานที่ดิน 1 ฉบับ มอบให้ผู้ซื้อ 1 ฉบับ

การซื้อขายบ้านเป็นเรื่องใหญ่และมีรายละเอียดขั้นตอนมากมายที่ต้องทำความเข้าใจ แม้สัญญาอาจจะดูเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่หากมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเข้ามา “สัญญา” คือสิ่งที่จะช่วยไม่ให้คุณเสียเปรียบ

แนะนำสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยจาก ธอส.

หากคุณกำลังมองหาสินเชื่อสำหรับการซื้อที่อยู่อาศัย ธนาคารอาคารสงเคราะห์มีรายละเอียดข้อเสนอสินเชื่อบ้าน มานำเสนอให้กับคุณ!

โดยเรามีสินเชื่อที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และปานกลาง หรือกลุ่มผู้มีรายได้สูง ก็มีผลิตภัณฑ์หลากหลายที่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสม

หากคุณสนใจขอสินเชื่อบ้านจาก ธอส. สามารถทำการกรอกข้อมูล เพื่อขอคำแนะนำด้านสินเชื่อ และให้เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับ >>> ได้ที่นี่

เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ที่คอยให้คำแนะนำ พร้อมเปรียบเทียบและยื่นข้อเสนอด้านสินเชื่อที่ดีที่สุดให้กับคุณ ติดต่อเราได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาใกล้บ้านคุณ หรือ

ติดต่อศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์: 02 645 9000

คำถามที่พบบ่อย

หนังสือซื้อขายบ้านมีระยะเวลากี่วัน

หนึ่งในคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสัญญาจะซื้อจะขายบ้านคือ “มีระยะเวลากี่วัน?” คำตอบคือ ไม่มีระยะเวลาตายตัว ระยะเวลาของสัญญาจะซื้อจะขายบ้านสามารถกำหนดได้ตามที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกัน โดยทั่วไปมักมีระยะเวลาดังนี้

  • สัญญาระยะสั้น 30-90 วัน เหมาะสำหรับกรณีที่ผู้ซื้อมีเงินพร้อมหรือได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว ใช้สำหรับบ้านมือสองหรือบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว
  • สัญญาระยะกลาง: 3-6 เดือน เหมาะสำหรับผู้ซื้อที่ต้องการเวลาในการจัดหาเงินทุนหรือขายทรัพย์สินเดิม ใช้กับบ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและใกล้เสร็จสมบูรณ์

สัญญาระยะยาว: 6-24 เดือน หรือมากกว่ามักใช้กับโครงการบ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ให้เวลาผู้ซื้อในการทยอยผ่อนชำระเงินดาวน์

ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินได้ที่ไหน

สถานที่ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ได้แก่ สำนักงานที่ดิน เพราะสำนักงานที่ดินเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำที่สามารถตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ได้ทันที พร้อมด้วยแบบฟอร์มสัญญามาตรฐานให้ใช้ และสามารถจดทะเบียนนิติกรรมได้ในคราวเดียวกัน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
-

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณ
อาจสนใจ

รวมทุกวิธีรีไฟแนนซ์บ้าน ดอกเบี้ยต่ำจาก ธอส. พร้อม 5 สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยพิเศษ เริ่มต้น 1.79% ผ่อนเบาสบายเพียง 3,000 บาท/เดือน
รวมข้อมูลสำคัญที่ต้องรู้ก่อนตัดสินใจ ซื้อคอนโดดีไหม หรือซื้อบ้านดีไหม พร้อมเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียแบบละเอียด เพื่อให้เลือกได้ตรงใจ
รวมโครงการบ้าน 2568 และคอนโดใหม่ 2568 ทำเลศักยภาพ น่าลงทุน พร้อมรายละเอียดโครงการและราคาเริ่มต้น ครบจบในที่เดียว

ติดตามข่าวสารจาก GH BANK

อัปเดตทุก
เรื่องบ้าน

อัพเดตเรื่องบ้านก่อนใคร รู้ก่อนได้เปรียบ

ติดตามข่าวสารจาก GH BANK

อัปเดตทุก
เรื่องบ้าน

อัพเดตเรื่องบ้านก่อนใคร รู้ก่อนได้เปรียบ

ติดตามข่าวสารจาก GH BANK

อัปเดตทุก เรื่องบ้าน

อัพเดตเรื่องบ้านก่อนใคร รู้ก่อนได้เปรียบ

ค้นหาตาม Keyword เช่น การเงิน, การลงทุน, สินเชื่อ, บ้าน