หลายคนอาจเข้าใจว่าต้องขอสินเชื่ออเนกประสงค์เท่านั้น บทความนี้ได้รวบรวมข้อควรรู้เกี่ยวกับสินเชื่อซ่อมแซมบ้าน
บ้านที่เคยใหม่เมื่อแรกเข้าอาศัย กาลเวลาผ่านไปก็ทำให้บ้านที่รักเสื่อมสภาพลง มีส่วนที่ชำรุดรอการแก้ไข ทั้งนี้ การซ่อมแซมบ้านอาจไม่ใช่เรื่องเล็กที่สามารถจัดการเองได้ เพราะส่วนที่ทรุดโทรมอาจหมายถึงส่วนโครงสร้างซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญจากช่าง ดังนั้น ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบ้านอาจสูง หลายกรณีจึงจำเป็นต้องพึ่งสินเชื่อซ่อมแซมบ้าน
อย่างไรก็ตาม แม้ต้องการขอสินเชื่อเพื่อนำมาซ่อมแซมบ้าน แต่หลายคนก็อาจจะไม่คุ้นเคยกับสินเชื่อประเภทนี้ หรือสงสัยว่าหากจะกู้เงินซ่อมแซมบ้านนั้น มีเรื่องอะไรที่ต้องรู้ก่อนบ้าง บทความนี้ได้รวบรวมข้อควรรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับสินเชื่อซ่อมแซมบ้านที่อาจจะตอบข้อสงสัยของคุณได้
ข้อควรรู้เกี่ยวกับสินเชื่อซ่อมแซมบ้าน
เมื่อต้องการกู้เงินซ่อมแซมบ้าน หลายคนอาจเข้าใจว่าต้องขอสินเชื่ออเนกประสงค์เท่านั้น เพราะอาจไม่รู้ว่ามีสินเชื่อที่ออกแบบมาเพื่อการซ่อมแซมปรับปรุงบ้าน หรืออาจไม่เข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้วสินเชื่อซ่อมแซมบ้านเป็นอย่างไร หรือมีเงื่อนไขอะไรบ้างที่ต้องรู้
สินเชื่อซ่อมแซมบ้านต่างกับสินเชื่อซื้อ/สร้างบ้าน
สินเชื่อบ้านเป็นสินเชื่อที่ไม่ได้ครอบคลุมเพียงการซื้อ/สร้างบ้านเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการซ่อมแซม ต่อเติม หรืออาจรวมถึงการซื้อของตกแต่งบ้านด้วย กระนั้น สินเชื่อซ่อมแซมบ้านก็แตกต่างจากสินเชื่อซื้อ/สร้างบ้าน เพราะด้วยวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ต่างกัน ธนาคารจึงมีเกณฑ์ในการประเมินวงเงินและกระบวนการดำเนินงานอื่นๆ ที่ต่างจากสินเชื่อบ้านทั่วไป ทั้งนี้ กระบวนการในส่วนของผู้ยื่นกู้ก็ไม่ได้ต่างจากการขอสินเชื่อบ้านทั่วไปมากนัก
บ้านที่ยังมีภาระผ่อน สามารถนำมาเป็นหลักประกันได้
ข้อนี้น่าจะเป็นหนึ่งในข้อสงสัยมากที่สุด เพราะหลายคนอาจเข้าใจว่าสินทรัพย์ที่จะเอามาค้ำประกันต้องเป็นสินทรัพย์ของผู้ยื่นกู้ 100% เท่านั้น ซึ่งแท้จริงแล้วบ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้กู้ตั้งแต่วันโอนบ้านแล้ว ดังนั้น บ้านที่กำลังผ่อนชำระอยู่ก็สามารถนำมายื่นค้ำประกันประเมินวงเงินกู้ได้
สำหรับหลักการให้สินเชื่อที่ใช้บ้านที่ยังผ่อนไม่หมดมาเป็นหลักประกัน ธนาคารให้กู้ได้ไม่เกินวงเงินประเมินบ้านที่ใช้จดจำนองตั้งแต่แรก เช่น หากบ้านของคุณจดจำนองไป 3,000,000 บาท และผ่อนไปแล้วหลายปีจนเหลือเงินต้นเพียง 2,000,000 บาท คนก็สามารถกู้สินเชื่อมาซ่อมแซมบ้านได้ถึง 1,000,000 บาท ซึ่งไม่เกินวงเงินประเมิน
