ที่ดินเปล่าเป็นอสังหาริมทรัพย์อีกทางเลือกที่หลายคนสนใจลงทุน เพราะมูลค่าของที่ดินเปล่ามีแนวโน้มจะขึ้นทุกปี เนื่องจากการขยายตัวของเมืองและที่ดินเปล่ามีจำนวนลดลงในทุกปี การซื้อลงทุนที่ดินเปล่าจึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการซื้อเก็บเพื่อเก็งกำไรขายในอนาคต ลงทุนง่าย และไม่ต้องใช้ความรู้หรือเวลาในการดูแลทรัพย์เท่ากับอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ
ทั้งนี้ การลงทุนที่ดินเปล่าสำหรับหลายคน ก็มีข้อน่ากังวลอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนที่ไม่ได้ต้องการถือทรัพย์เป็นเวลานาน แล้วถ้าในกรณีนี้ การลงทุนที่ดินเปล่าไว้เก็งกำไรจะยังคุ้มค่าอยู่หรือไม่? บทความนี้ จะช่วยสรุป พร้อมแนะนำ 10 เรื่องที่ควรรู้ก่อนลงทุนที่ดินเปล่า
- ลงทุนที่ดินเปล่าคุ้มหรือไม่? ข้อดีของที่ดินเปล่ามีอะไรบ้าง
- 10 เรื่องควรรู้ ถ้าอยากลงทุนที่ดินเปล่าให้คุ้ม
- 1. รู้วิธีดูแผนผังเมืองก่อนลงทุน
- 2. รู้จักศึกษาระบบคมนาคมที่ส่งผลต่อราคาที่ดิน
- 3. รู้จักติดตามโครงการขนาดใหญ่ที่มีแผนก่อสร้าง
- 4. รู้จักแนวเวนคืนของราชการ
- 5. รู้ว่าที่ดินคุณภาพเป็นอย่างไร
- 6. รู้จักประเภทของเอกสารสิทธิ์ (หนังสือตราครุฑสีต่างๆ)
- 7. รู้จักวิธีประเมินราคาที่ดินด้วยตัวเอง
- 8. รู้ค่าใช้จ่ายในวันโอนที่ดิน
- 9. รู้จักกลยุทธ์พื้นฐานในการลงทุนที่ดินเปล่า
- 10. รู้วิธีสร้างรายได้จากที่ดินเปล่าระหว่างถือทรัพย์
- เริ่มต้นลงทุนที่ดินเปล่าด้วยสินเชื่อ ธอส.
ลงทุนที่ดินเปล่าคุ้มหรือไม่? ข้อดีของที่ดินเปล่ามีอะไรบ้าง
- ที่ดินมีโอกาสขาดทุนต่ำ ในแง่ที่ว่า มูลค่าของที่ดินมีแนวโน้มดีดตัวสูงขึ้นในทุกๆ ปี และที่ดินเปล่าไม่มีค่าเสื่อมสภาพเหมือนกับอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่น บ้าน คอนโดมิเนียม ฯลฯ ที่มีจังหวะขายให้ได้ราคาดีเพียงจังหวะหนึ่งเท่านั้น ก่อนที่ราคาจะค่อยๆ ตกลง เพราะการเสื่อมสภาพ
- ราคาที่ดินมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีและมีอัตราเติบโตสูง โดยในระยะเวลา 10 ปี ราคาที่ดินเปล่าอาจดีดตัวขึ้นได้มากถึง 10 เท่า จากปัจจัยการพัฒนา เช่น มีถนนตัดผ่าน เมืองขยายตัว มีความเจริญใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในทำเลใกล้เคียง ฯลฯ
- ราคาที่ดินเติบโตแบบไม่มีเพดาน เพราะมีความต้องการขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ปี ไม่มีการเสื่อมสภาพเหมือนทรัพย์สินประเภทอื่น ทำให้ไม่ค่อยมีภาวะอิ่มตัวเหมือนสินทรัพย์อื่นๆ ราคาไม่ตก
- ที่ดินเปล่าใช้หารายได้ได้หลายวิธี ในระหว่างที่ลงทุนซื้อที่ดินเปล่ามาเก็งกำไรหรือจะแบ่งขายในอนาคต ก็สามารถเปล่าเช่าที่ดินให้คนทำธุรกิจแบบไม่ถาวรได้ เช่น ตลาดนัด ลานจอดรถ ฯลฯ
