ตรวจรับบ้านด้วยตัวเองต้องดูอะไรบ้าง

/
/
ตรวจรับบ้านด้วยตัวเองต้องดูอะไรบ้าง

หลังจากซื้อบ้านแล้ว การตรวจรับบ้าน เป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่เราจะเซ็นรับมอบบ้าน และเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ๆ

การเตรียมตัว อุปกรณ์ และจุดที่ต้องเช็ก

หลังจากซื้อบ้านแล้ว การตรวจรับบ้าน เป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่เราจะเซ็นรับมอบบ้าน และเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ๆ เพราะต้องใช้ความรู้และความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าตัวบ้านสมบูรณ์ที่สุด 

หากตัวบ้านมีตำหนิ ก็สามารถแจ้งให้โครงการแก้ไขได้ทันท่วงที  เพราะหากเซ็นรับมอบบ้านไปแล้ว โครงการอาจซ่อมแซมให้ล่าช้า หรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ซึ่งก็ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านที่ไม่จำเป็นเลย 

เพราะฉะนั้น หากคิดจะไปตรวจรับบ้านด้วยตัวเอง โดยไม่ผ่านบริษัทรับตรวจบ้านแล้ว ก็ต้องวางแผน เตรียมอุปกรณ์ และศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนที่สุด ซึ่งเราได้เตรียมไว้ให้คุณที่นี่แล้ว

รูปที่ 1 ภายในบทความตรวจรับบ้าน

การเตรียมตัวก่อนไปตรวจรับบ้าน

  • ตรวจสอบสัญญาจะซื้อจะขาย และเงื่อนไขต่าง ๆ ให้แน่ใจอีกครั้ง
  • นัดวันและเวลาเข้าไปตรวจรับบ้านกับเจ้าหน้าที่โครงการ (ควรนัดช่วงเช้า เพื่อให้มีแสงเพียงพอสำหรับการตรวจ และใช้เวลาได้เต็มที่)
  • เตรียมรายละเอียดโครงการ เช่น ขนาดพื้นที่ เฟอร์นิเจอร์ วัสดุที่ใช้ ฯลฯ เพื่อใช้เปรียบเทียบกับตัวบ้านจริง 
  • ควรไปตรวจรับบ้านอย่างน้อย 2 คน ขึ้นไป เพื่อจะได้ช่วยกันตรวจสอบ

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมสำหรับตรวจรับบ้านด้วยตัวเอง

  1. ดินสอ / ปากกา และสมุดโน้ต: ใช้จดรายละเอียดต่าง ๆ
  2. กระดาษ Post-it / เทปกาวชนิดลอกง่าย: ใช้มาร์กจุดที่ต้องให้ช่างแก้ไข
  3. ไฟฉาย: ใช้ส่องเพื่อเช็กสีและความเรียบของพื้นผิวต่าง ๆ เช่น ผนัง กระเบื้อง ระดับฝ้าเพดาน ฯลฯ
  4. ตลับเมตร / สายวัด: ใช้วัดพื้นที่ว่าตรงตามแบบบ้านหรือไม่
  5. ดินน้ำมัน / ถุงพลาสติก: ใช้สำหรับปิดรูระบายน้ำ เพื่อเช็กการรั่วซึมในห้องน้ำ
  6. ถังน้ำ / สายยาง: ใช้เพื่อทดสอบการรั่วซึมของขอบยางประตู หน้าต่าง และการระบายน้ำ
  7. ไขขวงด้ามไม้ / เหรียญสิบ / ค้อนหัวยาง: ใช้เคาะกระเบื้องเพื่อเช็กความแน่นของปูนกาวใต้กระเบื้อง 
  8. กระจกบานเล็ก: ใช้สำหรับส่องเช็กความเรียบร้อยของขอบบานประตูด้านบน ซึ่งเป็นจุดอับสายตา
  9. บันได: ใช้สำหรับขึ้นไปตรวจเช็กเหนือฝ้าเพดาน (อาจติดต่อขอยืมจากทางโครงการ)
  10. เครื่องตรวจสอบเบรกเกอร์ตัดไฟรั่วไหล (ELCB Tester) / ไขควงวัดไฟ: ใช้เช็กความผิดปกติของเต้ารับ (ควรศึกษาวิธีใช้งานอย่างละเอียด หรือให้ผู้เชี่ยวชาญทดสอบ)

