การกู้สินเชื่อบ้านเป็นหนทางที่ช่วยให้คนสามารถเป็นเจ้าของบ้านได้จริง ถึงแม้ว่าจะขาดกำลังเรื่องเงิน โดยธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อให้ จะรับเอาบ้านหรือสินทรัพย์ที่จะซื้อหรือจะสร้างไว้เป็นหลักประกัน และคิดดอกเบี้ยในการกู้ยืมในอัตราที่ต่ำและสามารถผ่อนชำระได้ยาวนานถึงกว่า 30 ปี
เมื่อคิดจะมีบ้าน หลายคนจึงเลือกที่จะปรึกษาสินเชื่อบ้านกับธนาคารว่า จะต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อที่จะได้รับสินเชื่อมาสานฝันให้เป็นจริง
ในบทความนี้ จะแนะนำสิ่งที่คุณสามารถเตรียมตัวก่อนได้ และแนะนำสิ่งที่ควรสอบถามหรือปรึกษาสินเชื่อบ้านกับธนาคาร เพื่อให้คุณไม่พลาดและขยับเข้าใกล้ความฝันของการมีบ้านได้เร็วข้ึนอีกก้าวหนึ่ง
3 ขั้นตอนในการปรึกษาสินเชื่อบ้านกับธนาคาร
1. เตรียมตัวก่อนปรึกษาสินเชื่อบ้าน
ในขั้นตอนแรก ขอแนะนำให้คุณเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมในส่วนที่คุณสามารถทำได้ก่อนอย่างมั่นใจ โดยไม่จำเป็นต้องขอคำปรึกษากับธนาคารให้เสียเวลา โดยสิ่งที่คุณสามารถ/ควรเตรียมตัวก่อนมี 4 ข้อด้วยกัน
1.1) รู้จักประเภทของสินเชื่อเบื้องต้นและเข้าใจจุดประสงค์ในการกู้
“สินเชื่อบ้าน” หรือ “สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย” หมายถึง เงินกู้ที่ธนาคารปล่อยให้กับผู้ขอสินเชื่อเพื่อการอยู่อาศัย ซึ่งโครงการสินเชื่อแต่ละโครงการจะมีจุดประสงค์ระบุไว้แตกต่างกันออกไป ไม่สามารถขอสินเชื่อบ้านได้ทุกสินเชื่อ โดยจุดประสงค์หลัก ๆ จะแบ่งได้หลากหลาย เช่น
- เพื่อซื้อบ้าน (บ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม ทาวน์เฮาส์/ทาวน์โฮม อาคารพาณิชย์ ฯลฯ)
- เพื่อซื้อบ้านและที่ดิน
- เพื่อก่อสร้างบ้านใหม่
- เพื่อซ่อมแซมและต่อเติม
- เพื่อซื้อบ้านมือสอง
โดยก่อนที่คุณจะติดต่อธนาคารเพื่อขอปรึกษาสินเชื่อบ้าน คุณควรสามารถตอบให้ได้ว่า คุณต้องการใช้เงินกู้ไปเพื่อจุดประสงค์อะไร เพื่อซื้อ เพื่อสร้าง หรือเพื่อต่อเติม เป็นต้น เพื่อที่ว่าเจ้าหน้าที่จะได้ให้คำปรึกษาแก่คุณได้ถูกจุด หรือคุณสามารถศึกษารายละเอียดของสินเชื่อที่สนใจได้ถูกต้อง
อ่านเพิ่มเติม: เข้าใจ 10 คำศัพท์ต้องเข้าใจเกี่ยวกับสินเชื่อบ้านได้ในบทความนี้
1.2) กำหนดงบประมาณก่อสร้าง/วงเงินที่ต้องการ
หากคุณมีความต้องการขอสินเชื่อบ้าน แน่นอนว่าคุณกำลังต้องการสร้างหรือซื้อบ้านอยู่แน่ ๆ สำหรับในขั้นตอนนี้ คุณสามารถประมาณการคร่าว ๆ ถึงวงเงินที่คุณต้องการสำหรับซื้อหรือก่อสร้างบ้านไว้ เพื่อที่จะได้นำไปปรึกษาและสอบถามกับธนาคารว่าสามารถให้วงเงินสูงสุดกับคุณได้เท่าไร ทั้งนี้ การตั้งงบประมาณสำหรับบ้านใหม่ควรมาพร้อมกับการสำรวจความพร้อมในการขอสินเชื่อในข้อต่อไปด้วย เพื่อให้งบประมาณของคุณใกล้เคียงกับสิ่งที่ธนาคารน่าจะอนุมัติให้คุณได้ที่สุด
1.3) สำรวจความพร้อมในการกู้สินเชื่อ
