การซื้อขายบ้านส่วนใหญ่แล้ว มักจะเป็นการตกลงกันเองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายหรือผ่านนายหน้า แต่จริงๆ แล้ว ยังมีอีกวิธีที่น่าสนใจที่ทำให้ผู้ซื้อได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากกว่าปกติ ซึ่งก็คือ การซื้อบ้านผ่านธนาคาร นั่นเอง
“การซื้อบ้านผ่านธนาคาร” เป็นการซื้อบ้านที่เป็นสินทรัพย์ของธนาคาร โดยสินทรัพย์ของธนาคารในที่นี้จะเรียกกว่า “สินทรัพย์รอการขาย” (NPA: Non Performing Asset) หรือบ้านที่หลุดจำนองของธนาคารและธนาคารต้องการปล่อยสินทรัพย์เหล่านี้ ทำให้การซื้อบ้านผ่านธนาคารได้ราคาที่ถูกกว่าวิธีอื่นๆ พร้อมสิทธิพิเศษด้านสินเชื่อจากธนาคารอีกด้วย
ในบทความนี้จะมาเจาะลึกกันมากขึ้นกับข้อมูลของการซื้อบ้านผ่านธนาคาร ที่ช่วยให้คุณเข้าใจขั้นตอนและวิธีการของการซื้อบ้านกับธนาคารที่คุณสนใจ
ซื้อบ้านผ่านธนาคารทำได้อย่างไรบ้าง
การซื้อบ้านผ่านธนาคาร คือ การซื้อสินทรัพย์รอการขายของธนาคาร แต่วิธีที่ธนาคารจะนำสินทรัพย์เหล่านั้นมาขาย ส่วนใหญ่แล้วจะมี 2 วิธีการด้วยกัน
1. เลือกซื้อทรัพย์ NPA โดยตรงจากธนาคาร
วิธีแรก คือ การซื้อสินทรัพย์ NPA โดยตรงจากธนาคาร เป็นวิธีที่สะดวกสบายที่สุด โดยในปัจจุบันธนาคารจะรวบรวมสินทรัพย์ประเภทนี้ออกมาขายบนเว็บไซต์ ยกตัวอย่างเช่น
ghbhomecenter.com และแอปพลิเคชัน G H Bank Smart NPA ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่มีทรัพย์ให้เลือกมากมายทั่วประเทศ
สำหรับการเลือกสินทรัพย์ผ่านเว็บไซต์ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คุณสามารถเลือกทำเลที่ต้องการ และเรตราคาได้ ซึ่งมีทรัพย์ให้เลือกหลากหลายประเภท ที่สามารถเลือกเปรียบเทียบทรัพย์ต่างๆ ได้ผ่านจอคอมพิวเตอร์ของคุณ
ข้อดีของสินทรัพย์ประเภทนี้ คือ ราคาถูกกว่าราคาซื้อขายในตลาดทั่วไป มีทรัพย์ให้เลือกมาก เหมาะทั้งผู้ที่ต้องการมีบ้านเป็นของตัวเองและผู้ที่ต้องการซื้อเพื่อลงทุน
2. ซื้อบ้านผ่านการประมูลของธนาคาร
จากสภาวะการณ์ในปัจจุบันการซื้อบ้านผ่านการประมูลเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะมีความสะดวก และเสนอราคาได้ผ่านทางออนไลน์ เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตก็สามารถเข้าร่วมการประมูลได้ ระบบมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน แต่ลูกค้าต้องอาศัยติดตามข่าวสารจากธนาคารหรือสถาบันเอกชน (ในกรณีที่ไม่ใช่ธนาคารจัด) ว่าจะจัดประมูลเมื่อไหร่
สินทรัพย์จากการประมูล คือ สินทรัพย์ที่อาจได้มาจากการบังคับคดีของกรมบังคับคดี โดยเป็นบ้านที่เป็นสินทรัพย์จำนองของธนาคาร จึงเป็นสินทรัพย์ที่อาจมีราคาถูกยิ่งกว่าการซื้อสินทรัพย์ NPA ที่พร้อมขายจากธนาคาร และอาจถูกกว่าสินทรัพย์ในท้องตลาดมากกว่า 50% ได้ ทั้งนี้ ผู้ประมูลจะต้องเตรียมเงินประมูลตั้งแต่ 5 – 20% ของราคาประเมินสินทรัพย์ จึงจะสามารถประมูลได้ วิธีการนี้จึงอาจเหมาะสำหรับนักลงทุนหรือผู้ที่มีเงินเย็นสำหรับซื้อสินทรัพย์ราคาสูง
สำหรับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) คุณสามารถติดตามข่าวและเข้าร่วมการประมูลซื้อบ้านมือสองผ่านแอปพลิเคชัน G H Bank Smart NPA สะดวกสบาย ไม่จำเป็นต้องเดินทาง โดยถ้าหากคุณชนะการประมูลสินทรัพย์ ธนาคารจะส่งอีเมลแจ้งการยืนยันและแจ้งวิธีการทำสัญญาหรือการทำสินเชื่อต่อไป
ขั้นตอนในการซื้อบ้านผ่านธนาคาร
1. ค้นหาสินทรัพย์รอการขาย / ประมูลสินทรัพย์
ขั้นตอนแรก คือ การเลือกบ้านหรือสินทรัพย์จากธนาคารหรือจากรายการประมูลสินทรัพย์
- การเลือกทรัพย์ NPA จากธนาคาร
สำหรับการเลือกซื้อสินทรัพย์ NPA โดยตรง คุณสามารถเข้าไปเลือกบ้านมือสองที่เป็นทรัพย์รอการขายจากธนาคารได้ผ่านเว็บไซต์ของธนาคาร สำหรับ ธอส. คุณสามารถเข้าไปเลือกชมบ้านได้ที่ https://www.ghbhomecenter.com/ และแอปพลิเคชัน G H Bank Smart NPA
- การเลือกทรัพย์ประมูล
สำหรับ ธอส. คุณสามารถดูทรัพย์โดยสามารถเลือกสถานที่ ประเภทของสินทรัพย์ที่อยู่ในช่วงประมูลได้ผ่านแอปพลิเคชัน GH Bank Smart NPA ดาวน์โหลดได้แล้วที่นี่
– Google Play: https://bit.ly/35COlPf
– App Store: https://apple.co/3bcD898
วิธีการสมัครประมูลสินทรัพย์กับ ธอส. ผ่าน GH Bank Smart NPA
2. เตรียมเอกสารสำหรับทำสัญญาซื้อขาย
สำหรับขั้นตอนนี้ เมื่อคุณซื้อบ้านผ่านธนาคาร ธนาคารจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการดำเนินงานเอกสารให้แก่คุณ โดยธนาคารจะบอกว่าคุณต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างเพื่อทำสัญญาซื้อขาย รวมไปถึงหากคุณต้องการขอสินเชื่อในการซื้อ ก็สามารถขอความช่วยเหลือธนาคารได้
โดยเอกสารโดยทั่วไปที่ใช้ก่อน ได้แก่
- แบบฟอร์มแจ้งความประสงค์ซื้อทรัพย์สิน NPA และคำเสนอซื้อทรัพย์สิน NPA
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- พร้อมเงินประกันการซื้อทรัพย์สิน NPA
และสำหรับเอกสารเพิ่มเติมในกรณีผู้ซื้อต้องการกู้สินเชื่อ มีขั้นตอนเตรียมเอกสารเช่นเดียวกับการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปกติ ได้แก่
- เอกสารส่วนตัว
- เอกสารแสดงรายได้
- เอกสารหลักประกัน
ดูขั้นตอนการเตรียมเอกสารขอสินเชื่อบ้านโดยละเอียด
3. นัดโอนกรรมสิทธิ์และเซ็นสัญญาซื้อขาย
ขั้นตอนสุดท้าย คือ การนัดหมายและตกลงโอนกรรมสิทธิ์และเซ็นสัญญาซื้อขาย ซึ่งจะประกอบไปด้วยขั้นตอนคร่าวๆ ได้แก่
- ขั้นตอนการทำสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งระบุการวางมัดจำและระบุวันนัดหมายวันที่จะโอนกรรมสิทธิ์ รวมไปถึงข้อตกลงและเงื่อนไขต่างๆ อย่างน้อย 30 วัน (ธนาคารจะเป็นผู้อำนวยความสะดวก)
