สินเชื่อทั่วไป เป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ออกแบบมาเพื่อให้ทุกคน สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ แต่สำหรับสินเชื่อผู้สูงอายุ จะเป็นอีกหนึ่งสินเชื่อทางเลือก ที่ออกแบบมาเพื่อบุคคลเฉพาะกลุ่มให้สามารถขอสินเชื่อจากธนาคาร โดยใช้บ้านเป็นหลักประกัน
หากคุณกำลังหาข้อมูลเพื่อตัดสินใจในการเลือกประเภทสินเชื่อ มาดูกันว่าสินเชื่อเฉพาะกลุ่มอย่างสินเชื่อผู้สูงอายุ มีความแตกต่างกับสินเชื่อทั่วไปอย่างไร? แบบไหนคุ้มกว่า? เพื่อช่วยให้คุณได้เลือกสินเชื่อที่ตอบความคุ้มค่าได้มากที่สุด
สินเชื่อผู้สูงอายุ vs สินเชื่อทั่วไป คืออะไร? มาทำความรู้จักให้ครบ
จะเลือกสินเชื่อผู้สูงอายุ หรือสินเชื่อแบบทั่วไปดี อาจจะเป็นโจทย์สำหรับหลายท่านที่กำลังมองหาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แต่จริงๆ แล้ว สินเชื่อทั้ง 2 รูปแบบ มีความเกี่ยวข้องกันในเรื่องของที่อยู่อาศัยเท่านั้น ส่วนในเรื่องของรายละเอียดนั้น มาดูกันว่าเหมือนหรือต่างกันตรงไหนบ้าง
สินเชื่อผู้สูงอายุ คืออะไร อยากขอต้องรู้อะไรบ้าง?
สำหรับสินเชื่อผู้สูงอายุ หรือ Reverse Mortgage คือ ประเภทของสินเชื่อที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ และต้องเป็นผู้สูงอายุที่มีบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองด้วย เนื่องจากการขอสินเชื่อประเภทนี้ จะต้องใช้ที่อยู่อาศัยมาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ
หากจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เป็นการนำบ้านไปจำนองกับธนาคาร เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ โดยธนาคารที่ให้สินเชื่อจะทำการประเมินราคาที่อยู่อาศัย และจะทำการแบ่งชำระเงินให้กับผู้ขอสินเชื่อเป็นรายเดือนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบตามจำนวนในสัญญา หรือผู้กู้เสียชีวิต
ซึ่งหลังจากที่ธนาคารชำระสินเชื่อจนครบตามสัญญาแล้ว ผู้กู้ก็ยังสามารถอาศัยอยู่ในที่อยู่อาศัยนั้นจนกว่าจะเสียชีวิต และยังสามารถขอสินเชื่อเพิ่มเติม หรือจะชำระสินเชื่อคืนธนาคารเพื่อไถ่ถอนที่อยู่อาศัยกลับมาก็ได้เช่นเดียวกัน
สิ่งที่ต้องรู้ในการขอสินเชื่อผู้สูงอายุ
- เป็นสินเชื่อสำหรับ ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 80 ปี
- ผู้ขอสินเชื่อต้องไม่เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
- ที่อยู่อาศัยที่ใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อต้องเป็นของตนเอง
- ที่อยู่อาศัยที่นำมาขอสินเชื่อ จะต้องปลอดภาระจำนอง หรือจัดการปิดสินเชื่อบ้านก่อนหน้าเรียบร้อยแล้ว
สินเชื่อทั่วไปคืออะไร อยากขอต้องรู้อะไรบ้าง?