ขั้นตอนการสำรวจความพร้อมหรือความสามารถในการกู้ คือ ขั้นตอนที่สำคัญมากๆ คุณสามารถคำนวณได้ว่า ธนาคารน่าจะให้วงเงินสินเชื่อบ้านแก่คุณได้สูงสุดประมาณเท่าไร เพื่อคุณจะได้วาง/ปรับแผนการก่อสร้างหรือซื้อบ้านของคุณ โดยสิ่งที่คุณสามารถตรวจสอบได้ก่อน มี 3 เรื่องด้วยกัน
- วงเงินที่สามารถกู้ได้
วิธีการคำนวณเพื่อหาวงเงินที่สามารถกู้ได้ คือ ให้นำรายได้ต่อเดือนของคุณมาลบด้วยค่าใช้จ่ายรายเดือนจากนั้นให้หาความสามารถในการผ่อนต่อเดือน (ธนาคารระบุไว้ที่ 40% ของรายได้ต่อเดือนหลังจากหักค่าใช้จ่าย) ตามสูตร ดังนี้
(รายได้ต่อเดือน – ค่าใช้จ่ายรายเดือน) x อัตราความสามารถในการผ่อนต่อเดือน
จากนั้น ให้คูณด้วย 150 คุณก็จะได้ วงเงินสูงสุดที่ธนาคารสามารถให้คุณได้จากการพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระของคุณ
ยกตัวอย่างเช่น คุณมีรายได้ 20,000 บาท มีค่าใช้จ่าย 4,000 บาทต่อเดือน แทนสูตรได้ ดังนี้
ความสามามารถในการผ่อนชำระต่อเดือน: (20,000 – 4,000) x 40% = 6,400 บาท
วงเงินที่ธนาคารสามารถอนุมัติให้ได้สูงสุด: 6,400 x 150 = 960,000 บาท*
เท่านี้คุณก็จะได้วงเงินสูงสุดโดนประมาณการแล้ว
อ่านเพิ่มเติม: ศึกษาวิธีคำนวณวงเงินกู้บ้านเพิ่มเติมในบทความนี้
*หมายเหตุ: วงเงินสูงสุดที่คำนวณในตัวอย่างเป็นเพียงการพิจารณาจากความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งโครงการสินเชื่อแต่ละโครงการของแต่ละธนาคารอาจมีเงื่อนไขและวิธีการพิจารณาที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงมีการพิจารณาราคาของสินทรัพย์ที่นำมาจำนอง (บ้านที่จะซื้อ) อีกด้วย
- ค่างวดที่ต้องชำระต่อเดือนจากวงเงินและอัตราดอกเบี้ย
คุณสามารถคำนวณหาค่างวดที่ต้องชำระต่อเดือนได้จากวงเงินสูงสุดที่สามารถขอได้ โดยคำนวณกับระยะเวลาในการผ่อนชำระและอัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ย ได้ผ่านเครื่องมือคำนวณสินเชื่อบ้านของ ธอส. เครื่องมือนี้
ยกตัวอย่างเช่น กู้วงเงิน 2,000,000 บาท โดยผ่อนชำระ 30 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5.5% = ต้องผ่อนชำระงวดละ 12,700 บาท
จากตัวอย่างนี้ ลองคิดว่า ถ้าบ้านที่คุณต้องการซื้อราคา 2,000,000 บาท และคุณสมบัติของคุณสามารถขอวงเงินได้เต็มจำนวน 100% จากรายได้ของคุณ คุณผ่อนบ้านเดือนละ 12,700 บาท ไหวหรือไม่ (เงินที่ผ่อนไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน)
- ตรวจเครดิตบูโร
ควรตรวจประวัติการชำระหนี้ของคุณกับ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร (NCB: National Credit Bureau) เพื่อดูว่าเครดิตของคุณมีปัญหาอะไรหรือไม่ เช่น ค้างชำระ ติดแบล็คลิสต์ ประวัติชำระไม่ตรงเวลา ถ้าหากมีประวัติข้างต้น ธนาคารอาจไม่อนุมัติสินเชื่อให้คุณ
และคุณควรเริ่มต้นแก้ไขประวัติเครดิตไม่ดีหรือติดแบล็กลิสต์ รักษาวินัยในการชำระหนี้ต่างๆ ให้ตรงเวลา รวมถึง เตรียมตัวพร้อมสำหรับชี้แจงและขอคำปรึกษาสินเชื่อบ้านกับธนาคาร