- มีโอกาสทำกำไรตอนซื้อได้ง่ายที่สุด เมื่อเทียบกับอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่น เพราะโดยทั่วไป ที่ดินเปล่าเป็นทรัพย์สินที่ไม่ได้ซื้อ-ขายง่ายเท่าบ้าน คอนโดมิเนียม หรืออพาร์ทเม้นต์ ผู้ที่ต้องการขายที่ดินหลายคนมักขายในภาวะที่ต้องการเงินสด ราคาขายจึงอาจตั้งไว้ถูกกว่าราคาประเมินที่ดิน
- ทำกำไรได้สูง เมื่อใช้เทคนิคลงทุนแบบ OPM (Other People’s Money) ทำได้ด้วยวิธีกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารมาลงทุนซื้อ หากหารายได้ได้ระหว่างถือทรัพย์เก็งกำไร เมื่อราคาที่ดินดีดตัวสูงขึ้นแล้วขาย ก็จะสามารถทำกำไรได้โดยที่ใช้เงินลงทุนน้อยที่สุด
ถึงคำถามที่ว่า “ลงทุนที่ดินเปล่าคุ้มหรือไม่?”
สามารถตอบได้ว่า “คุ้มค่า” ในสองกรณีด้วยกัน คือ
กรณีที่ 1 เมื่อสามารถถือทรัพย์ได้เป็นเวลานานเพื่อเก็งกำไรในอนาคต
กรณีที่ 2 เมื่อสามารถสร้างรายได้ให้ที่ดินเปล่าได้ในระหว่างถือทรัพย์ [อ่านวิธีสร้างรายได้จากที่ดินเปล่า << ในบทความนี้]
10 เรื่องควรรู้ ถ้าอยากลงทุนที่ดินเปล่าให้คุ้ม
สำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือคนทั่วไปที่ต้องการเริ่มต้นลงทุนที่ดินเปล่า ก็มีเรื่องที่ควรรู้อย่างน้อย 10 เรื่องต่อไปนี้ ที่จะช่วยให้คุณสามารถลงทุนที่ดินเปล่าได้คุ้มค่า ตั้งแต่การทำความเข้าใจศักยภาพของที่ดิน การซื้อที่ดินเปล่าลงทุน และเรื่องพื้นฐานอื่นๆ ที่ต้องรู้
1. รู้วิธีดูแผนผังเมืองก่อนลงทุน
ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อที่ดินเปล่ามาลงทุน ต้องศึกษาผังเมืองก่อน เพื่อดูว่า ที่ดินเปล่าที่สนใจอยู่ในพื้นที่สีอะไร สามารถใช้ทำประโยชน์อะไรได้บ้าง โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองจะกำหนดว่า ที่ดินในเขตใดสามารถสร้างได้อะไรได้บ้างหรือห้ามสร้างและใช้ประโยชน์อะไร ซึ่งคุณสามารถตรวจสอบที่ดินบริเวณต่างๆ ได้จากเว็บไซต์นี้ >> https://landsmaps.dol.go.th/ ของสำนักงานที่ดิน
โดยเขตที่ดินสีต่างๆ ที่ควรรู้ มีดังนี้
- เขตสีแดง ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก
- เขตสีน้ำตาล ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก
- เขตสีส้ม ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง
- เขตสีเหลือง ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย
- เขตสีม่วง ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า
- เขตสีม่วงอ่อน ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจ
- เขตสีเขียว ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม
- เขตสีฟ้า ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
2. รู้จักศึกษาระบบคมนาคมที่ส่งผลต่อราคาที่ดิน
