สังคมไทยกำลังก้าวสังคมสูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบ ในอนาคตจะมีผู้เข้าสู่วัยเกษียณมากขึ้น การวางแผนชีวิตหลังเกษียณจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงทั้งด้านการเงิน ด้านที่อยู่อาศัย รวมไปถึงด้านสุขภาพด้วย
บทความนี้ ธอส. จะแนะนำการวางแผนอนาคตเมื่อต้องเข้าสู่วัยเกษียณ เพื่อให้การดำรงชีวิตในอนาคตมีความพอเพียงและมีความสุขในบั้นปลาย เรามาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง!
วางแผนอนาคตอย่างไรเมื่อต้องเข้าสู่วัยเกษียณ
การวางแผนอนาคตวัยเกษียณเป็นเรื่องที่มีสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากการดำรงชีวิตของผู้สูงวัยนั้นต้องใช้เงินมากพอสมควร จึงจำเป็นต้องวางแผน และดำเนินการต่างๆ เอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในวัยเกษียณได้โดยไม่ขัดสน
ธอส. ขอแนะนำให้คุณวางแผนโดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- วางแผนด้านการเงิน
แน่นอนว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับการใช้ชีวิตวัยเกษียณก็คือ เงิน เนื่องจากเมื่อถึงเวลาเกษียณจากงานประจำที่ทำ ทำให้ไม่มีรายรับในส่วนนี้เข้ามา ซึ่งหากไม่มีเงินเก็บ หรือแหล่งเงินได้สำรองไว้ อาจทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตได้
เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการวางแผนด้านการเงินไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยมีวิธีการดังนี้
ประมาณรายจ่ายหลังเกษียณ
เนื่องจากผู้ที่เกษียณจะต้องอยู่โดยไม่มีรายได้จากงานประจำเข้ามาเป็นเวลาหลายสิบปี เพราะฉะนั้นจึงต้องมาทำการประมาณรายจ่ายว่า ต้องมีเงินเท่าไหร่? จึงจะเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ โดยสามารถคำนวณได้ดังนี้
“ ค่าใช้จ่ายต่อปี (70% ของค่าใช้จ่ายปัจจุบัน) X จำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณ ”
ยกตัวอย่าง เช่น ตั้งใจจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก 20 ปี หากในปัจจุบันมีรายจ่ายเฉลี่ยเดือนละ 5,000 บาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย) จะสามารถนำมาคำนวณได้ดังนี้
“ (5,000 บาท X 12 เดือน) X 20 ปี = 1,200,000 บาท ”
จะเห็นได้ว่าผู้ที่เกษียณต้องมีเงินเก็บประมาณ 1,200,000 บาทก่อนอายุ 60 ปี ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินดังกล่าวเป็นเพียงค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตเท่านั้น ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพ หรือค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา
แหล่งเงินได้หลังเกษียณ
นอกจากการเก็บเงินแล้ว ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณยังสามารถมีรายได้จากแหล่งเงินต่างๆ ดังนี้
- กองทุนประกันสังคม หากคุณเป็นพนักงานประจำที่จ่ายเบี้ยประกันสังคมติดต่อกัน 15 ปีขึ้นไป คุณจะได้รับบำนาญชราภาพประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน
- กองทุนบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ หากคุณเป็นข้าราชการ เมื่อเกษียณอายุจะได้รับ บำนาญเฉลี่ยไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย หรือ บำเหน็จเป็นเงินก้อน = เงินเดือนเดือนสุดท้าย X อายุราชการ
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่นายจ้าง และลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมไว้ใช้จ่าย โดยจะสะสมเป็นจำนวนเงินเฉลี่ย 2% – 15% ของเงินเดือน และจะจ่ายคืนให้เมื่อลูกจ้างเกษียณอายุ ออกจากงาน ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF เป็นกองทุนระยะยาวที่ต้องทำการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ หุ้น หุ้นต่างประเทศ ทองคำ เป็นต้น
- ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นการสะสมทรัพย์ในระยะยาวที่จะคืนเบี้ยประกันให้เมื่อผู้เอาประกันเข้าสู่วัยเกษียณอายุ แม้จะมีผลตอบแทนไม่มาก แต่จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล หรือเงินชดเชยยามเสียชีวิตอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า เรื่องเงินเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตหลังเกษียณ ดังนั้นจึงควรมีการวางแผนอนาคตไว้ให้พร้อมและมีเงินเพียงพอที่จะใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น
วางแผนด้านที่อยู่อาศัย