สำหรับสินเชื่อทั่วไป คือ ประเภทของสินเชื่อบ้านที่ออกแบบมาเพื่อบุคคลทั่วไป ที่ต้องการมีบ้านเป็นของตนเอง หรือก็คือใครที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเพื่ออยู่อาศัยเอง หรือเพื่อลงทุนอสังหา ก็สามารถขอสินเชื่อประเภทนี้เพื่อนำไปซื้อที่อยู่อาศัยที่ต้องการนั่นเอง
โดยการขอสินเชื่อบ้าน ธนาคารจะมีการให้วงเงินสินเชื่อสำหรับนำไปซื้อบ้าน ซึ่งอาจให้เต็มวงเงินหรือไม่เต็มวงเงินก็จะขึ้นอยู่กับทางธนาคารกำหนด และหลังจากการอนุมัติสินเชื่อแล้ว ผู้กู้จะต้องทำการชำระเงินคืนเป็นงวด ร่วมกับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกำหนด จนกว่าจะครบตามสัญญา
สิ่งที่ต้องรู้ในการขอสินเชื่อทั่วไป
- เป็นสินเชื่อเพื่อคนอยากมีบ้านทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัทเอกชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมไปถึงผู้ที่ไม่ใช่พนักงานประจำ เช่น ค้าขาย ฟรีแลนซ์ เป็นต้น
- เป็นสินเชื่อที่สามารถขอเพื่อนำไปซื้อที่อยู่อาศัยได้หลากหลาย เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด คอนโด ทาวน์เฮาส์ ทาวน์โฮม ที่ดิน บ้านมือสอง รวมไปถึงการนำไปต่อเติม ขยาย ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่มีอยู่แล้วด้วย
- ระยะเวลาในการขอสินเชื่อต้องไม่เกิน 40 ปี และรวมกับอายุผู้กู้ต้องไม่เกิน 70 ปี
สินเชื่อผู้สูงอายุ vs สินเชื่อทั่วไป ต่างกันอย่างไร?
สิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนมีอยู่ 3 ประเด็นหลักๆ คือ
- รูปแบบของสินเชื่อ เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นความแตกต่างของวัตถุประสงค์ของสินเชื่ออย่างชัดเจน
- สินเชื่อทั่วไป จะเป็นการขอสินเชื่อเพื่อนำไปซื้อหรือลงทุนที่อยู่อาศัย ซึ่งผู้ขอสินเชื่อจะต้องชำระสินเชื่อคืนทุกเดือน โดยจะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยตามที่ธนาคารกำหนด
- สินเชื่อผู้สูงอายุ จะเป็นสินเชื่อแบบย้อนกลับ โดยแทนที่จะขอสินเชื่อเพื่อนำไปซื้อที่อยู่อาศัย แต่จะเป็นการนำที่อยู่อาศัยที่ไม่มีภาระจำนอง ไปเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ และธนาคารจะเป็นผู้จ่ายเงินให้กับผู้ขอสินเชื่อทุกงวดตามกำหนด
- ช่วงอายุของผู้ขอสินเชื่อ สินเชื่อผู้สูงอายุจะเป็นสินเชื่อเฉพาะกลุ่ม ที่ออกมาแบบเพื่อผู้สูงอายุในช่วงอายุระหว่าง 60-80 ปี ที่ต้องการสภาพคล่องทางการเงินหลังชีวิตเกษียณ ส่วนสินเชื่อทั่วไปจะออกแบบเพื่อผู้ขอสินเชื่อที่ต้องการมีบ้านทุกคน โดยอายุของผู้กู้กับระยะเวลาในการขอสินเชื่อต้องรวมกันไม่เกิน 70 ปี
- การถือกรรมสิทธิ์บ้านของผู้ขอสินเชื่อ
- สินเชื่อทั่วไป เมื่อมีการจดจำนองแล้ว กรรมสิทธิ์ของที่อยู่อาศัยนั้น จะเป็นของธนาคาร หากผู้ขอสินเชื่อทำการผ่อนชำระสินเชื่อจนครบถ้วนตามสัญญาของธนาคารแล้ว ผู้ขอสินเชื่อจะกลายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยนั้น
- สินเชื่อผู้สูงอายุ กรรมสิทธิ์ของบ้านจะเป็นของธนาคารหลังจากมีการขอสินเชื่อแล้ว แต่ผู้ขอสินเชื่อยังอาศัยอยู่ในบ้านหรือที่อยู่อาศัยนั้นต่อไปได้เรื่อยๆ แม้ธนาคารจะชำระเงินให้ครบทุกงวดแล้วก็ตาม และในกรณีที่ผู้ขอสินเชื่อเสียชีวิต ทายาทของผู้ขอสินเชื่อสามารถมาชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองได้ แต่ถ้าไม่มีการมาไถ่ถอน ธนาคารจะนำที่อยู่อาศัยนั้นไปขายทอดตลาดต่อไป
