Reverse Mortgage หรือสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกน่าสนใจในการสร้างหลักประกันความมั่นคงหลังชีวิตเกษียณ นอกเหนือจากเงินบำเหน็จและบำนาญแล้ว การมีสินเชื่อผู้สูงอายุหรือสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินได้ไม่น้อยเช่นกัน หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังสนใจเรื่องนี้ ลองมาศึกษาทำความเข้าใจเบื้องต้น เพื่อเตรียมพร้อมในวันเกษียณงานข้างหน้า
Reverse Mortgage คืออะไร ทำไมควรกู้
Reverse Mortgage หรือสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ คือ สินเชื่อที่อยู่อาศัยรูปแบบหนึ่งสำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่ 60-80 ปี รูปแบบการให้สินเชื่อจะเป็นแบบย้อนกลับ กล่าวคือผู้กู้นำบ้านที่อยู่อาศัยจำนองไว้กับธนาคารที่ยื่นกู้ ธนาคารจะจ่ายเงินเข้าบัญชีผู้กู้ทุกเดือน เมื่อครบกำหนดจ่ายเงินทุกงวดแล้ว ผู้กู้ยังสามารถอยู่อาศัยต่อในหลักประกันได้จนกว่าจะเสียชีวิต ซึ่งในระหว่างการรับเงินรายเดือน หรือเมื่อรับเงินครบจำนวนตามสัญญากู้เงิน ผู้กู้สามารถชำระหนี้ปิดบัญชีไถ่ถอนจำนอง เพียงชำระเงินต้น ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม อาจเรียกได้ว่าธนาคารเป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายดำรงชีพรายเดือนให้แก่ผู้กู้ โดยมีบ้านที่อยู่อาศัยเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันนั่นเอง
ธนาคารจะให้กู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท ต่อราย / ระยะเวลาการกู้อย่างน้อย 6 เดือน และสูงสุดไม่เกิน 25 ปี โดยอายุผู้กู้รวมกับระยะเวลาขอกู้ต้องไม่เกิน 85 ปี
การยื่นกู้โดยใช้ที่ดินพร้อมอาคาร (บ้าน) ค้ำประกัน
- ให้กู้ไม่เกินร้อยละ 50 ของราคาประเมินที่ดินและอาคาร
การยื่นกู้โดยใช้ห้องชุดค้ำประกัน
- ให้กู้ไม่เกินร้อยละ 30 ของราคาประเมินห้องชุด
Reverse Mortgage แตกต่างจากสินเชื่อทั่วไปอย่างไร
เพื่อเป็นแนวทางในการเปรียบเทียบและตัดสินใจให้ชัดเจนขึ้นว่าเงื่อนไขของสินเชื่อประเภทนี้ตอบโจทย์เราหรือไม่ โดยทั่วไปแล้ว สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุและสินเชื่อทั่วไปมีข้อแตกต่าง ดังนี้
รูปแบบการผ่อนชำระ
Reverse Mortgage หรือสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุมีรูปแบบสินเชื่อแบบย้อนกลับ ผู้ยื่นกู้นำบ้านที่อยู่อาศัยที่ตนเองมีกรรมสิทธิ์ (ปลอดภาระจำนอง) มาเป็นหลักประกัน ผู้กู้ไม่ต้องผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นประจำทุกเดือน เพราะธนาคารที่เราทำเรื่องยื่นกู้จะเป็นผู้จ่ายเงินให้ผู้กู้ตามกำหนดทุกงวด ในขณะที่
ผู้กู้สินเชื่อประเภทอื่นต้องส่งเงินและดอกเบี้ยจ่ายให้แก่ธนาคารทุกงวดตามกำหนดกรรมสิทธิ์บ้าน
กรรมสิทธิ์บ้าน
ในกรณียื่นกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เมื่อได้รับเงินจากธนาคารครบทุกงวดแล้ว ผู้กู้ยังสามารถอยู่อาศัยได้จนกว่าจะเสียชีวิต หลังจากนั้นบ้านจะตกเป็นของธนาคาร ส่วนผู้กู้สินเชื่อทั่วไปบ้านจะเป็นของผู้กู้หลังจากชำระเงินครบกำหนดแล้ว
ทั้งนี้ ผู้กู้หรือทายาทสามารถปิดบัญชีหรือไถ่ถอนจำนองคืนได้ โดยชำระเงินต้นรวมกับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม หรือหากผู้กู้ / ผู้รับผลประโยชน์(กรณีที่ผู้กู้เสียชีวิตแล้ว)ไม่ประสงค์ขอชำระหนี้ปิดบัญชีไถ่ถอนจำนอง ธนาคารจะนำหลักประกันขายทอดตลาด หากมีเงินส่วนต่างสูงกว่ายอดไถ่ถอน ธนาคารจะคืนให้ ผู้กู้หรือผู้รับผลประโยชน์ หากขายทอดตลาดต่ำกว่ายอดชำระหนี้เพื่อขอไถ่ถอนจำนอง ธนาคารจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าส่วนต่างและค่าใช้จ่ายจากการดำเนินการต่าง ๆ เอง