1.4) การเตรียมตัวอื่น ๆ ที่สามารถทำได้ทันที
ตั้งแต่ที่คุณมีความคิดอยากซื้อบ้านหรือสร้างบ้านก็มีสิ่งที่คุณสามารถเริ่มต้นทำได้ทันที โดยที่ไม่จำเป็นต้องปรึกษาธนาคารหรือนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เช่น
- ออมเงินตั้งแต่ 5% – 20% ของราคาบ้าน เพื่อเป็นค่าดาวน์บ้านหรือสำรองไว้หากไม่ได้รับวงเงินเต็มจำนวน หรือออมเงินตั้งแต่ 20% ขึ้นไปสำหรับกรณีขอสินเชื่อเพื่อก่อสร้างบ้านใหม่ (ซึ่งต้องมีเงินก้อนแรกในการวางรากฐานอาคารก่อน ธนาคารจึงจะพิจารณาให้สินเชื่อ)
- เตรียมรายการเดินบัญชี (Statement) ก่อนขอสินเชื่อ 6 เดือน – 1 ปี ให้มีรายรับตลอด และรายรับที่ควรมากกว่าจำนวนเงินที่ต้องผ่อนต่องวด เพราะรายการเดินบัญชีคือสิ่งที่ธนาคารจะใช้พิจารณาความน่าเชื่อถือทางการเงินของผู้กู้
- ลดภาระหนี้สินอื่น ๆ หรือปิดสินเชื่อประเภทอื่นให้หมด เพื่อที่ความสามารถในการผ่อนต่องวดของคุณจะได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถได้วงเงินอนุมัติสูงขึ้นได้อีก อีกทั้ง ยังช่วยให้ธนาคารมั่นใจว่าคุณมีศักยภาพในการผ่อนชำระหนี้
2. ปรึกษาสินเชื่อบ้านเพื่อพิจารณาเลือกธนาคาร
สำหรับขั้นตอนนี้ จะเป็นขั้นตอนที่คุณจะได้ศึกษาสินเชื่อและเงื่อนไขต่างๆ จากธนาคารแต่ละแห่งเพื่อเปรียบเทียบว่า คุณจะเลือกขอสินเชื่อบ้านกับธนาคารไหน โดยเกณฑ์ที่แนะนำให้คุณปรึกษาสินเชื่อบ้านกับธนาคารเพื่อพิจารณาก็มี 3 เรื่องด้วยกัน ดังนี้
2.1) อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่เท่าไหร่ มีวิธีคิดอย่างไร
หาข้อมูลหรือปรึกษาอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อและวิธีคิดอัตราดอกเบี้ยเป็นอย่างไร โดยอัตราดอกเบี้ยอาจมีทั้ง
- อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed rate loan) ซึ่งไม่ปรับตัวตามสภาวะตลาดการเงิน เท่าไรเท่านั้น
- อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating rate loan) ซึ่งปรับตัวและมีความผันผวนตามตลาดการเงินขึ้นกับ MRR เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคาร หรือในแต่ละปีจะคิดอัตราดอกเบี้ยทั้งสองแบบผสมกัน เช่น คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปี แรก และคิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในปีถัดไป เป็นต้น
ทั้งนี้ สิ่งที่คุณควรถาม คือ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 – 5 ปี (เพราะเป็นระยะเวลาที่สามารถรีไฟแนนซ์บ้านได้) ว่าดอกเบี้ยของธนาคารไหนดอกเบี้ยต่ำกว่า
ยกตัวอย่างเช่น ธนาคาร A มีอัตราดอกเบี้ย 3 ปี คือ 6.5 + 7 + 7.5 = 7% ส่วนธนาคาร B มีอัตราดอกเบี้ย 3 ปี คือ 7.5 + 5 + 6.5 = 6.3% จะเห็นได้ว่า ธนาคาร B ให้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า
2.2) วงเงินที่สามารถอนุมัติให้ได้และระยะเวลาชำระ
