10 ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านที่ควรรู้

/
/
10 ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านที่ควรรู้

ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านไม่ได้มีแค่ ‘ราคาบ้าน’ เท่านั้น หลายคนที่เข้าใจผิดอาจไม่ได้เตรียมเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดสำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ จนเมื่อจะซื้อบ้านจริงๆ อาจเกิดปัญหาเงินไม่พอจนบ้านที่ตั้งใจจะซื้อต้องหลุดลอยไป…

เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว เราจึงควรมาทำความรู้จักค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่นอกเหนือจากราคาบ้าน เพื่อที่ว่าเราจะได้เตรียมค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านให้เพียงพอ ซึ่งในท้ายบทความเราจะมาสรุปกันว่า คุณควรเตรียมเงินไว้เท่าไร เมื่อคิดจะซื้อบ้าน

เตรียมพร้อม! 10 ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้าน

1.ค่าจองและทำสัญญา (ค่ามัดจำ)

ค่าจอง อาจเรียกง่ายๆ ว่า “เงินจอง” เป็นเงินที่เราจะต้องนำไปให้กับผู้ขายเพื่อเป็นการรับประกันว่าเราต้องการซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมนี้จริงๆ ไม่ว่าจะการจองตั้งแต่ก่อนก่อสร้างหรือภายหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งค่าใช้จ่ายจะแตกต่างกันไปแล้วแต่ผู้ขายหรือโครงการ แต่มักจะมีราคาหลักหมื่นขึ้นไป 

หลังจากวางเงินจองแล้ว คุณจะต้องทำสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งระบุรายละเอียดและค่าใช้จ่ายต่างๆ ว่าใครคือผู้รับผิดชอบ จำนวนเท่าไหร่ คุณควรอ่านและศึกษารายละเอียดของสัญญาก่อนลงนาม โดยสัญญาจะซื้อจะขายต้องมีคู่ฉบับให้ผู้ซื้อ – ผู้ขายลงนาม และถือไว้เป็นหลักฐานคนละฉบับ หลายโครงการกำหนดให้ผู้ซื้อต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อทำสัญญาจะซื้อจะขาย

2.ค่าดาวน์

สำหรับข้อนี้ ทุกคนที่ตั้งใจจะซื้อบ้านคงน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี และเป็นเงินส่วนที่มักจะเตรียมมาแล้ว ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้เปรียบเสมือนเงินจองในอีกขั้น เพราะไม่ใช่เงินแค่หมื่นต้นๆ แต่เงินดาวน์จะมีตั้งแต่ 5% – 10% ของราคาบ้าน เช่น หากซื้อบ้านราคา 1,000,000 บาท คุณจะต้องเตรียมเงินเป็นค่าดาวน์ 50,000 – 100,000 บาท 

3.ค่าประเมินราคาเมื่อขอสินเชื่อ

เงินส่วนนี้เป็นเงินที่ธนาคารเรียกเก็บจากคุณเป็นค่าดำเนินการในการประเมินมูลค่าบ้านเพื่อที่ธนาคารจะได้นำมาประเมินวงเงินสินเชื่อให้คุณ ซึ่งค่าประเมินราคาจะมีราคาประมาณ 1,000 – 3,000 บาท แล้วแต่ธนาคาร นั่นหมายความว่า ถ้าคุณยื่นขอสินเชื่อจากหลายธนาคาร คุณก็ต้องจ่ายค่าประเมินราคาให้กับทุกเจ้า

ทั้งนี้ สินเชื่อบ้านบางโครงการของบางธนาคารอาจยกเว้นค่าประเมินราคา หรือบางที่อาจมีโปรโมชั่นฟรีค่าประเมินให้

4.ค่าจดจำนอง

ค่าจดจำนองจริงๆ แล้วคือค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนกับกรมที่ดิน ซึ่งคิดเป็น 1% ของวงเงินจำนอง หรือราว 1% ของยอดกู้ (กรณีที่ขอสินเชื่อกับธนาคาร) เช่น ได้วงเงินกู้ 1,000,000 บาท ต้องเตรียมเงินจำนองจำนวน 10,000 บาท นอกจากนี้ จะมีค่าอากรแสตมป์ราคา 0.50% ของราคาซื้อ-ขาย ซึ่งควรเจรจากับผู้ขายและควรระบุในสัญญาจะซื้อจะขายให้ชัดเจนว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าโอน

5.ค่าโอนกรรมสิทธิ์

ค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์นั้นจะจ่ายให้กับกรมที่ดินเช่นเดียวกับค่าจดจำนอง โดยกรมที่ดินคิดค่าจดทะเบียนสิทธิ 2% จากราคาประเมิน และสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ผู้ซื้อกับผู้ขายควรตกลงว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งโดยทั่วไปจะแบ่งกันรับผิดชอบฝ่ายละ 1%

6.ค่าเบี้ยประกันภัยบ้าน

เป็นอีกค่าใช้จ่ายที่ไม่ค่อยมีใครนึกถึง หลายคนอาจคิดว่าไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านเลยก็ได้ แต่จริงๆ แล้ว อย่างน้อย เมื่อขอสินเชื่อบ้านแล้ว อย่างไรก็จะต้องทำประกันวินาศภัยหรืออัคคีภัยตามกฎหมาย ซึ่งเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับมุูลค่าบ้าน บ้านราคาสูง ค่าเบี้ยประกันสูงกว่าบ้านราคาต่ำจะอยู่ในช่วง 1,000 บาทขึ้นไป ต่อปี (สำหรับบางธนาคารอาจเรียกเก็บพร้อมค่าผ่อนรายเดือนอยู่แล้ว)