ราคาที่ดินสัมพันธ์กับระบบคมนาคมแทบจะทุกรูปแบบ เพราะการคมนาคมที่สะดวกหมายถึง ผู้คนสามารถเข้าถึงที่ดินนั้นๆ ไม่ว่าจะสร้างบ้าน ปล่อยขายให้ทำโรงงาน ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ต่างๆ หากมีถนนหรือมีระบบขนส่ง เช่น รถไฟ สนามบิน หรือบัส ฯลฯ ตัดผ่าน ก็จะทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น
ดังนั้น ก่อนจะหาที่ดินเปล่าลงทุน แนะนำให้ศึกษาระบบโครงข่ายคมนาคมใหม่ๆ ตามข่าวสารหรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ 2 – 3 ปีข้างหน้าขึ้นไป หากมีแผนว่าจะตัดถนน สร้างรถไฟฟ้า หรือมีระบบคมนาคมใหม่ๆ ใกล้เคียง ที่ดินบริเวณนั้นย่อมมีราคาสูงขึ้นอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม การดูที่ดินเพื่อเก็งกำไรด้วยวิธีนี้ก็ยังมีความเสี่ยงจากการที่โครงการก่อสร้างระบบคมนาคมอาจไม่เสร็จเรียบร้อยภายในระยะเวลาที่ประกาศ ผู้ลงทุนจึงอาจมีต้นทุนในการถือทรัพย์นานขึ้นจากที่คาดการณ์ได้
3. รู้จักติดตามโครงการขนาดใหญ่ที่มีแผนก่อสร้าง
นอกจากระบบขนส่งคมนาคมแล้ว อีกปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาที่ดินอย่างยิ่ง คือ แผนพัฒนาหรือก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างของภาครัฐหรือเอกชน ยกตัวอย่างเช่น สนามบิน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ศูนย์การประชุม มหาวิทยาลัย การพัฒนาเมืองเป็นศูนย์การผลิต/อุตสาหกรรม ฯลฯ
โครงการใหญ่ๆ จะช่วยดึงดูดผู้คนให้เข้ามาในทำเลเหล่านั้น พร้อมกับดึงดูดความเจริญและความต้องการที่ดินเพื่อทำธุรกิจและที่อยู่อาศัย หากนักลงทุนมีข้อมูลที่แผนการพัฒนาโครงการหรือ “ข้อมูลอินไซด์ (Inside information)” รู้ว่าย่านไหนกำลังจะมีโครงการอะไรเกิดขึ้น ก็จะสามารถซื้อลงทุนที่ดินเปล่าเพื่อเก็งกำไรได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
4. รู้จักแนวเวนคืนของราชการ
ภายหลังเมื่อรู้แล้วว่า กำลังจะมีโครงการหรือระบบคมนาคมใดกำลังจะก่อสร้างและที่ดินในทำเลเหล่านั้นน่าจะดีดตัวสูงขึ้น ผู้ลงทุนต้องติดตามและศึกษา “แนวเวนคืน” ของราชการ หากโครงการเหล่านั้นมาจากราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงโครงการขนาดใหญ่ของเอกชน ต้องดูให้แน่ใจว่า ที่ดินที่ผู้ลงทุนต้องการนั้น อยู่ในแนวเวนคืนหรือไม่ เพราะหากที่ดินอยู่ในแนวเวนคืนแล้ว อาจถูกรัฐเวนคืน ไม่สามารถก่อสร้างหรือขายต่อได้
สำหรับวิธีการตรวจสอบแนวเวนคืนนั้น แนะนำให้สอบถามโดยตรงกับหน่วยงานที่ประกาศแนวเวนคืนหรือหน่วยงานที่ประกาศก่อสร้างโครงการ เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง กรมทางหลวง ฯลฯ หรือสามารถตรวจสอบแนวเวนคืนง่ายๆ ผ่านเว็บไซต์ feasyonline.com ได้ก่อน (ในเว็บไซต์จะแสดงแผนที่แนวเวนคืน ซึ่งคุณสามารถกดอ่าน “รายละเอียดเพิ่มเติม” เพื่อดูประกาศแนวเวนคืนได้)