แต่ละธนาคารมีเกณฑ์ในการพิจารณาให้วงเงินที่แตกต่างกันไป ซึ่งเป็นเรื่องที่คุณสามารถปรึกษาและต่อรองขอวงเงินที่สูงขึ้นไปได้ ดูว่าธนาคารใดสามารถให้วงเงินได้มากกว่า นอกจากนี้ วงเงินที่ได้ยังขึ้นอยู่กับคุณสมบัติและประเภทสินเชื่อของธนาคารด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ธนาคาร A ให้วงเงินสินเชื่อแก่ข้าราชการได้ 100% แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท ในขณะที่ ธนาคาร B ออกสินเชื่อสำหรับคู่รักโดยให้วงเงินได้ 95% แต่ไม่เกิน 4,000,000 บาท ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับราคาทรัพย์ที่ต้องการด้วย
และนอกจากวงเงินสินเชื่อบ้านที่จะได้ที่ควรนำมาพิจารณาเลือกธนาคารแล้ว ระยะเวลาในการผ่อนชำระ ก็เป็นอีกเรื่องที่ควรนำมาคิด เพราะยิ่งธนาคารให้ระยะเวลาในการผ่อนชำระนานเท่าไร จำนวนเงินผ่อนต่องวดก็จะลดลง
ลองปรับจำนวนปีในการผ่อนชำระเพื่อหาค่างวดที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อบ้าน
2.3) เงื่อนไขในการอนุมัติและคุณสมบัติของผู้กู้
สินเชื่อแต่ละโครงการจากแต่ละธนาคารมีเงื่อนไขในการอนุมัติสินเชื่อที่แตกต่างกัน โดยสินเชื่อก็คือผลิตภัณฑ์ทางการเงินหนึ่งชนิดที่ออกแบบมาเพื่อกลุ่มเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่เฉพาะตัว
โดยทั่วไปธนาคารจะพิจารณาคุณสมบัติจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น อาชีพ ฐานเงินเดือน หลักประกัน และรายการเดินบัญชี อย่างไรก็ตาม สินเชื่อบ้านบางโครงการก็เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ขอสินเชื่อบางกลุ่ม เช่น สินเชื่อที่ออกมาเพื่อพนักงานฟรีแลนซ์โดยเฉพาะ สินเชื่อสำหรับพยาบาล เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อปรึกษาสินเชื่อบ้านกับธนาคารต่างๆ จึงควรสอบถามถึงสิทธิประโยชน์หรือข้อจำกัดต่างๆ ของตัวผู้กู้เองว่า สินเชื่อของธนาคารไหนจะช่วยเหลือเราได้มากที่สุด ก่อนตัดสินใจเลือกสินเชื่อจากธนาคารนั้น
ทั้งนี้ จะเห็นว่าปัจจัยที่เราสามารถเตรียมพร้อมได้ก่อน เช่น การออมเงินและการเดินรายการบัญชี จะช่วยแสดงความมั่นคงและศักยภาพในการชำระหนี้ของผู้กู้ได้ ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารไว้วางใจและอนุมัติผ่านได้ง่ายขึ้นด้วย
3. ปรึกษาธนาคารเพื่อขออนุมัติสินเชื่อ
หลังจากที่คุณปรึกษาสินเชื่อบ้านกับธนาคารต่างๆ แล้วพิจารณาได้แล้วว่าจะเลือกสินเชื่อจากธนาคารใด ในขั้นตอนนี้ ไม่มีอะไรยาก เพียงแค่คุณขอความช่วยเหลือหรือปรึกษาเรื่องการเตรียมตัวและการดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามที่ธนาคารกำหนดเท่านั้น
3.1) การเตรียมเอกสารขอสินเชื่อบ้าน
เอกสารสำหรับยื่นขอสินเชื่อบ้านจะประกอบไปด้วยเอกสาร 3 ประเภท ด้วยกัน ได้แก่
- เอกสารส่วนบุคคล เช่น บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนสมรส / ใบหย่า สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ – สกุล (ถ้ามี) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนคู่สมรส (ถ้ามี)