ผู้ยื่นกู้ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้าน
ผู้ที่จะยื่นกู้ซ่อมแซมบ้านได้จะต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เท่านั้น เพราะไม่ใช่แค่เป็นเงื่อนไขของธนาคารเท่านั้น แต่ผู้ที่มีสิทธิ์ในการซ่อมแซมบ้านในกรณีที่ต้องซ่อมแซมขนานใหญ่หรือระดับโครงสร้างจำเป็นต้องขออนุญาตก่อสร้างเหมือนตอนสร้างบ้านด้วย ทั้งนี้ ยังสามารถมีผู้กู้ร่วมช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินได้ เพียงจำเป็นต้องมีชื่อเจ้าของบ้านเป็นหนึ่งในผู้กู้อย่างน้อยหนึ่งรายชื่อเท่านั้น
เตรียมตัวก่อนขอสินเชื่อซ่อมแซมบ้าน
การเตรียมตัวเพื่อขอกู้เงินซ่อมแซมบ้านไม่ได้มีขั้นตอนที่ซับซ้อน เพียงแค่สำรวจว่าบ้านมีจุดที่ต้องซ่อมแซมปรับปรุงกี่จุด ลองประเมินค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ และทำเรื่องขอกู้สินเชื่อได้เลย ซึ่งรายละเอียดขั้นตอนต่าง ๆ ที่ควรรู้ก่อน มีดังนี้
กรณีซ่อมแซมบ้านเล็กน้อย
- สำรวจสิ่งที่ต้องซ่อมแซมทั้งหมด หากบ้านของคุณไม่ได้ทรุดโทรมมากนัก เพียงแค่ผนังร้าว เพดานซึม ต้องการลงยาแนว เปลี่ยนกระเบื้อง หรือปรับปรุงพื้นดาดฟ้า และซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของบ้านเพียงเล็กน้อย คุณก็เพียงแค่สำรวจรายการซ่อมให้ครบเพื่อสรุปว่ามีอะไรที่ต้องซ่อมบ้างและประเมินค่าใช้จ่ายออกมาเพื่อจะได้ยื่นขอสินเชื่อเพียงครั้งเดียวให้เรียบร้อย ครอบคลุม
- เลือกธนาคารกู้สินเชื่อ ในการเลือกธนาคารกู้จะมีอยู่ 2 กรณีสำหรับการกู้ซ่อมแซมบ้าน คือ กรณีที่บ้านยังผ่อนชำระไม่หมด และกรณีที่บ้านปลอดภาระหนี้แล้ว
สำหรับกรณีแรกแนะนำให้ขอสินเชื่อกับธนาคารแหล่งเดิมที่ผ่อนชำระอยู่ เพราะการทำเรื่องจะสะดวกและรวดเร็วมากขึ้นเนื่องจากธนาคารมีประวัติและข้อมูลการผ่อนชำระของเราอยู่แล้ว บ้านที่ผ่อนก็เป็นหลักประกันอยู่แล้ว คุณจึงสามารถขอกู้เพิ่มได้โดยไม่เกินวงเงินประเมินจากราคาบ้าน
ส่วนกรณีบ้านที่ไม่มีภาระหนี้สินแล้ว คุณสามารถขอสินเชื่อได้จากทุกธนาคารตามที่ต้องการโดยเลือกดูจากอัตราดอกเบี้ยว่าที่ใดประหยัดที่สุดได้ ซึ่งมีโอกาสได้สินเชื่อง่ายกว่าบ้านที่ยังมีภาระหนี้ ทั้งนี้ ถ้าเป็นการซ่อมแซมเพียงเล็กน้อย แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายคงไม่สูงเท่าการต่อเติม สร้างหรือซื้อบ้าน บางธนาคารอาจจะระบุจำนวนเงินกู้ขั้นต่ำ เช่น 100,000 บาท เป็นต้น จึงอาจต้องขอสินเชื่อประเภทอื่น เช่น สินเชื่อชำระหนี้ หรือสินเชื่ออเนกประสงค์
กรณีซ่อมแซมหรือปรับปรุงโครงสร้างอาคาร
- สำรวจสิ่งที่ต้องซ่อมแซมทั้งหมด
