ปัจจุบัน “บ้านมือสอง” กำลังกลายเป็นที่สนใจสำหรับคนที่มองหาที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง เพราะนอกจากจะมีสภาพดีเทียบเท่าได้กับบ้านสร้างใหม่แล้ว ยังมีช่องทางการถือโอนกรรมสิทธิ์ที่หลากหลายตามความต้องการและเงื่อนไขของแต่ละคนด้วย หนึ่งในนั้นก็คือการประมูลบ้านมือสอง
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังวางแผนประมูลบ้านมือสองสักหลัง ลองมาทำความรู้จักข้อควรรู้และวิธีประมูลบ้านมือสองให้ได้มาตรฐานกันได้ในบทความนี้
บ้านมือสอง ดีกว่าอย่างไร
เมื่อพูดว่า “บ้านมือสอง” หลายคนอาจยังรู้สึกไม่มั่นใจหรือแน่ใจเต็มร้อยว่าจะดีสมบูรณ์เหมือนบ้านมือหนึ่งหรือไม่ ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเองตอนหลังหรือเปล่า จริง ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเลือกบ้านแบบไหนก็มีโอกาสได้ทั้งของที่ดีและไม่ดีเหมือนกันถ้าไม่ได้ตรวจสอบให้ดีก่อนซื้อ ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าบ้านมือหนึ่งหรือบ้านมือสองดีหรือด้อยกว่ากัน เพราะบ้านทั้งสองแบบย่อมมีทั้งมีข้อได้เปรียบและข้อเสียเปรียบแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของผู้ซื้อ รวมทั้งวิธีหรือเคล็ดลับเลือกซื้อบ้านมือสองอย่างชาญฉลาดนั่นเอง
คราวนี้เมื่อกล่าวถึงบ้านมือสองแล้ว ก็ต้องบอกว่าการซื้อบ้านมือสองนั้นมีดีกว่าหลายด้าน เพราะ…
-
ราคาถูกกว่า
คุณสามารถเลือกบ้านสภาพดี ขนาดบ้านที่ใช่ รวมทั้งตั้งอยู่บนทำเลที่ต้องการได้ โดยซื้อในราคาสบายกระเป๋า ไม่ต้องจ่ายแพง หรือจะขอต่อรองราคากับเจ้าของบ้านโดยตรง ที่สำคัญ บ้านทำเลใจกลางเมืองส่วนใหญ่มักมีราคาแพงในกรณีที่เป็นโครงการสร้างใหม่ หรือไม่ก็มักมีผู้ซื้อหรือดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่เป็นเจ้าของอยู่แล้ว หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มองหาบ้านทำเลใจกลางเมืองอยู่ในงบประมาณพอเหมาะ บ้านมือสองก็เป็นคำตอบที่น่าสนใจไม่น้อย
-
ย้ายเข้าอยู่ได้เร็วกว่า
ถ้าคุณไม่ได้ซีเรียสเรื่องการตกแต่งหรือมีแบบบ้านที่อยากออกแบบเพิ่มเติมอยู่แล้ว ก็ย้ายเข้าอยู่ในบ้านที่ซื้อได้ทันที เพราะบ้านมือสองหลายหลังมีสภาพดี ไม่จำเป็นต้องซ่อมแซมให้มากมาย หรือหากต้องการต่อเติมส่วนอื่นของบ้านเพิ่มเติม ก็ทำได้หลังจากย้ายเข้าไปแล้วเช่นกัน ที่สำคัญ อาจได้เครื่องเรือนหรือของตกแต่งสภาพดีอื่น ๆ แถมมาหลังซื้อขายอีกด้วย
-
รู้ปัญหาก่อนซื้อ
กรณีนี้คุณมีสิทธิเข้าสำรวจพื้นที่ภายในบ้านหรือพูดคุยกับเจ้าของบ้านได้ว่าสภาพบ้านโดยรวมเป็นอย่างไร มีส่วนไหนชำรุดทรุดโทรมบ้าง และจะใช้เวลาในการบำรุงซ่อมแซมมากน้อยแค่ไหน สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการวางแผนซ่อมแซม ยื่นขอสินเชื่อซ่อมแซมบ้าน เข้าอยู่อาศัย ตลอดจนตัดสินใจซื้อในท้ายที่สุด เพื่อที่จะได้ชั่งน้ำหนักถูกว่าควรนำเงินลงทุนกับบ้านหลังนี้หรือบ้านหลังอื่นแทน
-
เห็นสภาพบ้านจริง