จุดยอดฮิตที่ต้องเช็กก่อนตรวจรับบ้าน

1. ภายนอกบ้าน

  • ประตูรั้ว

ควรตรวจดูตามขอบมุมประตูให้ดี รอยเชื่อมต้องไม่มีรู และทาสีกันสนิมเรียบร้อย โดยเฉพาะขอบประตูด้านล่าง และควรทดสอบว่าโครงสร้างประตูแข็งแรงหรือไม่ ล้อและบานเลื่อน ไม่ฝืดหรือลื่นจนเกินไป 

  • พื้นที่รอบบ้าน ที่จอดรถ

ที่จอดรถแบบที่อยู่ภายนอกโครงสร้างบ้าน มักจะทรุดตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากเป็นที่จอดรถแบบอยู่ภายในโครงสร้างบ้านก็จะไม่เกิดปัญหานี้ แต่พื้นที่รอบบ้านก็อาจจะทรุดตัวได้อยู่ดี 

ปัญหาดินทรุดตัวตรวจสอบได้ยาก ผู้ซื้ออาจต้องเตรียมใจไว้ล่วงหน้า แต่หากเป็นโครงการบ้านที่สร้างเสร็จสักพักแล้ว ก็อาจจะช่วยให้ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น

2. โครงสร้างบ้าน

  • ผนัง

ผนังควรเรียบ ได้ระนาบ ไม่มีรอยร้าว ทั้งรอยร้าวเล็ก ๆ (รอยร้าวลายงา) ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อโครงสร้าง แต่อาจทำให้น้ำซึมเข้าได้ และรอยร้าวขนาดใหญ่ในแนวดิ่งหรือแนวเฉียง ซึ่งจะเป็นปัญหาโครงสร้างที่ต้องให้โครงการดำเนินการแก้ไข

ส่วนงานสีผนัง และวอลเปเปอร์ ก็สามารถใช้ไฟฉายส่องดูความเรียบเนียนได้ หากวอลเปเปอร์มีเชื้อรา การเปลี่ยนแผ่นไม่สามารถช่วยได้ จำเป็นต้องแก้ไขสาเหตุที่แท้จริง เช่น อาจเกิดจากความชื้นจากห้องน้ำ ผนังรั่วซึม ฯลฯ 

  • ประตู หน้าต่าง 

ทดสอบการรั่วซึมโดยการฉีดน้ำ และดูว่าขอบมุมวงกบมีน้ำรั่วซึมเข้าไปด้านในหรือไม่ สำหรับบานประตูควรใช้กระจกส่องดูขอบด้านบนว่าทาสีเรียบร้อยหรือไม่ เพราะหากโดนฝนหรือมีความชื้น ประตูอาจจะบวมจนปิดไม่สนิท

  • กระเบื้อง

พื้นกระเบื้องต้องเรียบ ไม่ล่อนหรือบิ่น สามารถทดสอบโดยการเคาะแล้วฟังเสียงหรือสัมผัส หากเคาะแล้วกระเบื้องมีเสียงแตกต่างจากแผ่นอื่น หรือกระเบื้องสั่น ก็แปลว่าปูนกาวใต้กระเบื้องไม่แน่น เพื่อความแน่ใจ ควรเคาะทดสอบกระเบื้องให้ทั่วทั้งแผ่นและทุกแผ่น

  • บันได

บันไดแต่ละขั้นต้องมีขนาดเท่ากัน ราวบันไดแข็งแรง หากเป็นพื้นลามิเนต ก็ต้องทดสอบการยุบตัว