อายุผู้ยื่นกู้
ผู้ยื่นกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุต้องอยู่ระหว่างอายุ 60-80 ปี ต่างจากผู้ยื่นกู้สินเชื่อประเภทอื่นต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปี
Reverse Mortgage สำคัญต่อวัยเกษียณอย่างไร
เหตุผลที่คุณและคนที่มองหาหลักประกันความมั่นคงชีวิตหลังวัยเกษียณต้องยื่นกู้ Reverse Mortgage หรือสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ มีดังนี้
- เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ
- เหมาะกับผู้สูงอายุหรือคนวัยเกษียณที่ไม่ได้รับเงินบำนาญ บำเหน็จ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในวัยชรา หรือมีไม่เพียงพอ
- เสริมสภาพคล่องทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น
- มีหลักประกันว่าจะมีรายได้ประจำในแต่ละเดือน
- นำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หมุนชำระภาระหนี้สินต่าง ๆ
- เงินที่ได้จากธนาคารทุกเดือนแบ่งออกมาเก็บเป็นเงินสำรองได้อีก
- ยังอยู่อาศัยในบ้านได้ตลอดอายุขัยของผู้กู้
Reverse Mortgage สมัครอย่างไร ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
ผู้ที่ต้องการทำเรื่องยื่นกู้ Reverse Mortgage หรือสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุควรศึกษาคุณสมบัติและเตรียมเอกสารต่าง ๆ ดังนี้
คุณสมบัติผู้สมัคร Reverse Mortgage
- ผู้มีสัญชาติไทย อายุ ตั้งแต่ 60 ปี แต่ไม่เกิน 80 ปี
- มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยที่ปลอดภาระจำนองใด ๆ
- ไม่เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
- หากจะขอยื่นกู้ร่วม กระทำได้เฉพาะกับคู่สมรสตามกฎหมายหรือพี่น้องร่วมสายเลือดที่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านที่จะนำมาค้ำประกันเท่านั้น
เอกสารยื่นสมัคร Reverse Mortgage
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ทะเบียนบ้าน
- สำเนาทะเบียนสมรส/สำเนาใบหย่า
- สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี)
- สำเนาโฉนดที่ดิน/น.ส. 3ก./หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด (อช. 2)
- สำเนาใบคำขอ/เลขหมายบ้าน/สำเนาสัญญาซื้อขายฉบับสำนักงานที่ดิน (ทด. 13 หรือ อ.ช. 23) หรือหลักฐานการเป็นเจ้าของบ้านอื่น ๆ
- ทะเบียนบ้านที่จะใช้เป็นหลักประกัน โดยต้องมีชื่อผู้ยื่นกู้แสดงสถานะเป็น “เจ้าบ้าน” หรือ “ผู้อาศัย”
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนคงเริ่มสนใจและลิสต์ Reverse Mortgage หรือสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุไว้ในตัวเลือกของการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางการเงินในวัยเกษียณ หากคุณอยากศึกษาเพิ่มเติมหรือมองหาสถาบันการเงินสำหรับทำเรื่องยื่นกู้อยู่นั้น ลองมาดูรายละเอียดสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุของธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ที่นี่ รวมทั้งติดตามอ่านบทความสาระดี ๆ จาก GH Bank ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินเชื่อบ้าน การเริ่มต้นมีบ้าน และการเงินน่ารู้อื่น ๆ ได้ที่บล็อกของ GH Bank