- วันโอนกรรมสิทธิ์ ผู้ซื้อจะต้องเตรียมเงินค่าโอนกรรมสิทธิ์ ค่าภาษีอากร และชำระเงินส่วนที่เหลือแก่ธนาคาร โดยที่ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ธนาคารจะเป็นผู้รับผิดชอบ จากนั้นจึงเซ็นสัญญาซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์ เป็นอันเสร็จสิ้น (ทั้งนี้ แต่ละธนาคารอาจจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไป)
ข้อดีของการซื้อบ้านผ่านธนาคารที่คุณไม่ควรพลาด
1. มีตัวเลือกที่อยู่อาศัยมากมาย พร้อมทำเลที่คุณต้องการ
ธนาคารมีสินทรัพย์ที่หลุดจำนองจากทั่วประเทศให้เลือก โดยคุณสามารถเลือกทำเลและประเภทของสินทรัพย์ที่ต้องการได้ ซึ่งรวบรวมมาไว้ในเว็บไซต์และมีการอัปเดตอย่างสม่ำเสมอ
2. จับตาให้ดี มีบ้านราคาถูกมากมาย
สินทรัพย์รอการขาย หรือบ้าน NPA คือ สินทรัพย์ที่ธนาคารต้องการจำหน่ายออกเพื่อไม่ให้เป็นภาระในการถือสินทรัพย์ และได้มาจากทรัพย์หลุดจำนองจึงมีต้นทุนต่ำ ทำให้สามารถปล่อยราคาสินทรัพย์ได้ในราคาถูก ซึ่งการซื้อบ้านผ่านธนาคารอาจได้ราคาถูกสูงสุดถึง 30 – 60% จากราคาตลาด
3. นัดหมายดูสภาพบ้านและสิ่งแวดล้อมได้
หากได้ข้อมูลทรัพย์หรือบ้านมือสองที่สนใจแล้ว คุณสามารถนัดหมายกับเจ้าหน้าที่เพื่อขอเดินทางไปดูสภาพของบ้านก่อนได้ จึงช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะได้บ้านที่มีโครงสร้างแข็งแรง สิ่งที่ต้องปรับปรุงเมื่อตัดสินใจซื้อ หรือดูก่อนได้ว่าคุ้มค่าต่อการซื้อหรือไม่ รวมไปถึงได้สัมผัสสิ่งแวดล้อมบริเวณบ้าน ทั้งสังคมและสิ่งปลูกสร้างโดยรอบ
4. ได้รับการอำนวยความสะดวกเรื่องสินเชื่อ
หากต้องการขอสินเชื่อ ธนาคารจะคอยอำนวยความสะดวกเพื่อช่วยให้คุณซื้อบ้านได้สำเร็จ รวมทั้งกรณีขอสินเชื่อ ธนาคารก็จะช่วยติดตามและดำเนินเรื่องให้ พร้อมโอกาสได้รับการอนุมัติสินเชื่อที่ง่ายมากขึ้น หากเข้าเงื่อนไขตามข้อกำหนดของธนาคาร
5. ฟรีค่าดำเนินการสินเชื่อ พร้อมสิทธิพิเศษ
การซื้อบ้านกับธนาคาร หากคุณต้องการขอสินเชื่อ ธนาคารมักจะมีสินเชื่อพิเศษสำหรับการซื้อสินทรัพย์รอการขายโดยเฉพาะ โดยอาจจะได้รับอัตราดอกเบี้ยในราคาต่ำเป็นพิเศษกว่าการซื้อบ้านหลังใหม่ รวมทั้งฟรีค่าดำเนินการในการโอนกรรมสิทธิ์และค่าธรรมเนียมอื่นๆ อีกด้วย
นอกจากนี้ บางธนาคารอาจให้สิทธิพิเศษสามารถดาวน์บ้านโดยไม่คิดดอกเบี้ยตั้งแต่ 6 เดือน – 2 ปี เป็นต้น
6. มีโอกาสได้บ้านพร้อมเฟอร์นิเจอร์
บ้านมือสองจากธนาคารหรือ NPA ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านที่พร้อมอยู่ เพราะหลุดจำนองมา จึงมีโอกาสที่บางหลังจะเป็นบ้านที่มีเฟอร์นิเจอร์ครบครันพร้อมย้ายเข้ามาอาศัย รวมทั้งการตกแต่งจากเจ้าของเดิม ซึ่งราคาของทรัพย์มือสองพร้อมการตกแต่ง อาจถูกกว่าการซื้อบ้านใหม่ที่ยังไม่มีการตกแต่งเลยก็ได้