นอกจากการสำรวจและทำรายการสิ่งที่ต้องซ่อมแซมทั้งหมดจะช่วยให้ทราบงบประมาณหรือจำนวนเงินที่ควรขอสินเชื่อแล้ว สำหรับการทรุดโทรมในระดับโครงสร้างหรือฐานราก เช่น เสาร้าว รั้วบ้านพัง บ้านทรุด ฯลฯ การสำรวจจุดที่ต้องซ่อมแซมทั้งหมดจะช่วยให้คุณสามารถนำไปปรึกษากับผู้รับเหมาต่อไปได้
- หาผู้รับเหมาและเขียนแปลนก่อสร้าง
เมื่อคุณทราบว่ามีส่วนใดของบ้านที่ต้องซ่อมแซมแล้ว คุณก็นำรายการที่ทำไว้ไปคุยกับผู้รับเหมาและขอให้เขาประเมินค่าใช้จ่าย รวมถึงทำใบเสนอราคาเพื่อที่คุณจะได้ตัดสินใจเลือกผู้รับเหมาที่ให้ราคาดี เหมาะสมกับฝีมือ จากนั้นจึงให้ผู้รับเหมาเขียนแปลนก่อสร้างและทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง เพื่อที่คุณจะได้นำไปยื่นขอสินเชื่อซ่อมแซมบ้านกับธนาคาร หรืออาจใช้สำหรับการขออนุญาตก่อสร้างอีกด้วย
- ยื่นกู้สินเชื่อซ่อมแซมบ้าน
สินเชื่อซ่อมแซมบ้านก็คือสินเชื่อบ้านประเภทหนึ่ง ดังนั้น วิธีการยื่นขอสินเชื่อและเกณฑ์การประเมินของธนาคารจึงไม่ได้แตกต่างจากการยื่นกู้ซื้อ/สร้างบ้านทั่วไป โดยคุณต้องเตรียมเอกสารส่วนตัว และเอกสารทางการเงินต่าง ๆ ให้ครบถ้วน ทั้งตัวผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วม นอกจากนี้ สิ่งที่อาจต้องยื่นเพิ่มเติม คือ
เอกสารหลักประกัน ได้แก่
- สำเนาสัญญากู้เงินและสำเนาสัญญาจำนองกับสถาบันการเงิน (กรณีบ้านยังมีภาระหนี้)
- หลักฐานการเป็นเจ้าของอาคาร
- สำเนาโฉนดที่ดิน/นส.3ก ทุกหน้า
- ใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร
- แบบแปลน
- ใบประมาณการดัดแปลงอาคาร / สัญญาว่าจ้างก่อสร้าง
ทั้งนี้ ธนาคารอาจขอเอกสารต่าง ๆ ของผู้กู้เพิ่มเติม แล้วแต่กรณีด้วยเช่นกัน
สรุปการยื่นขอสินเชื่อกู้เงินซ่อมแซมบ้าน
สินเชื่อซ่อมแซมบ้านจัดเป็นสินเชื่อบ้านประเภทหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะและขั้นตอนในการขอสินเชื่อคล้ายกับการขอสินเชื่อซื้อ/สร้างบ้าน แต่ด้วยจุดประสงค์ที่ต่างออกไป และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้ไม่ได้มากเท่าการซื้อ/สร้างบ้าน ธนาคารจึงมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้สินเชื่อที่ต่างไปเล็กน้อย รวมถึงมีเงื่อนไขและเอกสารที่ต้องยื่นเพิ่มเติมอีกด้วย
ไม่ว่าใครก็อยากให้บ้านที่รักยังคงน่าอยู่เสมอ หากบ้านชำรุดทรุดโทรมลง ก็อยากหาทางแก้ไข ดูแลให้บ้านมีสภาพดีขึ้น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารที่อยู่เคียงคู่ทุกระยะการมีบ้านของคนไทย มีสินเชื่อบ้านที่ครอบคลุมทุกจุดประสงค์เกี่ยวกับบ้าน เพื่อช่วยให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้จากปัจจัยพื้นฐานหรือการมีบ้าน