หลายท่านมักจะเข้าใจกันว่า คนสูงอายุหรือคนที่อายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ไม่สามารถขอสินเชื่อต่างๆ ได้ เพราะสินเชื่อที่ให้กู้ได้ยาวนานที่สุดอย่างสินเชื่อบ้าน มักจะกำหนดให้ผ่อนชำระได้ไม่เกินอายุ 60 ปี แต่จริงๆ แล้ว ก็มีอีกสินเชื่อประเภทหนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อสูงอายุ นั่นคือ “สินเชื่อสำหรับผู้สูงอายุ” หรือที่เรียกว่า “Reverse Mortgage”
Reverse Mortgage จะไม่ใช่สินเชื่อสำหรับเพื่อการมีที่อยู่อาศัย แต่จะเป็นสินเชื่อที่ให้เงินแก่ผู้กู้แบบรายเดือนเพื่อการดำรงชีวิต โดยใช้บ้านหรือสินทรัพย์เป็นหลักประกัน ซึ่งถือว่าเป็นอีกทางเลือกในการวางแผนเกษียณสำหรับผู้สูงอายุได้อีกทาง
สำหรับรายละเอียดในการยื่นกู้สินเชื่อผู้สูงอายุ วิธีการคิดดอกเบี้ยและวงเงินสินเชื่อ มีอะไรบ้าง ทำความเข้าใจกันในบทความนี้
สินเชื่อสำหรับผู้สูงอายุ หรือ Reverse Mortgage คืออะไร
สินเชื่อผู้สูงอายุ หรือ Reverse Mortgage คือ สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ธนาคารจะเป็นฝ่ายจ่ายเงินให้กับผู้กู้สินเชื่อ โดยผู้กู้ใช้บ้านที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันในการจำนอง กล่าวคือ ธนาคารเป็นผู้ซื้อบ้านและทยอยส่งเงินให้กับผู้กู้ในทุกๆ เดือน เมื่อถึงกำหนดส่งงวดสุดท้าย บ้านที่จำนองจะตกเป็นของธนาคาร หากผู้กู้เสียชีวิตและไม่มีทายาทมาไถ่ถอนหลักประกันคืน
สินเชื่อผู้สูงอายุ ออกแบบมาเพื่อใช้เป็นเหมือนหลักประกันแผนเกษียณ ช่วยให้ผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปี ขึ้นไป มีเงินสำหรับดำรงชีวิตหลังเกษียณ ตอบโจทย์ผู้สูงอายุที่ต้องการเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ บ้านที่เอามาเป็นหลักประกันจะต้องเป็นบ้านที่ไม่ติดจำนองอยู่ หรือผ่อนชำระสินเชื่อหมดเรียบร้อยแล้วเท่านั้น
ประโยชน์ของสินเชื่อผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage)
สินเชื่อผู้สูงอายุ คือ รูปแบบสินเชื่อแบบ ‘ย้อนกลับ’ ธนาคารเป็นฝ่ายที่ส่งเงินให้กับผู้กู้ โดยแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ในทุกเดือน ช่วยแก้ปัญหาคนเกษียณและผู้สูงอายุขาดรายได้ สามารถสรุปประโยชน์ได้ ดังนี้
- ใช้เป็นเงินเกษียณสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีบำเหน็จ บำนาญ
- ใช้สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพแต่ละเดือน
- ใช้เป็นเงินทุนต่อยอดทำธุรกิจหรือทำชำระหนี้สินอื่นๆ
- แม้จะใช้บ้านเป็นหลักประกัน ก็ยังสามารถอยู่อาศัยได้เหมือนเดิม
จากประโยชน์และรูปแบบของสินเชื่อ ผู้สูงอายุสามารถใช้วิธีกู้สินเชื่อผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในแผนการเกษียณได้ ช่วยสร้างหลักประกันเป็นเหมือนเงินบำนาญที่ธนาคารจะโอนให้ในทุกเดือน แต่เมื่อหมดระยะเวลาส่งงวดแล้วผู้กู้ยังมีชีวิตอยู่ ก็สามารถปรึกษาธนาคารเพื่อต่อสัญญากู้ได้
Reverse Mortgage หรือสินเชื่อผู้สูงอายุทำงานอย่างไร
หลักการทำงานของ Reverse Mortgage หรือสินเชื่อผู้สูงอายุจะเหมือนกับการนำบ้านไปจำนองเพื่อนำเงินมาใช้ หรือ “บ้านแลกเงิน”โดยที่ธนาคารจะส่งเงินให้ผู้กู้ คล้ายกับการทยอยซื้อบ้านของผู้กู้