สิ่งสำคัญที่สุดของการเลือกบ้านในฝันก็คือเข้าสำรวจสภาพบ้านจริง โดยการสำรวจสถานที่จริงนั้นครอบคลุมตั้งแต่ทำเลที่ตั้ง สภาพแวดล้อมรอบข้าง การเดินทางสัญจรไปมา ห้างร้านและสถานที่สำคัญ รวมทั้งภายในห้องหับต่าง ๆ ของบ้านทั้งหลัง เพื่อพิจารณาว่าสะดวกหรือไม่ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตเราหรือเปล่า และคุ้มค่ากับเงินที่จะลงทุนซื้อบ้านหลังนั้น ๆ หรือไม่
ประมูลบ้านมือสอง กับข้อควรรู้มีอะไรบ้าง
โดยทั่วไปแล้ว วิธีเป็นเจ้าของบ้านมือสองแบ่งออกเป็น 3 วิธี ได้แก่ ซื้อจากเจ้าของโดยตรง ซื้อจากการขายของธนาคาร และการประมูลกับกรมบังคับคดี โดยบทความนี้จะเน้นวิธีเป็นเจ้าของบ้านแบบสุดท้ายก็คือ ประมูลบ้านมือสอง มาดูกันว่าข้อควรรู้ก่อนประมูลบ้านมือสองมีอะไรบ้าง เพื่อเอาไว้ใช้เป็นแนวทางในการเตรียมตัวก่อนเป็นเจ้าของบ้านมือสองด้วยวิธีดังกล่าว
-
ตรวจสอบเอกสารและโฉนด
ข้อดีข้อหนึ่งของการซื้อบ้านมือสองคือย้ายเข้าอยู่ได้ทันที แต่กรณีประมูลนั้นต้องพิจารณาด้วยว่าชื่อในโฉนดยังเป็นของเจ้าของเดิมหรือไม่ หากยังเป็นชื่อเจ้าของเดิมอยู่ บุคคลนั้นก็มีสิทธิอาศัยอยู่ในบ้านได้จนกว่าจะมีการซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ซึ่งกรณีนี้เจ้าของบ้านคนใหม่ อาจยื่นคำร้องให้กรมบังคับคดีออกใบแจ้งศาล เพื่อนำไปติดหน้าบ้านและให้เจ้าของบ้านเก่าย้ายออกภายใน 30 วัน
-
อัตราแข่งขันประมูลสูง
จริงอยู่ว่าการประมูลบ้านมือสองเป็นวิธีที่ทำให้ได้บ้านในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด ถึงอย่างนั้น ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงด้วยว่าคุณมีโอกาสได้บ้านมือสองที่มีราคาแพงกว่าท้องตลาดเช่นกัน หากพิจารณาธรรมชาติของการประมูลแล้ว ก็คือการยกราคาสู้กันในมูลค่าที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่มีใครยกราคาประมูลสู้นั่นเอง
-
ต้องวางเงินก้อนประกันก่อน
ผู้ประมูลบ้านจำเป็นต้องวางเงินก้อนเป็นประกันก่อน โดยมูลค่าเงินประกันนั้นจะคำนวณตามประเมินราคาของกรมบังคับคดี และแจ้งราคาไว้ชัดเจน เช่น ราคาประเมินทรัพย์ 200,000 – 500,000 บาท ต้องวางเงินก้อนประกันมูลค่า 25,000 บาท หรือราคาประเมินทรัพย์ 500,000 – 1,000,000 บาท ต้องวางเงินก้อนประกันมูลค่า 50,000 บาท เป็นต้น
-
ต้องชำระเงินภายในกำหนดเวลา
ผู้ประมูลบ้านได้ต้องชำระเงินค่าบ้านทั้งหมดภายใน 15 วันหลังที่ซื้อสินทรัพย์นั้น ถึงอย่างนั้น กรณีที่คุณทำเรื่องขอยื่นกู้สินเชื่อบ้านหรืออยู่ในขั้นตอนรวบรวมเงินก้อนอยู่นั้น ก็มีสิทธิทำเรื่องยื่นคำร้องขอขยายเวลาการชำระเงินได้ ซึ่งจะได้รับสิทธิขยายระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 90 วัน หากครบกำหนดชำระเงินแล้ว ยังไม่ได้ชำระส่วนต่างที่เหลือ จะถือเป็นโมฆะรวมทั้งริบเงินประกันมัดจำทั้งหมด
บ้านมือสอง ประมูลอย่างไรให้ได้บ้านดี
เมื่อเข้าใจข้อควรรู้และพื้นฐานการประมูลบ้านมือสองแล้ว ผู้สนใจประมูลบ้านอาจต้องศึกษาขั้นตอนคร่าว ๆ ของการประมูลไว้ เพื่อเตรียมตัวในการเลือกประมูลบ้านมือสองคุณภาพและตรงใจผู้ซื้อ โดยทั่วไปแล้ว วิธีประมูลบ้านมือสองทำได้ ดังนี้
- ตรวจสอบบ้านก่อนประมูล ควรเข้าไปดูบ้านหรือสถานที่จริงทุกครั้งก่อนประมูลบ้านหลังใดก็ตาม หากเกิดจุดชำรุดหรือความเสียหายหลังได้รับบ้านมาแล้ว ผู้ซื้อไม่สามารถเอาผิดกับเจ้าของบ้านเดิมได้ เพราะผู้ขายทอดตลาดไม่มีหน้าที่รับผิดชอบส่วนดังกล่าวตามกฎหมาย