ขอสินเชื่อบ้านแบบไหนจึงตอบโจทย์ความคุ้มค่า
ความคุ้มค่าของการขอสินเชื่อบ้านสำหรับ สินเชื่อผู้สูงอายุ vs สินเชื่อทั่วไป
- สินเชื่อผู้สูงอายุ มีความคุ้มค่ากับผู้สูงอายุที่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และต้องการนำเงินมาใช้สร้างหลักประกันความมั่นคงหลังการเกษียณ โดยสามารถนำเงินที่ได้ไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น
- นำไปใช้จ่ายเพื่อดำรงชีพในแต่ละเดือน
- ใช้เป็นเงินเกษียณสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีบำเหน็จ บำนาญ
- นำไปชำระหนี้อื่นๆ
- นำไปต่อยอดลงทุน หรือทำธุรกิจได้
- สินเชื่อทั่วไป มีความคุ้มค่ากับบุคคลทั่วไปที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง หรือจะเลือกขอสินเชื่อเพื่อลงทุนอสังหาริมทรัพย์ก็ได้เช่นกัน สำหรับประโยชน์ในการขอสินเชื่อทั่วไป ก็มีอยู่หลากหลาย เช่น
- ผู้ที่อยากมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ไม่ต้องหาเงินก้อนใหญ่มาซื้อทีเดียว แต่สามารถขอสินเชื่อเพื่อให้ธนาคารชำระค่าบ้านล่วงหน้าไปก่อน จากนั้นจึงทำการผ่อนชำระกับธนาคารในแต่ละเดือน
- ช่วยให้สภาพคล่องทางการเงินของคุณดี เนื่องจากไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อซื้อบ้านทีเดียว และยังช่วยให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้ดี เนื่องจากจำนวนเงินในการผ่อนชำระจะค่อนข้างคงที่ในแต่ละปี
- สำหรับผู้ที่อยากลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ก็สามารถขอสินเชื่อเพื่อนำไปซื้อที่อยู่อาศัย และต่อยอดในการทำธุรกิจได้หลากหลาย เช่น ซื้อเพื่อปล่อยเช่า ซื้อเพื่อเก็งกำไร ซื้อเพื่อนำมาปรับปรุงและขายหรือปล่อยเช่าต่อ ฯลฯ
ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยกับ ธอส.
หากคุณตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกสินเชื่อที่อยู่อาศัยแบบไหน ที่ตอบโจทย์และคุ้มค่ากับคุณได้มากที่สุด ที่ ธอส. เรามีโครงการสินเชื่อที่ครอบคลุมกับคนไทยทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไป ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง หรือบุคคลเฉพาะกลุ่มอย่างกลุ่มผู้สูงอายุ ก็สามารถขอสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินได้เช่นเดียวกัน
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับโครงการสินเชื่อบ้านจาก ธอส. สามารถกรอกข้อมูล เพื่อขอคำแนะนำด้านสินเชื่อ และให้เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับ >>> ได้ที่นี่
เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ที่คอยให้คำแนะนำ พร้อมเปรียบเทียบและหยิบยื่นข้อเสนอด้านสินเชื่อที่ดีที่สุดให้กับคุณ ติดต่อเราได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาใกล้บ้านคุณ
หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.ghbank.co.th
ติดต่อ G H BANK Call Center : 02 645 9000