- เอกสารทางการเงิน เช่น ใบรับรองเงินเดือน สลิปเงินเดือนหรือหลักฐานการรับเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน ซึ่งแต่ละอาชีพอาจขอเอกสารแตกต่างกันไป เป็นต้น
- เอกสารหลักประกัน เช่น หลักฐานการเป็นเจ้าของอาคาร สำเนาโฉนดที่ดิน ใบอนุญาตปลูกสร้าง ใบแปลน เป็นต้น
ทั้งนี้ สินเชื่อแต่ละประเภท คนละวัตถุประสงค์ และอาชีพของผู้ขอสินเชื่อที่แตกต่างกัน ธนาคารอาจขอเอกสารมากน้อยไม่เท่ากันเพื่อเพิ่มหลักฐานในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ จะต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีเงินได้ รูปถ่ายกิจการ สำเนาใบประกอบวิชาชีพ หรือทั้งหมด เป็นต้น
3.2) การดำเนินยื่นเรื่องขอสินเชื่อ
สำหรับข้อนี้เป็นไปตามธนาคารกำหนด ซึ่งคุณสามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ธนาคารได้เลยโดยขั้นตอนที่เหลือมักจะเป็นส่วนของธนาคาร เช่น ธนาคารประเมินราคาทรัพย์ หรือเดินทางไปยังโครงการเพื่อยืนยันว่าจะมีการสร้างบ้าน (ใช้สินเชื่อตามวัตถุประสงค์) จริง และทำการอนุมัติและตกลงให้สินเชื่อเป็นงวดๆ ในกรณีที่เป็นการกู้เพื่อสร้างบ้าน เป็นต้น
สรุปขั้นตอนในการปรึกษาสินเชื่อบ้าน
การปรึกษาสินเชื่อบ้านกับธนาคารเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อที่คุณจะสามารถเลือกธนาคารที่สามารถช่วยเหลือให้คุณมีบ้านได้จริงมากที่สุดและทำให้การยื่นขอสินเชื่อของคุณราบรื่น
ซึ่งนอกเหนือจากสิ่งคุณจะปรึกษาธนาคารแล้ว ก็มีบางสิ่งที่คุณสามารถเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการมีบ้านได้เลยตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการออมเงิน การลดภาระหนี้สินอื่นๆ รวมถึงการเดินบัญชีให้มีรายรับเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกก้าวสำคัญที่คุณสามารถควบคุมได้ด้วยตัวของคุณเอง
แนะนำสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยจาก ธอส.
หากคุณกำลังมองหาสินเชื่อสำหรับการซื้อที่อยู่อาศัย ธนาคารอาคารสงเคราะห์มีรายละเอียดข้อเสนอสินเชื่อบ้านและคอนโดดีๆ มานำเสนอให้กับคุณ!
เรามีสินเชื่อสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และปานกลาง หรือกลุ่มผู้มีรายได้สูง ก็มีผลิตภัณฑ์หลากหลายที่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสม
หากคุณสนใจขอสินเชื่อบ้านจาก ธอส. สามารถทำการกรอกข้อมูล เพื่อขอคำแนะนำด้านสินเชื่อ และให้เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับ >>> ได้ที่นี่
เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ที่คอยให้คำแนะนำ พร้อมเปรียบเทียบและยื่นข้อเสนอด้านสินเชื่อที่ดีที่สุดให้กับคุณ ติดต่อเราได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาใกล้บ้านคุณ หรือ
ติดต่อศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์: 02 645 9000