สำหรับคนอยากสร้างบ้านแต่ไม่มีเงิน จริงๆแล้วการสร้างบ้านหลังหนึ่งสมัยนี้ไม่จำเป็นต้องรอให้มีเงินเท่ามูลค่าของบ้าน
สำหรับบางคนแล้ว เมื่อต้องการมีบ้านซึ่งเป็นสถานที่ที่จะได้อยู่อาศัยไปอีกนาน หลายคนจึงอยาก ‘เลือก’ ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นทำเล สภาพแวดล้อม และสไตล์บ้าน เพื่อให้ภาพบ้านในฝันเป็นจริง แต่ความใฝ่ฝันทั้งหมดนั้นจะเป็นจริงไม่ได้ถ้าหากมีกำลังเงินไม่เพียงพอ ซึ่งนั่นอาจหมายถึง อยากสร้างบ้านแต่ไม่มีเงินออมไว้สำหรับการสร้างบ้านมาก่อนเลย
โชคดีที่การสร้างบ้านหลังหนึ่งสมัยนี้ไม่จำเป็นต้องรอให้มีเงินเท่ามูลค่าของบ้าน เพราะสถาบันการเงินหลายแห่งก็มีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้กู้ เพื่อให้ความฝันของเราเป็นจริงเร็วยิ่งขึ้น และไม่เสียโอกาสจากค่าวัสดุก่อสร้างในปัจจุบันที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นทุกปี สินเชื่อบ้านจึงถือเป็นทางออกที่ดีสำหรับคนที่อยากมีบ้านแต่ไม่มีเงินเพียงพอ แต่อาจจะมีที่ดินของตัวเองอยู่แล้ว ทางเลือกนี้ ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด เพียง 3 ขั้นตอนต่อไปนี้ก็สามารถทำให้คุณสร้างบ้านได้อย่างใจ
3 ขั้นตอนง่ายๆ สำหรับคนอยากสร้างบ้านแต่ไม่มีเงิน
1. ตรวจสอบสภาวะการเงินและประเมินวงเงินที่สามารถกู้ได้
ขั้นตอนแรกสู่บ้านในฝัน คือ การตรวจสอบความพร้อมสถาวะการเงินของคุณและประเมินว่าคุณสามารถกู้สินเชื่อได้ในวงเงินเท่าไร แม้ว่าในการเริ่มต้นสร้างบ้านอาจจะไม่ต้องมีเงินสดมากมาย แต่ถ้าหากคุณยังมีหนี้สินอื่นๆ ที่ต้องผ่อนอยู่ การขอสินเชื่อก็จะเป็นไปได้ยากขึ้นและคุณจะมีภาระผ่อนต่อเดือนมากจนเกินไป อีกทั้ง ถ้าหากไม่มีเงินต้นสำหรับการก่อสร้างครั้งแรก การดำเนินงานจะเป็นไปได้ลำบากขึ้น
ตรวจสอบความสามารถในการกู้
การตรวจสอบความพร้อมทางการเงินมีความสำคัญช่วยให้คุณทราบว่าคุณมีความสามารถในการผ่อนได้มากเท่าไรขึ้นอยู่กับอาชีพและความมั่นคงของรายได้ ซึ่งโดยทั่วไป หลักการผ่อนที่ปลอดภัยต้องไม่เกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน เพราะถ้าหากต้องผ่อนมากไปกว่านี้ สภาพคล่องตัวในการใช้จ่ายจะลดลงทำให้คุณใช้จ่ายลำบาก และอย่าลืมว่าภาระผ่อน 40% ของรายได้นี้ คือ ภาระผ่อนหนี้สินทั้งหมดทั้งบัตรเครดิต รถยนต์ และอื่นๆ
ยกตัวอย่างเช่น
นาย A มีรายได้ 15,000 บาท/เดือน
ความสามารถในการผ่อนของเขาจะอยู่ที่ 15,000 x 40% = 6,000 บาท/เดือน
นอกจากนี้ คุณยังสามารถลองคำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนกับวงเงินที่คุณอยากกู้ดูก่อนเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับความสามารถในการกู้ของคุณว่า ควรจะยื่นกู้เท่าไร
ประเมินวงเงินที่สามารถกู้ได้
เมื่อคุณได้ตัวเลขสำหรับการผ่อนต่อเดือนมาแล้ว คุณก็สามารถหาวงเงินโดยประมาณที่ธนาคารสามารถให้คุณได้ ซึ่งช่วยให้คุณประเมินงบประมาณสำหรับสร้างบ้านได้อย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น วิธีการประเมินจะคำนวณกับอัตราส่วนของเงินผ่อนชำระต่องวดของธนาคารโดยประมาณคือ เงินงวด 7,000 บาท ต่อวงเงินกู้ 1,000,000 บาท มีสูตรดังนี้
(ความสามารถในการกู้ x 1,000,000) / 7,000 = วงเงินที่กู้ได้
ยกตัวอย่างเช่น
นาย A มีรายได้ 15,000 บาท