ที่อยู่อาศัย เป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญสำหรับวัยเกษียณอายุ เนื่องจากยิ่งอายุมากขึ้น สุขภาพก็ยิ่งเสื่อมโทรม มีเรี่ยวแรงน้อยลงกว่าเดิม หากเป็นบ้านที่ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อรองรับชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดอันตรายจากอุบัติเหตุภายในบ้านได้ ดังนั้น จึงควรมีการติดตั้งอุปกรณ์และปรับปรุงส่วนต่างๆ ของบ้านให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เช่น
- การติดตั้งราวจับรอบบ้านเพื่อลดอุบัติเหตุจากการล้ม
- การปรับปรุงห้องน้ำเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุจากพื้นลื่น
- การติดตั้งอุปกรณ์ช่วยเหลือสำหรับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว
นอกจากนี้ยังมีจุดอื่นๆ ที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติม หากต้องการทราบว่า ต้องปรับปรุงที่พักอาศัยอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ สามารถอ่านได้ที่บทความ >>> 5 แนวคิด เนรมิตบ้านในฝันสำหรับผู้สูงอายุ
วางแผนด้านสุขภาพ
สุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญกับวัยเกษียณเช่นเดียวกัน เนื่องจากยิ่งมีอายุมากขึ้น โรคภัยต่างๆ ก็เกิดขึ้นได้ง่าย ซึ่งในแต่ละครั้งก็มีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว
เพราะฉะนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมที่อาจจะมีค่าใช้จ่ายจากโรคภัยต่างๆ เหล่านี้ ธอส. ขอแนะนำให้คุณทำ ประกันสุขภาพ หรือประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งจะช่วยรองรับค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลลงไปได้มากเลยทีเดียว
แนะนำ! สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage)
สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ Reverse Mortgage เป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยรูปแบบหนึ่งสำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่ 60-80 ปี รูปแบบการให้สินเชื่อจะเป็นแบบย้อนกลับ กล่าวคือผู้กู้นำบ้านที่อยู่อาศัยจำนองไว้กับธนาคารที่ยื่นกู้
โดยธนาคารจะจ่ายเงินเข้าบัญชีผู้กู้ทุกเดือน เมื่อครบกำหนดจ่ายเงินทุกงวดแล้ว ผู้กู้ยังสามารถอยู่อาศัยต่อในหลักประกันได้จนกว่าจะเสียชีวิต ซึ่งในระหว่างการรับเงินรายเดือน หรือเมื่อรับเงินครบจำนวนตามสัญญากู้เงิน ผู้กู้สามารถชำระหนี้ปิดบัญชีไถ่ถอนจำนอง เพียงชำระเงินต้น ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม
อาจเรียกได้ว่าธนาคารเป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายดำรงชีพรายเดือนให้แก่ผู้กู้ โดยมีบ้านที่อยู่อาศัยเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันนั่นเอง
ซึ่งธนาคารจะให้กู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท ต่อราย โดยระยะเวลาการกู้อย่างน้อย 6 เดือน และสูงสุดไม่เกิน 25 ปี โดยอายุผู้กู้รวมกับระยะเวลาขอกู้ต้องไม่เกิน 85 ปี
การยื่นกู้โดยใช้ที่ดินพร้อมอาคาร (บ้าน) ค้ำประกัน ธนาคารให้กู้ไม่เกินร้อยละ 50 ของราคาประเมินที่ดินและอาคาร ส่วนการยื่นกู้โดยใช้ห้องชุดค้ำประกัน ให้กู้ไม่เกินร้อยละ 30 ของราคาประเมินห้องชุด
ผู้ใช้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ จะได้รับประโยชน์ต่างๆ ดังนี้
- เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ
- เหมาะกับผู้สูงอายุหรือคนวัยเกษียณที่ไม่ได้รับเงินบำนาญ บำเหน็จ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในวัยชรา หรือมีไม่เพียงพอ
- เสริมสภาพคล่องทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น
- มีหลักประกันว่าจะมีรายได้ประจำในแต่ละเดือน
- นำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หมุนชำระภาระหนี้สินต่าง ๆ
- เงินที่ได้จากธนาคารทุกเดือนแบ่งออกมาเก็บเป็นเงินสำรองได้อีก
- ยังอยู่อาศัยในบ้านได้ตลอดอายุขัยของผู้กู้
หากคุณกำลังสนใจสินเชื่อ Reverse Mortgage สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านเว็บไซต์ของ ธอส. ได้ที่นี่
เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่พร้อมให้คำปรึกษาอย่างเต็มที่ หรือติดต่อเราด้วยตัวเองได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาใกล้บ้านคุณ หรือ ติดต่อศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์: 02 645 9000