5. รู้ว่าที่ดินคุณภาพเป็นอย่างไร
เมื่อต้องการลงทุนที่ดินเปล่า ผู้ลงทุนควรดูให้เป็นว่าที่ดินเปล่าลักษณะไหนที่เป็นที่ดินคุณภาพหรือมีศักยภาพในการเติบโตสูงกว่าที่ดินทั่วไปอย่างไร โดยปัจจัยหลักๆ ที่มักจะใช้ในการประเมินที่ดินก็มีอยู่ด้วยกัน 5 ข้อ ดังนี้
- ที่ดินติดถนน (ไม่เป็นที่ดินตาบอด) ถือเป็นที่ดินที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง เพราะมีทางเข้าติดกับถนน หากมีส่วนที่ติดถนนหน้ากว้างเท่าไร ก็ยิ่งไม่มีข้อจำกัดในการใช้งานหรือออกแบบสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินลักษณะนี้จึงสามารถทำราคาได้ดีกว่า
- ความกว้างถนนหน้าที่ดิน ยิ่งที่ถนนด้านหน้าที่ดินกว้างโอกาสที่ราคาที่ดินจะสูงขึ้นก็ยิ่งมาก โดยสำหรับที่ดินคุณภาพ ถนนด้านหน้าควรมีความกว้างไม่ต่ำกว่า 6 เมตร (รถสามารถสวนกันได้) หรือมีตั้งแต่ 2 เลนขับรถขึ้นไป
- ประเภทของถนน เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาที่ดิน ถนนทางหลวง ถนนคอนกรีต ย่อมทำให้ราคาที่ดินดีดตัวได้สูงกว่าถนนลูกรัง
- รูปทรงของที่ดิน รูปทรงของที่ดินส่งผลกระทบต่อราคาอย่างยิ่ง โดยที่ดินที่มีคุณภาพมากกว่า หมายถึงที่ดินนั้นสามารถใช้สอยประโยชน์ได้มากกว่าและง่ายกว่า ยกตัวอย่างเช่น ที่ดินรูปทรงสี่เหลี่ยมที่มีด้านกว้างหลายด้าน ทำให้ใช้ประโยชน์ได้มากกว่าที่ดินรูปทรงสามเหลี่ยมหรือเป็นรูปทรงตัวแอล (L)
- ความเรียบสม่ำเสมอของที่ดิน ที่ดินที่เรียบหรือถมมาแล้วถือว่าเป็นที่ดินที่พร้อมสำหรับการก่อสร้างมากกว่า จึงถือว่าเป็นที่ดินที่มีคุณภาพมากกว่าที่ดินที่มีหลุมมีบ่อหรือยังไม่ได้รับการปรับหน้าดิน
6. รู้จักประเภทของเอกสารสิทธิ์ (หนังสือตราครุฑสีต่างๆ)
ก่อนจะซื้อที่ดินเปล่าลงทุนต้องตรวจสอบเรื่องเอกสารสิทธิ์หรือโฉนดให้มั่นใจก่อนว่า ที่ดินที่ผู้ลงทุนจะครอบครองเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ประเภทอะไร เพราะเอกสารสิทธิ์แต่ละประเภทนั้น มีรายละเอียดการครอบครองสิทธิ์ที่ไม่เหมือนกัน โดยประเภทของเอกสารสิทธิ์ที่มีการซื้อขายที่ดินกันทั่วไปก็มี 3 ประเภทด้วยกัน
- โฉนดที่ดิน น.ส.4 (ครุฑสีแดง) หมายถึง โฉนดที่ดินโดยทั่วไปที่ผู้ที่ถือครอบครองโฉนดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างสมบูรณ์ สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้เต็มที่ สามารถซื้อขาย โอน จำนอง ค้ำประกันได้