วิธีการของธนาคาร คือ ธนาคารจะตีมูลค่าบ้านพร้อมกับประเมินอายุเฉลี่ยของผู้กู้ เช่น 20 ปี (ผู้กู้เริ่มกู้อายุ 60 ปี – 80 ปี) แล้วนำวงเงินที่ประเมินได้มาแบ่งเฉลี่ยจ่ายให้ในแต่ละเดือน โดยที่ผู้กู้ยังมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของบ้าน และสามารถอยู่อาศัยได้ตามปกติจนกระทั่งเสียชีวิตหรือตัดสินใจขายบ้าน
เมื่อครบกำหนดสัญญาสินเชื่อผู้สูงอายุและผู้กู้ยังมีชีวิตอยู่ สามารถติดต่อเพื่อต่อสัญญากับธนาคารได้ ทั้งนี้หากผู้กู้เสียชีวิตและทายาทไม่ประสงค์ไถ่ถอนหลักประกันคืน ธนาคารจะนำบ้านขายทอดตลาด หากขายได้ราคาสูงกว่าวงเงินกู้ กำไรที่ได้จะตกเป็นของทายาท แต่หากขายได้ต่ำกว่าวงเงินสินเชื่อ ธนาคารจะเป็นผู้รับผิดชอบส่วนต่างเอง จึงไม่ต้องกังวลว่า ลูกหลานหรือทายาทจะต้องมารับหน้าที่ผ่อนชำระตามย้อนหลัง (ในกรณีที่ไม่ต้องการบ้านคืน)
การจ่ายเงินให้กับผู้กู้
ธนาคารจะประเมินวงเงินสินเชื่อจากราคาบ้าน แล้วเฉลี่ยจ่ายให้ผู้กู้ในทุกๆ เดือน ตามสัญญากู้
การคำนวณวงเงินและจำนวนเงินที่จะได้
- ธนาคารจะคำนวณวงเงินให้จากการประเมินราคาบ้าน
- จำนวนเงินที่จะได้จะถูกเฉลี่ยตามระยะเวลาสัญญา หมายความว่า ยิ่งผู้กู้มีอายุมาก ระยะเวลาที่ธนาคารจะต้องจ่ายเงินให้ก็ยิ่งสั้นลง ทำให้ได้รับเงินต่องวดมากขึ้น
อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผู้สูงอายุ
ถึงแม้ดูเหมือนว่า ธนาคารเป็นผู้ซื้อบ้านและจ่ายเงินให้กับผู้กู้ แต่ผู้กู้ก็ยังมีภาระดอกเบี้ยที่ต้องชำระ โดยสินเชื่อผู้สูงอายุ หรือ Reverse Martgage จะคิดดอกเบี้ยอยู่ที่ 6.25% ต่อปี ตลอดอายุสัญญากู้เงิน โดยธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากเงินงวดที่ผู้กู้ทยอยรับไปทั้งหมดตามระยะเวลาการกู้จริง
ใครบ้างที่สามารถกู้สินเชื่อผู้สูงอายุได้?
คุณสมบัติผู้กู้สินเชื่อผู้สูงอายุ
- ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี แต่ไม่เกิน 80 ปี สามารถกู้ร่วมได้เฉพาะกับคู่สมรสตามกฎหมายหรือพี่น้องร่วมบิดามารดาเท่านั้น
- ผู้กู้มีกรรมสิทธิ์ในบ้าน โดยปลอดภาระจำนอง ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และต้องอาศัยอยู่ตลอดช่วงระยะเวลาที่ได้รับเงินกู้
- ผู้กู้มีรายได้ไม่พอใช้จ่าย
- ผู้กู้ต้องไม่เป็นผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
เงื่อนไขการกู้สินเชื่อผู้สูงอายุ
- บ้านที่นำมาเป็นหลักประกัน จะต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยจริง ไม่ใช่บ้านสำหรับลงทุน และต้องเป็นบ้านที่ปลอดจำนองหรือไม่เหลือภาระผ่อนชำระสินเชื่อแล้ว
- ระยะเวลาการกู้สินเชื่ออย่างน้อย 6 เดือน และสูงสุดไม่เกิน 25 ปี โดยอายุผู้กู้รวมกับระยะเวลาขอกู้ต้องไม่เกิน 85 ปี
- วงเงินให้กู้สูงสุดต่อรายต่อหลักประกันไม่เกิน 10 ล้านบาท
เอกสารยื่นขอสินเชื่อผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง
เอกสารที่ต้องใช้สำหรับสินเชื่อผู้สูงอายุจะประกอบไปด้วยเอกสาร 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ 1) เอกสารส่วนบุคคล และ 2) เอกสารหลักประกัน แตกต่างจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทั่วไปที่ต้องใช้หลักฐานทางการเงินประกอบ
เอกสารที่ต้องใช้สำหรับยื่นกู้สินเชื่อผู้สูงอายุ ได้แก่
เอกสารส่วนบุคคล
- บัตรประจำตัวประชาชน / ข้าราชการ / รัฐวิสาหกิจ
- ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
- สำเนาทะเบียนสมรส / ใบหย่า / ใบมรณะบัตร (ถ้ามี)
- สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ – สกุล (ถ้ามี)
- อื่นๆ (ถ้ามี)
เอกสารหลักประกัน
- สำเนาโฉนดที่ดิน/ น.ส.3ก. / หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด (อช.2) ทุกหน้า
- หลักฐานการเป็นเจ้าของบ้าน เช่น สำเนาใบคำขอ เลขหมายบ้าน สำเนาสัญญาซื้อขายฉบับสำนักงานที่ดิน (ทด.13 หรือ อ.ช.23)
- ทะเบียนบ้านหลักประกันที่มีชื่อผู้กู้หลักเป็น “เจ้าบ้าน” หรือ“ผู้อาศัย”
- อื่นๆ (ถ้ามี)
หมายเหตุ **ธนาคารขอสงวนสิทธิ์ในการขอเอกสารต่าง ๆ ของผู้กู้เพิ่มเติม เพื่อใช้ประกอบพิจารณาการให้สินเชื่อของธนาคาร**
FAQ: เงื่อนไขอื่นๆ ที่ควรรู้ก่อนกู้สินเชื่อผู้สูงอายุ
วงเงินที่จะได้ ธนาคารจะประเมินจากบ้านที่นำมาจำนองเป็นหลักประกัน
ยกตัวอย่างเช่น ได้วงเงินกู้ 3 ล้านบาท สำหรับใช้ 20 ปี อัตราดอกเบี้ย 6.25% ต่อปี จะได้เงินเดือนละ (3,000,000 / 240 เดือน) = 12,500 บาท
ผู้กู้ยังต้องชำระค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบ้าน
ผู้กู้ยังต้องชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ภาษีที่ดิน (ถ้ามี) ค่าส่วนกลางคอนโด อาคารชุด หรือหมู่บ้าน ค่าประกันบ้าน ค่าธรรมเนียมในการเดินเรื่องกู้สินเชื่อ ค่าบำรุงรักษาซ่อมแซมบ้าน ฯลฯ
กรรมสิทธิ์บ้านจะตกเป็นของธนาคารเมื่อผู้กู้เสียชีวิต
บ้านที่อยู่อาศัยและนำไปจำนองกู้ Reverse Mortgage จะยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้กู้จนกระทั่งครบกำหนดระยะเวลาสัญญากู้เงินและผู้กู้เสียชีวิต จากนั้นธนาคารจะนำบ้านขายทอดตลาด ในกรณีที่บ้านยังมีญาติหรือผู้อื่นอาศัยอยู่ แต่ทายาทไม่มีกำลังไถ่ถอนคืน ผู้อาศัยจำเป็นต้องย้ายออก
ทายาทสามารถไถ่ถอนบ้านคืนได้ภายหลัง
ทายาทสามารถไถ่ถอนบ้านคืนได้ หากบ้านยังไม่ถูกขายทอดตลาด โดยรูปแบบอาจเป็นการซื้อสดหรือกู้สินเชื่อบ้านเพื่อผ่อนชำระบ้านคืนจากธนาคาร
เกษียณอย่างมั่นคงกับสินเชื่อผู้สูงอายุจาก ธอส.
สินเชื่อผู้สูงอายุ หรือ Reverse Mortgage ถือเป็นอีกทางเลือกในการเกษียณ ให้ผู้สูงอายุมีเงินใช้สำหรับการดำรงชีพ ซ่อมแซมบ้าน ใช้สำหรับการดูแลรักษาตัวเอง ฯลฯ โดยใช้บ้านเป็นสินทรัพย์ในการจำนอง ซึ่งเมื่อหมดสัญญาหรือเมื่อผู้กู้เสียชีวิต หนี้สินก็ไม่ตกอยู่ที่ลูกหลาน เพราะธนาคารจะนำบ้านขายทอดตลาดและรับผิดชอบส่วนต่างไว้เอง
ทั้งนี้ สินเชื่อผู้สูงอายุก็ยังมีรายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ ที่ต้องศึกษาอย่างละเอียดก่อนที่จะตัดสินใจกู้ เพื่อการวางแผนเกษียณที่ยั่งยืนและรัดกุม
หากคุณสนใจยื่นกู้สินเชื่อผู้สูงอายุหรือต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม สามารถกรอกข้อมูล เพื่อขอคำแนะนำด้านสินเชื่อ และให้เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับ >>> ได้ที่นี่
เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ที่คอยให้คำแนะนำ พร้อมเปรียบเทียบและหยิบยื่นข้อเสนอด้านสินเชื่อที่ดีที่สุดให้กับคุณ ติดต่อเราได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาใกล้บ้านคุณ
หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.ghbank.co.th
ติดต่อ G H BANK Call Center : 02 645 9000