โดยการลองเหยียบดู หากพื้นยุบมาก หรือยุบจนขอบเผยอ ก็ต้องให้โครงการแก้ไข

  • ฝ้าเพดาน และหลังคา

ฝ้าเพดานต้องเรียบ ไม่แอ่นหรือโค้งงอ เราสามารถตรวจสอบการรั่วซึมของฝ้าเพดานและหลังคา โดยต้องปีนขึ้นไปดูเหนือฝ้า ควรเช็กความเรียบร้อยของการเดินสายไฟ ฉนวนกันความร้อน และคราบน้ำรั่ว

รูปที่ 2 ภายในบทความตรวจรับบ้าน

3. ระบบน้ำและสุขาภิบาล

  • ห้องน้ำ

หากเป็นห้องน้ำชั้น 2 ควรอุดรูระบายด้วยดินน้ำมันหรือถุงพลาสติก แล้วปล่อยให้น้ำขังเพื่อดูว่ามีน้ำซึมหรือไม่ 

นอกจากนี้ยังควรเช็กการใช้งานของชักโครก ความเร็วในการระบายน้ำของรูระบายและอ่างล่างหน้า และหากมีการแยกโซนเปียกและแห้ง ก็ควรลองฉีดน้ำดูว่ามีน้ำซึมผ่านขอบบานกั้นหรือไม่

  • ถังน้ำดี บ่อพักน้ำเสีย ถังบำบัด ปั๊มน้ำ

ถังน้ำดี บ่อพักน้ำเสีย ถังบำบัด ที่ดีควรมีสภาพดีทั้งภายนอกและภายใน ไม่มีเศษขยะ ส่วนปั๊มน้ำ ควรทดสอบโดยการฟังเสียงการทำงาน ดูรอยรั่วซึม และเช็กว่าได้ต่อสายดินเรียบร้อยหรือไม่

4. ระบบไฟฟ้า

  • สวิตช์ไฟ และเต้ารับ

ควรทดลองใช้งานดูทุกจุด สำหรับเต้ารับ ควรใช้เครื่องตรวจสอบเบรกเกอร์ตัดไฟรั่วไหล (ELCB Tester) ทดสอบความถูกต้องของการเดินสายไฟ สายดิน และระบบตัดไฟ

  • ตู้ไฟ

สำหรับการตรวจตู้ไฟ ควรให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจ เพราะวิธีการเดินสายไฟ สีและขนาดสายไฟ มีผลต่อความปลอดภัยในการชีวิตและการดูแลรักษาทั้งสิ้น

สรุป

สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักอยู่เสมอในระหว่างและหลังการตรวจรับบ้าน ก็คือ ควรจดบันทึกจุดตำหนิให้ครบถ้วน ทั้งการมาร์กจุดที่ตัวบ้าน และข้อมูลหรือรูปถ่ายที่เก็บไว้กับตัว เนื่องจากจะต้องใช้เปรียบเทียบอีกครั้ง หลังจากที่โครงการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว

การตรวจรับบ้านมีรายละเอียดที่ไม่น้อยเลยจริง ๆ แต่หากศึกษาและเตรียมตัวอย่างดี มือใหม่อย่างเราก็สามารถจัดการเองได้ เท่านี้ก็เหลือแค่การเซ็นรับมอบ และตกแต่งบ้านอีกนิดหน่อย ก็เข้าอยู่ได้อย่างสบายใจแล้ว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
-

บริการของเรา

สนใจผลิตภัณฑ์ธนาคาร

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณ
อาจสนใจ

ติดตามข่าวสารจาก GH BANK

อัปเดตทุก
เรื่องบ้าน

อัพเดตเรื่องบ้านก่อนใคร รู้ก่อนได้เปรียบ

ติดตามข่าวสารจาก GH BANK

อัปเดตทุก
เรื่องบ้าน

อัพเดตเรื่องบ้านก่อนใคร รู้ก่อนได้เปรียบ

ติดตามข่าวสารจาก GH BANK

อัปเดตทุก เรื่องบ้าน

อัพเดตเรื่องบ้านก่อนใคร รู้ก่อนได้เปรียบ

ค้นหาตาม Keyword เช่น การเงิน, การลงทุน, สินเชื่อ, บ้าน