วงเงินที่สามารถกู้ได้ของเขา คือ (6,000 x 1,000,000) / 7,000 = 857,142 บาท
ตัวเลขวงเงินที่คุณได้มาก็คืองบประมาณที่เหมาะสมโดยประมาณสำหรับการกู้สินเชื่อสร้างบ้าน และเมื่อทราบเช่นนี้แล้ว คุณก็สามารถดำเนินการวางแผนสร้างบ้านได้ทันที โดยเริ่มหาแบบบ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท และไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยดาวน์โหลดแบบบ้านฟรีได้ที่โครงการ”บ้านรักษ์โลก”ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่อยู่ในวงเงินก่อนได้
เตรียมเงินสำหรับสร้างบ้านงวดแรก
โดยทั่วไป ธนาคารจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้ถ้าสิ่งปลูกสร้างยังดำเนินงานไปไม่ถึง 20% เพราะธนาคารถือว่ามีความเสี่ยงที่ผู้ขอสินเชื่อจะนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือกระทั่งผู้รับเหมาจะทิ้งงาน ทำให้ธนาคารเสียผลประโยชน์ ดังนั้น จำนวนเงินที่คุณควรเตรียมไว้ให้พร้อมก่อนขอกู้จึงเท่ากับค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างบ้านจริง 20% หรือค่าใช้จ่ายงวดแรกซึ่งต้องปรึกษากับผู้รับเหมา
ยกตัวอย่างรายการประมาณราคาก่อสร้างที่ผู้รับเหมาประเมิน
จากตัวอย่างค่าใช้จ่ายข้างต้น คุณจะต้องมีเงินเพื่อใช้ก่อสร้างในงวดแรกเองก่อน 130,000 บาท ซึ่งหลังจากนั้นธนาคารถึงจะจ่ายเงินสำหรับงวดแรกให้เรา ทั้งนี้ ตัวอย่างนี้เป็นเพียงการประเมินโดยคร่าวๆ และการประเมินค่าใช้จ่ายจริงเป็นงวดต้องยื่นให้ธนาคารก่อนเพื่อที่ธนาคารจะได้ปรับเป็นงวดให้เหมาะสมที่สุด
* ตัวอย่างรายการประมาณราคาก่อสร้างแบบละเอียดมีเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต
2. เตรียมเอกสารยื่นกู้สินเชื่อให้พร้อม
เมื่อคุณทราบแล้วว่าคุณควรสร้างบ้านโดยใช้งบประมาณเท่าไร และได้หาผู้รับเหมาไว้เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือ การเตรียมเอกสารสำหรับขอกู้สินเชื่อกับธนาคาร สิ่งที่คุณต้องเตรียม มีดังนี้
เอกสารส่วนบุคคล
- บัตรประจำตัวประชาชน / บัตรข้าราชการ / บัตรรัฐวิสาหกิจ
- ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
- สำเนาทะเบียนสมรส / ใบหย่า / ใบมรณะบัตร
- สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ – สกุล
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนคู่สมรส (ถ้ามี)
เอกสารทางการเงิน
พนักงานประจำ
- ใบรับรองเงินเดือน
- สลิปเงินเดือนหรือหลักฐานการรับเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน
- สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน (กรณีอาชีพประจำ)
ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
- สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 12 เดือน/หลักฐานแสดงฐานะการเงินอื่นๆ (พร้อมเอกสารฉบับจริง)
- สำเนาทะเบียนการค้า/ทะเบียนบริษัท/ห้างหุ้นส่วน
- หลักฐานการเสียภาษีเงินได้
- รูปถ่ายกิจการ
- สำเนาใบประกอบวิชาชีพ
เอกสารหลักประกัน
- สำเนาจะซื้อจะขาย / สัญญาวางมัดจำ / สัญญาเช่าซื้อการเคหะฯ และหนังสือรับรองยอดคงเหลือ
- หลักฐานการเป็นเจ้าของอาคาร
- สำเนาโฉนดที่ดิน/นส.3ก /หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด/อช.2 ทุกหน้า
- ใบอนุญาตปลูกสร้าง / ต่อเติม