- เอกสารสิทธิ์ที่ดิน น.ส.3 ก. (ครุฑสีเขียว) คือ หนังสือรับรองการทำประโยชน์และใช้ยืนยันสิทธิครอบครองเพียงเท่านั้น ไม่ใช่โฉนด แต่ผู้ครอบครองเอกสารก็สามารถซื้อขาย โอน จำนองกับธนาคารได้เหมือนกับที่ดินที่มีโฉนด เพียงแต่ผู้อื่นสามารถแย่งสิทธิครอบครองได้หากมีผู้อื่นใช้ประโยชน์ติดต่อกันตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป ทั้งนี้ ผู้ที่ถือ น.ส.3 ก สามารถนำติดต่อขอสอบเขตและยื่นเอกสารขอออกโฉนดได้
- เอกสารสิทธิ์ที่ดิน น.ส.3, น.ส.3 ข. ครุฑสีดำ คือ หนังสือรับรองการทำประโยชน์และยืนยันสิทธิครอบครองเช่นเดียวกับหนังสือ ครุฑเขียว เพียงแต่เอกสารสิทธิ์ประเภทนี้ ไม่มีระวางภาพถ่ายทางอากาศ ลักษณะแผนที่ไม่แน่ชัด แม้สามารถซื้อ-ขายได้ แต่ก็อาจมีผู้คัดค้านว่ารุกล้ำที่ดินอื่นได้ ดังนั้น หากที่ดินที่ต้องการมีเอกสารสิทธิ์เป็นเพียง “หนังสือครุฑดำ” แนะนำให้ตรวจสอบระแวงแผนที่ให้แน่ชัด ติดต่อสอบเขต จนมั่นใจว่าที่ดินสามารถออกโฉนดได้
7. รู้จักวิธีประเมินราคาที่ดินด้วยตัวเอง
ที่ดินเป็นสินทรัพย์ที่มีราคาสูง ก่อนจะซื้อแนะนำให้ตรวจเช็กราคาประเมินของที่ดินก่อนเพื่อพิจารณาดูว่า ราคาที่ดินที่กำลังสนใจ ถูกหรือแพงเกินไปหรือไม่
ทุกวันนี้ เราสามารถเข้าไปสืบค้นราคาประเมินของที่ดินต่างๆ ที่มีโฉนดได้ทั่วประเทศแล้ว ผ่านระบบเผยแพร่ราคาประเมินทรัพย์สินของกรมธนารักษ์ << เว็บไซต์นี้
สำหรับวิธีใช้งาน ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบราคาประเมินที่ดินก่อนได้ ดังนี้
- เข้าเว็บไซต์ https://assessprice.treasury.go.th/
- เลือกเมนูค้นหาตามเอกสารสิทธิ์ เช่น เลขที่โฉนด เลขที่ดิน หรือ น.ส. 3 ก
- กรอกข้อมูลตามโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์ ได้แก่ เลขที่โฉนด หน้าสำรวจ จังหวัด อำเภอ/เขต
- กด “ค้นหา”
จากนั้น จึงจะได้ราคาประเมินเป็น ราคา:ตารางวา มา ซึ่งคุณสามารถนำมาคำนวณต่อได้ ยกตัวอย่างเช่น
- ที่ดิน 1 ไร่ = 400 ตารางวา
- ค้นหาแล้ว ราคาประเมินที่ดินราคาตารางวาละ 2,000 บาท
- ราคาประเมินเท่ากับ 400 x 2,000 = 800,000 บาท ต่อไร่
เมื่อรู้ราคาประเมิน ผู้ลงทุนจะสามารถเทียบเคียงกับราคาที่เจ้าของประกาศได้ พร้อมกับพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนร่วมกับปัจจัยที่มีผลกับราคา เช่น ระบบคมนาคม แผนพัฒนาหรือแผนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ และคุณภาพของที่ดินได้
8. รู้ค่าใช้จ่ายในวันโอนที่ดิน
อีกเรื่องที่นักลงทุนที่ดินมือใหม่ควรจะต้องรู้ คือ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในวันโอนที่ดิน ซึ่งจะมองข้ามไม่ได้ เพราะยิ่งทรัพย์มีราคาสูงมาก ค่าธรรมเนียมในการโอนสินทรัพย์ก็ยิ่งสูงตาม โดยค่าใช้จ่ายต่างๆ ในวันโอน สามารถแจกแจงได้ ดังนี้
- ค่าคำขอโอนที่ดิน 5 บาท
- ค่าอากร 5 บาท
- ค่าพยาน 20 บาท
- ค่าธรรมเนียมในการโอนจำนวน 2% จากราคาประเมินหรือราคาขาย (ยึดราคาที่สูงกว่า)