7.ค่ามิเตอร์น้ำ-ไฟฟ้า

สำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านส่วนนี้ จะแตกต่างกันไปตามบ้านแต่ละประเภทโดยขึ้นอยู่กับมาตรวัด ขนาดมิเตอร์ และจำนวนกระแสน้ำ-ไฟที่ปล่อยได้ อาจมีได้ทั้งค่าติดตั้งมิเตอร์ ค่าประกันมิเตอร์ และค่าประกันการใช้น้ำ-ไฟฟ้า เมื่อรวมกันทั้งหมดจะอยู่ในช่วงหลักพันถึงหลักหมื่น

8.ค่าส่วนกลาง (ถ้ามี)

หากเป็นบ้านเดี่ยวไม่ได้มีโครงการดูแลต่อหลังจากการขาย ก็จะไม่มีค่าส่วนกลาง แต่สำหรับคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร บ้านในหมู่บ้านของโครงการ จะมีค่าส่วนกลางสำหรับบริหาร ปรับปรุง และพัฒนาโครงการ เช่น ค่าระบบรักษาความปลอดภัย ค่าบำรุงรักษาสินทรัพย์ในโครงการ ค่าใช้บริการสินทรัพย์หรือสถานที่ส่วนกลาง เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนกลางจะขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการ โดยเก็บตามขนาดพื้นที่ห้องชุดหรือขนาดเนื้อที่ดินกรณีที่ดินอาคาร

9.งบเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

แม้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านโดยตรง แต่ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และบางทีก็เป็นค่าใช้จ่ายที่อาจงอกขึ้นมาเรื่อยๆ หากไม่วางแผนก่อน แนะนำว่า ในระหว่างที่คุณกำลังเก็บเงินเพื่อซื้อบ้าน ให้คุณประเมินและวางแผนซื้อเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมกับราคาบ้านที่ต้องการไว้ด้วย

10.งบตกแต่งบ้าน

เช่นเดียวกับข้อข้างบน คุณควรที่จะตั้งงบประมาณก่อนที่จะออกไปซื้อของมาตกแต่งบ้าน และลองคิดว่าจะใช้เงินส่วนนี้กับอะไรบ้างให้คุ้มค่าที่สุด และคิดหาวิธีที่จะตกแต่งบ้านให้น่าอยู่ได้แบบประหยัด

สรุปแล้วเราควรเก็บเงินเท่าไรเพื่อซื้อบ้าน?

รูปภายในบทความ ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้าน

โดยทั่วไปธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้คุณราว 85% – 95% เมื่อรวมค่าใช้ค่าจ่ายต่างๆข้างต้นแล้วนั่นหมายความว่า คุณต้องเตรียมเงินส่วนต่างจากสินเชื่อราว 10%-20%

หากคุณอยากลดค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านลง หนึ่งในวิธีที่ทำได้ คือ การเลือกสินเชื่อที่ดอกเบี้ยถูก ให้วงเงินได้สูง หรือมองหาสินเชื่อที่งดเว้นค่าใช้จ่ายบางส่วน เช่น ค่าประเมินราคา เพื่อให้คุณมีเงินสำหรับการซื้อบ้านจริงๆ สูงขึ้น หรือกู้ได้มากขึ้น และเงินที่เหลือจะได้ใช้เป็นค่าซื้อสิ่งของและตกแต่งบ้านต่อไป

และสำหรับการเก็บเงินเพื่อซื้อบ้าน ซึ่งอาจอาศัยระยะเวลานานหลายปี ขอแนะนำให้เลือกบัญชีเงินฝากประจำเพื่อที่คุณจะได้ดอกเบี้ยปันผลสูง และยังช่วยไม่ให้ถอนเงินออกมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ และที่สำคัญคือคุณต้องฝากอย่างสม่ำเสมอและมีเกณฑ์ขั้นต่ำในการฝากด้วย 

…เพื่อให้บ้านในฝันเข้าใกล้ความเป็นจริงในทุกๆ เดือน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
-

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณ
อาจสนใจ

รวมทุกวิธีรีไฟแนนซ์บ้าน ดอกเบี้ยต่ำจาก ธอส. พร้อม 5 สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยพิเศษ เริ่มต้น 1.79% ผ่อนเบาสบายเพียง 3,000 บาท/เดือน
รวมข้อมูลสำคัญที่ต้องรู้ก่อนตัดสินใจ ซื้อคอนโดดีไหม หรือซื้อบ้านดีไหม พร้อมเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียแบบละเอียด เพื่อให้เลือกได้ตรงใจ
รวมโครงการบ้าน 2568 และคอนโดใหม่ 2568 ทำเลศักยภาพ น่าลงทุน พร้อมรายละเอียดโครงการและราคาเริ่มต้น ครบจบในที่เดียว

ติดตามข่าวสารจาก GH BANK

อัปเดตทุก
เรื่องบ้าน

อัพเดตเรื่องบ้านก่อนใคร รู้ก่อนได้เปรียบ

ติดตามข่าวสารจาก GH BANK

อัปเดตทุก
เรื่องบ้าน

อัพเดตเรื่องบ้านก่อนใคร รู้ก่อนได้เปรียบ

ติดตามข่าวสารจาก GH BANK

อัปเดตทุก เรื่องบ้าน

อัพเดตเรื่องบ้านก่อนใคร รู้ก่อนได้เปรียบ

ค้นหาตาม Keyword เช่น การเงิน, การลงทุน, สินเชื่อ, บ้าน