เมื่อการมี “บ้านของตัวเอง” คือของขวัญชิ้นใหญ่ของครอบครัว แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคู่กันคือราคาที่ต้องจ่ายและปัญหาไม่น้อยเลยทีเดียว
หนึ่งในเรื่องที่ทำให้คนอยากมีบ้านมากมายต่างปวดหัวกัน มีเรื่องเกี่ยวกับคำศัพท์ด้านการเงินอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะหากคุณไม่ได้มีความรู้หรือประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน คงจะงุนงงกับตัวย่อทั้งหลายที่เป็นเหมือนกับรหัสลับและเข้าใจยาก
อย่างไรก็ตาม เราสามารถทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นได้โดยการเตรียมตัวที่ดี ยิ่งคุณเตรียมตัวมาก ปัญหายิ่งหาย และความผิดพลาดต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นก็จะยิ่งน้อยลงเช่นกัน ดังนั้น มาเปิดคลังคำศัพท์และตัวย่อ 10 คำที่คุณควรรู้ แล้วจะทำให้การซื้อบ้านกลายเป็นเรื่องเข้าใจง่ายขึ้นทันที
1.เงินดาวน์ (Down Payment)
หมายถึง เป็นเงินส่วนที่ต้องชำระหลังจากจองและทำสัญญาเรียบร้อยแล้ว สัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 10-20% ของราคาเต็ม
กรณีที่โครงการยังไม่เริ่มต้นสร้างหรือกำลังอยู่ในช่วงก่อสร้างคุณสามารถผ่อนเงินดาวน์กับโครงการได้ (แต่ต้องทำความเข้าใจกับข้อกำหนดของแต่ละโครงการให้ชัดเจนก่อน) หรือในกรณีโครงการที่สร้างเสร็จพร้อมโอน อาจจะกำหนดให้จ่ายเงินดาวน์เป็นก้อน เช่น 50,000 บาท
2.เงินกู้ (Loans)
หมายถึง จำนวนเงินก้อนที่สถาบันการเงิน เช่น ธนาคารให้กู้ไปใช้ในการซื้อบ้านได้ โดยทั่วไปธนาคารจะอนุมัติวงเงินกู้ในช่วงระหว่าง 80-95% ซึ่งผู้กู้จะต้องชำระดอกเบี้ยตามจำนวนเงินกู้ ทำสัญญากำหนดระยะเวลาที่จะชำระหนี้ที่แน่นอน และผ่อนชำระเป็นงวด
3.ค่างวด (Installment)
หมายถึง ยอดเงินที่ต้องผ่อนชำระแต่ละเดือน โดยคำนวณจากยอดวงเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย และระยะเวลาการกู้
4.อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Fixed Rate)
หมายถึง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่กำหนดเป็นตัวเลขเฉพาะตลอดอายุสัญญาเงินกู้หรือในช่วงเวลาที่กำหนด ไม่ขึ้นหรือลงตามสภาวะเศรษฐกิจ เช่น กำหนดให้ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีเป็นเวลา 4 ปี เราก็จะเสียอัตราดอกเบี้ย 5% ตลอดระยะเวลา 4 ปี ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ข้อดีของอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่คือ ไม่ต้องกังวลว่ายอดชำระเงินกู้จะสูงขึ้น และช่วยให้ผู้กู้สามารถวางแผนการเงินของตนเองได้อย่างแม่นยำ
5.อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate)
หมายถึง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามประกาศของสถาบันการเงิน ซึ่งจะปรับขึ้นลงตามสภาวะเศรษฐกิจ ในปีที่อัตราดอกเบี้ยถูกลงเราก็จะจ่ายดอกเบี้ยถูก ในขณะเดียวกันปีใดที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเราก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยอัตราการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยจะขึ้นกับแต่ละธนาคาร ซึ่งในแต่ละปีมีการปรับมากน้อยแตกต่างกัน