- แบบแปลน
- ใบประมาณการปลูกสร้าง / สัญญาว่าจ้างก่อสร้าง
* เอกสารหลักประกันหลายชุดมีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย เช่น ค่าออกแบบแปลนบ้านคิดไม่เกิน 2-5% ของมูลค่าบ้าน เป็นต้น
3. เลือกสถาบันการเงินที่เหมาะสม
แล้วก็มาถึงขั้นตอนสุดท้าย เป็นขั้นตอนที่เหมือนประตูบานสุดท้ายก่อนที่คุณจะเริ่มสร้างบ้าน นั่นคือ การเลือกสถาบันการเงินที่คุณจะขอสินเชื่อ โดยหลักในการเลือกสถาบันการเงินก็มีข้อควรพิจารณาอยู่เล็กน้อย เพื่อว่าคุณจะได้รับประโยชน์สูงสุด
เลือกสถาบันการเงินที่ให้วงเงินได้ตามต้องการ
สถาบันการเงินโดยทั่วไปจะให้วงเงินสำหรับการสร้างบ้าน 100% เต็ม ของสัญญาว่าจ้างปลูกสร้าง ในกรณีที่คุณมีที่ดินอยู่แล้วหรือเจ้าของที่ดินเป็นผู้กู้ร่วม แต่ถ้าหากไม่มีที่ดิน แล้วต้องการยื่นกู้ซื้อที่ดินและปลูกสร้าง ธนาคารจะให้วงเงินเพียง 70-90% ของราคาประเมินรวมที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้คุณต้องสำรองเงินสำหรับซื้อที่ดินและงานก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก 10-30% ทั้งนี้ บางธนาคารก็ให้คุณวางหลักประกันเพิ่มเติมเพื่อให้ขอวงเงินสินเชื่อได้มากขึ้น หรือบางทีธนาคารอาจทำสัญญาร่วมกับองค์กรของคุณเพื่อปล่อยสินเชื่อ 100%
เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย
อีกข้อที่ผู้ขอสินเชื่อทุกคนจะทำ คือ การเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของแต่ละธนาคารว่าที่ไหนให้เราจ่ายน้อยที่สุด โดยหลักการเปรียบเทียบนั้นควรเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย 3-5 ปี ตามที่ธนาคารส่วนมากให้สามารถรีไฟแนนซ์ได้
ยกตัวอย่างเช่น ธนาคาร A มีอัตราดอกเบี้ย 3 ปี คือ 6.5 + 7 + 7.5 = 7% ส่วนธนาคาร B มีอัตราดอกเบี้ย 3 ปี คือ 7.5 + 5 + 6.5 = 6.3% จะเห็นได้ว่า ธนาคาร B ให้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรก ธนาคารจะคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่หรือดอกเบี้ยที่ไม่ปรับตัวตามตลาดการเงิน คุณสามารถเข้าไปศึกษาอัตราดอกเบี้ยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้เพื่อให้การตัดสินใจของคุณคุ้มค่าขึ้น
เลือกสถาบันการเงินที่มีบัญชีอยู่แล้ว
เกณฑ์ในการเลือกสถาบันการเงินขอนี้เป็นข้อที่หลายคนมักจะไม่พิจารณา ซึ่งจริงๆ แล้วอาจให้สิทธิประโยชน์กับคุณได้มากกว่าที่อื่นๆ เช่น ลดขั้นตอนในการยื่นหลักฐานการเงิน ความคล่องตัวในการประเมินสิ่งปลูกสร้าง หรือวงเงินและสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ธนาคารที่คุณมีบัญชีอยู่แล้วอาจเสนอให้คุณ
สรุป
ความฝันจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อลงมือทำ แม้วันนี้จะยังไม่เห็นทาง แต่ทุกปัญหามีทางออก เช่นเดียวกับบ้านในฝันของคุณ หากคุณไม่มีเงินแต่อยากสร้างบ้าน ขั้นตอนทั้ง 3 ข้อเกี่ยวกับการกู้สินเชื่อสร้างบ้านสำหรับคนที่ไม่มีเงินออม บทความนี้ ก็น่าจะเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยให้คุณเดินตามความฝันสร้างบ้านต่อไปได้
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารที่ดีที่สุดสำหรับการมีบ้าน
คำถามที่พบบ่อย
สามารถกู้เงินซื้อที่ดินได้ไหม