- ค่าจดจำนอง 1% ของมูลค่าที่จดจำนอง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท (กรณีกู้สินเชื่อธนาคาร)
- ค่าอากรแสตมป์ 0.50% ของราคาขาย (หากต่ำกว่าราคาประเมิน ให้ใช้ราคาประเมินในการคำนวณ)
- ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ* 3.3% ของราคาซื้อขาย (หากตำ่กว่าราคาประเมิน ให้ใช้ราคาประเมินในการคำนวณ)
ยกตัวอย่าง กรณีที่ดินเปล่าราคา 1,000,000 บาท และสามารถกู้สินเชื่อธนาคารได้วงเงินเต็มจำนวนหรือ 1,000,000 บาท
- ค่าคำขอโอนที่ดิน 5 บาท
- ค่าอากร 5 บาท
- ค่าพยาน 20 บาท
- ค่าธรรมเนียมในการโอน 2% = 20,000 บาท
- ค่าจดจำนอง 1% = 10,000 บาท
- ค่าอากรแสตมป์ 0.50% = 5,000 บาท
- ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% = 33,000 บาท
สรุปค่าใช้จ่ายในวันโอนทั้งสิ้น 68,030 บาท (หรือราว 7% ของราคาที่ดิน)
นอกจากค่าธรรมเนียมในการโอนแล้ว อย่าลืมว่า การครอบครองที่ดินเปล่าที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย ก็มีภาษีที่ดินใหม่ที่ต้องรับผิดชอบอยู่ด้วย [<< อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีที่ดินใหม่ในลิงก์]
**ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ในกรณีที่ซื้อที่ดินเปล่าลงทุนและถือครองสินทรัพย์ไม่เกิน 5 ปี หรือไม่ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี กฎหมายจะมองว่า มีเจตนาทำธุรกิจ (ซื้อ-ขายที่ดิน) จึงจำเป็นต้องชำระภาษีธุรกิจ
9. รู้จักกลยุทธ์พื้นฐานในการลงทุนที่ดินเปล่า
วิธีการลงทุนที่ดินเปล่า นอกจากการพัฒนาที่ดินเปล่าเป็นสิ่งปลูกสร้างแล้ว วิธีการลงทุนที่ดินเปล่ายอดนิยม คือ การครอบครองไว้เพื่อเก็งกำไร ซึ่งมีกลยุทธ์พื้นฐานในการสร้างกำไรให้มากขึ้นได้ ด้วย 2 กลยุทธ์ด้วยกัน
- กลยุทธ์การซื้อและครอบครองไว้ (Buy and Hold) หมายถึง การลงทุนซื้อที่ดินเปล่าราคาถูกที่มีศักยภาพในการพัฒนาหรือมีแนวโน้มที่ราคาจะพุ่งสูงขึ้นในอนาคต โดยผู้ลงทุนถือทรัพย์ไว้มากกว่า 5 ปี เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมถึงรอเก็งกำไรให้ราคาที่ดินดีดตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ วิธีการนี้เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีเงินเย็น สามารถถือทรัพย์ได้เป็นเวลานาน
- กลยุทธ์ซื้อที่ดินเปล่าแปลงใหญ่เพื่อแบ่งขาย (Devide to Sell) หมายถึง การลงทุนซื้อที่ดินเปล่าแปลงใหญ่แล้วนำมาแบ่งโฉนดขายเป็นแปลงเล็กๆ ที่ขายง่ายกว่า เหมาะกับผู้ลงทุนที่ไม่ต้องการถือทรัพย์เป็นเวลานานและไม่ต้องการแบกรับค่าภาษีที่ดีจำนวนมาก ทั้งนี้ วิธีการแบ่งที่ดินเพื่อขายต้องคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยของที่ดินแต่ละแปลงและทางเข้าออกที่ติดถนน (ไม่แบ่งให้เกิดที่ดินตาบอด)