7. เหมาะสำหรับการลงทุน
ทรัพย์มือสองมีราคาถูกมาก โดยเฉพาะทรัพย์จากการประมูลก็ยิ่งมีราคาถูกลงไปอีก ในมุมของนักลงทุน หากมีเงินสำหรับการลงทุนอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้ว การซื้อทรัพย์มือสองหรือประมูลทรัพย์มาในราคาต่ำ สามารถนำมารีโนเวตตกแต่งบ้านใหม่ แล้วปล่อยเช่าหรือขายได้ และถ้ายิ่งได้ทำเลดีๆ ก็มีสิทธิ์ทำกำไรได้สูง
คำแนะนำเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่สนใจซื้อบ้านผ่านธนาคาร
สำหรับใครที่เริ่มสนใจซื้อบ้านผ่านธนาคารจากข้อดีข้างต้น ยังมีอีก 2 เรื่องที่คุณควรรู้เพื่อเตรียมตัวและช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกบ้านได้ดีขึ้น
1. ควรตรวจรับบ้านก่อนทุกครั้ง
หากเป็นไปได้ เมื่อเจอสินทรัพย์ที่สนใจหรือก่อนที่จะทำสัญญาจะซื้อจะขายกับธนาคาร ควรเดินทางไปตรวจรับบ้านก่อน เพราะสินทรัพย์เป็นบ้านมือสอง สภาพของบ้านเป็นสภาพตามจริงที่มีคนใช้งาน จึงอาจมีบางส่วนที่ทรุดโทรม เพื่อไม่ให้ผิดหวังหรือมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมที่ไม่คาดคิดมาก่อน จึงควรเข้าไปตรวจสอบสภาพบ้าน รวมทั้งสภาพแวดล้อมของบ้านให้ดีก่อน
อ่านเพิ่มเติม: วิธีตรวจรับบ้านโดยละเอียด
2. ทรัพย์อาจติดคดีความหรือต้องยุ่งกับการฟ้องขับไล่
สินทรัพย์จากการประมูล ส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์จากการบังคับคดี ดังนั้น บ้านบางหลังอาจจะมีเจ้าของเดิมอาศัยอยู่แล้วยังไม่ย้ายออก เจ้าของใหม่จึงไม่สามารถย้ายเข้าไปทันที หรือไม่สามารถดำเนินการใดๆ กับสินทรัพย์ได้ จนกว่าการฟ้องขับไล่จะสิ้นสุด
โดยก่อนที่จะตัดสินใจซื้อบ้านมือสองจากธนาคาร จึงควรตรวจสอบเรื่องนี้ให้แน่ชัด เพื่อการตัดสินใจหรือเตรียมใจรับมือกับปัญหา
ซื้อบ้านผ่านธนาคาร กับ ธอส. สะดวกง่ายและได้ราคาคุ้ม
ธนาคารอาคารสงเคราะห์มีสินทรัพย์ NPA หรือบ้านมือสองจากทั่วประเทศให้คุณเลือกมากมาย ทำง่ายๆ เพียงเข้าเว็บไซต์ www.ghbhomecenter.com หรือ แอปพลิเคชัน G H Bank Smart NPA เพื่อเลือกทำเล ประเภทสินทรัพย์ และเรตราคาที่ต้องการ
และเช่นเดียวกัน หากคุณต้องการเข้าร่วมประมูลสินทรัพย์ ก็สามารถประมูลผ่านช่องทางออนไลน์ได้ง่ายๆ สะดวกสบายผ่านแอปพลิเคชัน GH Bank Smart NPA แล้วสมัครประมูลทรัพย์ตามขั้นตอน
หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการซื้อบ้านผ่านธนาคารกับ ธอส. เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ที่คอยให้คำแนะนำให้กับคุณ ติดต่อเราได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาใกล้บ้านคุณ หรือ
ติดต่อศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์: 02 645 9000