6.MLR (Minimum Lending Rate) หรือ (Minimum Loan Rate)
หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลาเช่น มีประวัติการเงินที่ดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันพียงพอ ส่วนใหญ่อัตราดอกเบี้ยประเภทนี้จะใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน ตัวอย่าง สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
7.MRR (Minimum Retail Rate)
หมายถึง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีทั้งนี้ใช้โยงเข้ากับอัตราดอกเบี้ย MLR เพื่อให้สามารถสะท้อนระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันระหว่างลูกค้ารายใหญ่กับลูกค้ารายย่อยได้โดยบวกส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารประกาศไม่เกินร้อยละ 4 ต่อปี ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือเวียนลงวันที่ 10 สิงหาคม 2544 ยกเลิกการกำหนดส่วนต่างไม่เกินร้อยละ 4 ต่อปีเพื่อให้มีความ เสมอภาคในการแข่งขันเสนอบริการสินเชื่อ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น
ตรวจสอบอัตราดอกเบี้ย MLR และ MRR
8.LTV (Loan to Value)
หมายถึง อัตราส่วนการให้สินเชื่อเพื่อซื้อบ้านเทียบกับมูลค่าบ้าน ยกตัวอย่าง บ้านราคา 1 ล้านบาท ธนาคารล่อยสินเชื่อเป็นเงินจำนวน 9 แสนบาท หมายความว่ามี LTV เท่ากับอัตราส่วนร้อยละ 90 ดังนั้นหากธนาคารปล่อยสินเชื่อโดยมีอัตราส่วน LTV ต่ำ ผู้ซื้อบ้านก็ต้องมีเงินออมจํานวนที่สูงขึ้น ความสามารถในการซื้อบ้านก็จะลดลง
9. DSCR
DSCR (Debt Service Coverage Ratio) คือ อัตราส่วนรายได้ต่อภาระจ่ายชำระหนี้สิน ซึ่งธนาคารจะเอาไว้พิจารณาปลอ่ยกู้ให้กับผู้ยื่นกู้ โดยจะเทียบสัดส่วนด้วยสูตร (รายได้ต่อเดือน ÷ ยอดผ่อนชำระต่องวด) ซึ่งสัดส่วนที่เหมาะสมคือ 3.0 ขึ้นไป หรือมีรายได้เป็น 3 เท่าของภาระหนี้สิน หากได้ DSCR ต่ำกว่า 3.0 นั่นจะหมายความว่าคุณมีหนี้ผ่อนชำระมากเกินไป หรือโอกาสในการขอกู้ผ่านจะน้อยลง
10. ค่าจำนอง
การจำนอง คือ สัญญากู้เงินชนิดหนึ่งที่ “ผู้จำนอง” ใช้อสังหาริมทรัพย์ตามที่กฏหมายอนุญาตให้จำนอง เช่น โฉนด ที่ดิน บ้าน เป็นต้น จดทะเบียนกับ “ผู้รับจำนอง” เป็นหลักประกันในการชำระหนี้ ซึ่งการทำสัญญาจำนองจะต้องทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่กรมที่ดินเท่านั้น โดยระบุให้ชัดเจนว่าผู้จำนองกู้เงินเป็นวงเงินจำนวนเงินเท่าไร และทรัพย์ที่นำมาจำนองคืออะไร
สรุป
การจะเป็นเจ้าของบ้านสักหนึ่งหลังต้องมีการวางแผนที่รอบคอบ เปรียบเหมือนการต่อจิ๊กซอว์ที่แม้จะดูไม่เป็นรูปเป็นร่างในตอนแรก แต่ค่อยๆ ทำความเข้าใจไปทีละเรื่อง เริ่มต้นจากคำศัพท์พื้นฐาน ความรู้เบื้องต้น แล้วจึงต่อแต่ละชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน ภาพสุดท้ายจะกลายเป็นของขวัญชิ้นใหญ่ที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับครอบครัวคุณอย่างแน่นอน
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารที่ดีที่สุดสำหรับการมีบ้าน