สามารถกู้เงินซื้อที่ดินได้ แต่มีเงื่อนไขและข้อจำกัดมากกว่าการกู้ซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เป็นที่ดินเปล่าที่ไม่มีแผนการใช้ประโยชน์ที่ชัดเจน
กู้ซื้อที่ดินเปล่าได้กี่เปอร์เซ็นต์
โดยทั่วไป ธนาคารมักจะให้วงเงินกู้สำหรับที่ดินเปล่าประมาณ 50-70% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขาย ซึ่งน้อยกว่าการกู้ซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมที่อาจได้ถึง 90-95% ทั้งนี้ เปอร์เซ็นต์ที่แน่นอนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น นโยบายของแต่ละธนาคาร ประเภทและทำเลที่ตั้งของที่ดิน วัตถุประสงค์ในการใช้ที่ดิน และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้
จะซื้อที่ดินต้องตรวจสอบอะไรบ้าง
การซื้อที่ดินเป็นการลงทุนที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อด้วยเงินสดหรือการกู้เงินซื้อที่ดิน การตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจซื้อจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยสิ่งที่ต้องตรวจสอบก่อนซื้อที่ดิน ได้แก่
- ตรวจสอบเอกสารสิทธิ์
- ตรวจสอบสภาพที่ดิน
- ตรวจสอบกฎหมายและข้อบังคับ
- ตรวจสอบราคาตลาด
- ตรวจสอบแผนพัฒนาในอนาคต
กู้ซื้อที่ดินเปล่าใช้เอกสารอะไรบ้าง
เอกสารที่จำเป็นสำหรับการกู้เงินซื้อที่ดิน ได้แก่
เอกสารส่วนตัว
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้ามี)
- สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี)
- สำเนาใบหย่า (กรณีหย่าร้าง)
เอกสารทางการเงิน
- สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 3-6 เดือน
- หนังสือรับรองการทำงานและเงินเดือน
- สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน
- เอกสารแสดงรายได้อื่นๆ (ถ้ามี) เช่น สัญญาเช่า ใบเสร็จรับเงินค่าเช่า
- แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90 หรือ 91)
- ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (สำหรับอาชีพอิสระ)
เอกสารเกี่ยวกับที่ดิน
- สำเนาโฉนดที่ดิน หรือ นส.3ก
- สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน
- แผนที่ที่ตั้งที่ดิน
- ภาพถ่ายที่ดิน
เอกสารแสดงวัตถุประสงค์การใช้ที่ดิน (ถ้ามี)
- แบบแปลนบ้าน (กรณีกู้เพื่อซื้อที่ดินและปลูกสร้างบ้าน)
- แผนธุรกิจ (กรณีกู้เพื่อใช้ที่ดินในการประกอบธุรกิจ)
- ใบอนุญาตก่อสร้าง (ถ้ามี)
ค่าโอนที่ดินเปล่าคิดอย่างไร
ค่าธรรมเนียมโอนที่ดินหรือที่เรียกว่าค่าโอนที่ดิน เป็นค่าใช้จ่ายหลักในการโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งปกติจะคิดในอัตรา 2% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขาย โดยใช้ราคาที่สูงกว่าเป็นฐานในการคำนวณ ยกตัวอย่างเช่น หากราคาประเมินที่ดินอยู่ที่ 5,000,000 บาท แต่ราคาซื้อขายจริงคือ 5,500,000 บาท ค่าธรรมเนียมในการโอนจะคำนวณจาก 5,500,000 x 2% = 110,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 รัฐบาลได้ออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนสำหรับที่อยู่อาศัยบางประเภท โดยลดจาก 2% เหลือเพียง 0.01% สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ หรือห้องชุดที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึง 31 ธันวาคม 2567