- ปรึกษาผู้รู้ก่อนประมูล ควรสอบถามและขอคำแนะนำจากช่างหรือผู้ที่มีประสบการณ์ในการซื้อหรือประมูลบ้านมือสอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหาแหล่งบ้านมือสองที่น่าเชื่อถือ การซ่อมแซมตกแต่ง และการฟื้นฟูสภาพบ้าน ซึ่งล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปรึกษาให้ละเอียดก่อนเลือกประมูล
- ประเมินราคาตลาด ควรประเมินราคาตลาด โดยเทียบราคาบ้านมือสองที่มีสภาพ ขนาด และทำเลใกล้เคียงกัน รวมทั้งหักค่าก่อสร้าง ค่าซ่อมแซม และค่าตกแต่งต่าง ๆ ออกไป เพื่อให้ได้ราคาสุทธิของบ้านหลังนั้น เพื่อใช้ยึดเป็นเกณฑ์ราคาในการประมูลสู้ ไม่ตั้งราคาสู้ตามกระแสปั่นของหน้าม้า
- ตรวจสอบทำเล หาข้อมูลหรือลงพื้นที่จริงตรงทำเลพื้นที่ตั้ง เพื่อให้เห็นสภาพบ้าน ทำเล สภาพแวดล้อม และสถานที่ใกล้เคียงจริง
- ตรวจสอบประวัติผู้ขายทอดตลาด กรณีที่ผู้ขายทอดตลาดเป็นบุคคลหรือเอกชน ควรตรวจสอบประวัติว่าบุคคลนั้นมีอำนาจในการขายทรัพย์สินตามกฎหมายหรือไม่ ได้รับมอบอำนาจมาอย่างถูกต้องและชอบธรรมหรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาเกิดขึ้นเมื่อโอนกรรมสิทธิ์
- ตรวจสอบระบบสาธารณูปโภค ตรวจสอบสภาพของระบบและข้อมูลสาธารณูปโภคตั้งแต่มิเตอร์น้ำ ไฟฟ้า และโทรศัพท์ โดยดูว่ามีภาระหนี้สินคงค้างอยู่หรือไม่ มากน้อยเท่าไหร่ ต้องเสียค่าเบี้ยปรับอย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นธุระที่ตกมาเป็นของผู้ซื้อภายหลังเช่นกัน
- พิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ ได้แก่ เงื่อนไขการชำระเงิน การวางเงินมัดจำ ค่าธรรมเนียมการประมูล และการจ่ายภาษีหลังประมูล
เพราะ “บ้าน” คือจุดเริ่มต้นของความหวังและพื้นที่สำหรับคนพิเศษ การเลือกบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูให้ดี พิจารณาให้รอบคอบ ก่อนจะตัดสินใจลงหลักปักฐานเลือกบ้านหลังนั้น หากคุณกำลังมองหาบ้านหลังแรกอยู่ ลองใช้บริการ G H Bank Smart NPA แอปพลิเคชันรวมข้อมูลบ้านมือสองของธนาคารต่าง ๆ พร้อมอัปเดตทุกข่าวสารเรื่องการประมูลบ้านมือสองและอสังหาริมทรัพย์ที่น่าสนใจ จบ ครบที่นี่ ที่เดียว
พิเศษสุด! ใครที่สนใจหรือกำลังมองหาบ้านมือสองคุณภาพดี มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ เข้ามาดูข้อมูลบ้านมือสองพร้อมโปรโมชันดีได้ที่ GHB Home Center
ช่องทางติดต่อสำหรับผู้ที่สนใจทรัพย์สินมือสองของธนาคารอาคารสงเคราะห์
ติดตามข้อมูลข่าวสารของธนาคารเพิ่มเติมได้ที่ www.ghbhomecenter.com และ www.ghbank.co.th หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านทางโทรศัพท์
- ฝ่ายบริหาร NPA : 0-2202-1016, 0-2202-1582, 0-2202-1583
- ฝ่ายบริหารหนี้ภูมิภาค : 0-2202-1170, 0-2202-2036
- ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร. 0-2645-9000 กด 4
- Inbox : m.me/GHBank
ติดต่อด้วยตัวเองได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือที่ฝ่ายบริหาร NPA ชั้น 8 อาคาร 1 ธอส. สำนักงานใหญ่