ด้วยกลยุทธ์เหล่านี้ จะช่วยให้สามารถลงทุนที่ดินเปล่าได้กำไรมากขึ้น
10. รู้วิธีสร้างรายได้จากที่ดินเปล่าระหว่างถือทรัพย์
กลยุทธ์สำคัญในการลงทุนที่ดิน คือ การถือทรัพย์เพื่อรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการขายเพื่อทำกำไร ทั้งนี้ ในระหว่างที่ถือทรัพย์ ผู้ลงทุนก็มีภาระที่ต้องชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ผู้ลงทุนสามารถแบ่งเบาหรือแม้กระทั่งสร้างกำไรระหว่างถือทรัพย์ได้ ยกตัวอย่างเช่น
- ปล่อยเช่าระยะสั้น 3 – 5 ปี โดยที่ไม่ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่
- ทำตลาด/ตลาดนัดปล่อยเช่าพื้นที่ตั้งร้าน
- ทำที่จอดรถ
- พัฒนาเป็นแปลงเกษตรกรรมหรือปล่อยเช่าเพื่อทำเกษตรกรรม
- ปล่อยเช่าเป็นโกดังหรือลานพักผลผลิตระยะสั้น 3 – 5 ปี
แทนที่จะถือทรัพย์ที่ดินเปล่าและจ่ายภาษีในทุกๆ ปี ผู้ลงทุนสามารถสร้างได้จากที่ดินเปล่าได้ด้วยวิธีเหล่านี้ ซึ่งนอกจากนี้จะทดแทนค่าภาษีแล้ว ยิ่งผู้ลงทุนสร้างรายได้ระหว่างถือทรัพย์ได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งหมายความว่า ต้นทุนในการลงทุนก็ยิ่งน้อยลงตามลงไปด้วย
เริ่มต้นลงทุนที่ดินเปล่าด้วยสินเชื่อ ธอส.
การลงทุนที่ดินเปล่าจะคุ้มค่าหรือไม่ ผู้ลงทุนจะต้องอาศัยความรู้ ความอดทนและความเข้าใจในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้ ซึ่ง 10 เรื่องที่ต้องรู้ข้างต้น เป็นเพียงความรู้พื้นฐานที่น่าจะช่วยเป็นแนวทางให้คุณสามารถเริ่มต้นลงทุนที่ดินเปล่าได้
ทั้งนี้ คุณกำลังมองหาสินเชื่อสำหรับซื้อที่ดินลงทุน ธนาคารอาคารสงเคราะห์มีสินเชื่อหลากหลายรูปแบบที่สามารถช่วยให้คุณลงทุนที่ดินและทำกำไรได้จากวิธีลงทุน OPM ได้
กรอกข้อมูล เพื่อขอทราบรายละเอียดคำแนะนำด้านสินเชื่อ และให้เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับ >>> ได้ที่นี่
เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ที่คอยให้คำแนะนำ พร้อมเปรียบเทียบและหยิบยื่นข้อเสนอด้านสินเชื่อที่ดีที่สุดให้กับคุณ ติดต่อเราได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาใกล้บ้านคุณ
หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.ghbank.co.th
ติดต่อ G H BANK Call Center : 02 645 9000
แหล่งข้อมูลอ้างอิงเนื้อหาจาก:
- https://www.reic.or.th/Knowledge/SuggestionHomeDetail/127
- https://www.youtube.com/watch?v=oh0cCfcVp6s
- https://www.ddproperty.com/
- https://www.singhaestate.co.th/
- https://blog.ghbank.co.th/idea-for-vacant-land/
- https://www.youtube.com/watch?v=i3msHuE1580
- https://www.madamhome.in.th/
- https://www.dotproperty.co.th/
- https://www.terrabkk.com/