10 ขั้นตอนเตรียมตัวก่อนขอ “สินเชื่อบ้าน” กู้บ้านยังไงให้ผ่านฉลุย

/
/
10 ขั้นตอนเตรียมตัวก่อนขอ “สินเชื่อบ้าน” กู้บ้านยังไงให้ผ่านฉลุย

อยากยื่นขอสินเชื่อบ้านให้ผ่าน จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง? มาดู 10 ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนกู้ขอสินเชื่อ เป็นแนวทางให้คุณยื่นกู้ได้ผ่านฉลุย 

สำหรับคนที่ต้องการซื้อบ้านหรือสร้างบ้าน ทางเลือกสำคัญในปัจจุบันคงไม่ใช่การเก็บเงินให้ถึงจำนวนที่ต้องการ แต่จะเป็นการยื่นขอกู้สินเชื่อบ้านกันแทน เพราะนอกจากการขอกู้สินเชื่อบ้านจะช่วยให้ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านสามารถซื้อบ้านได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีเงินออมเต็มจำนวนแล้ว ยังช่วยให้สามารถรักษาสภาพคล่องทางการเงินในแต่ละเดือนได้ 

แต่ในการขอยื่นกู้สินเชื่อบ้าน ก็ไม่ได้สามารถทำได้ทันทีและยังมีโอกาสที่ธนาคารจะไม่อนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ยื่นกู้ทุกราย แล้วถ้าอยากยื่นขอสินเชื่อบ้านให้ผ่าน จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง? มาดู 10 ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนกู้ขอสินเชื่อต่อไปนี้ จะช่วยเป็นแนวทางให้คุณเตรียมตัวยื่นกู้ได้ผ่านฉลุย

10 ขั้นตอน วางแผนยื่นกู้สินเชื่อบ้านให้ผ่านฉลุย

10 ขั้นตอน วางแผนยื่นกู้สินเชื่อบ้านให้ผ่านฉลุย

1. เช็กรายได้และความสามารถในการผ่อนชำระ

ขั้นตอนแรก คุณต้องรู้ก่อนว่า ตอนนี้คุณมีรายได้เท่าไรและมีความสามารถในการผ่อนชำระเท่าไรต่อเดือน เพื่อที่จะได้นำไปคำนวณต่อว่า รายได้เท่านี้ จะกู้ขอสินเชื่อได้วงเงินเท่าไร 

สำหรับรายได้ หลายๆ คนก็น่าจะทราบกันดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานประจำหรือรับเงินเดือน ก็จะมีฐานรายได้ที่มั่นคง แต่สำหรับคนที่ไม่มีรายได้ประจำ เช่น พนักงานอิสระ เจ้าของธุรกิจ พ่อค้าแม่ค้า ฯลฯ  แนะนำว่า ควรตรวจสอบบัญชีและคำนวณรายได้ทั้งปีออกมาเป็น “รายได้เฉลี่ยต่อเดือน” ว่ามีจำนวนเท่าไร 

2. คำนวณยอดผ่อนชำระเบื้องต้น

การรู้ยอดผ่อนชำระต่อเดือนเบื้องต้น จะช่วยให้คุณสามารถวางแผนค่าใช้จ่ายหลังจากการขอสินเชื่อบ้านได้ โดย ธอส. มีเครื่องมือคำนวณสินเชื่อ ที่ช่วยคำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนได้ง่ายๆ เพียง 2 ขั้นตอน คือ 

  1. กรอกจำนวนเงินที่ขอกู้ ระยะเวลาที่ขอกู้ และอัตราดอกเบี้ยตามประกาศ 
  2. กด “คำนวณ” 

เพียงเท่านี้ ก็จะได้ยอดผ่อนชำระรายเดือนเบื้องต้นมาใช้สำหรับวางแผนทางการเงินแล้ว

3. เช็กภาระหนี้สินและตรวจสอบเครดิตทางการเงิน 

ก่อนที่จะยื่นกู้ขอสินเชื่อบ้าน คุณควรตรวจสอบภาระหนี้สินทั้งหมด โดยสรุปว่า ในแต่ละเดือนมีภาระที่ต้องผ่อนชำระหนี้สินทั้งหมดเท่าไร เพื่อที่คุณจะได้หาวิธีการจัดการหนี้สินต่อไป 

  • สรุปหนี้สินทั้งหมดในแต่ละเดือนที่ต้องผ่อนชำระ 
  • แยกประเภทหนี้สินออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ หนี้สินระยะยาว (มีงวดผ่อนมากกว่า 1 ปี) และหนี้สินระยะสั้น 

โดยสิ่งที่ควรให้ความสนใจ คือ หนี้สินระยะสั้น ที่ควรปิดให้จบก่อนที่จะยื่นขอสินเชื่อบ้าน 

นอกจากนี้ คนที่มีประวัติการชำระหนี้สินหลายอย่าง ทั้งบัตรเครดิต หนี้ผ่อนรถยนต์ หรือแม้กระทั่งบ้านหลังก่อนหน้านี้ ฯลฯ ควรเช็กประวัติเครดิตบูโร (Credit Bureau) เพื่อดูว่า มีประวัติค้างชำระหรือไม่ มีหนี้สินอื่นๆ ที่มองข้ามไปหรือเปล่า ตลอดจนมี “หนี้สินงอก” หรือหนี้สินที่ไม่ใช่ของเราอยู่หรือเปล่า เพื่อจัดการหนี้ให้เหลือน้อยที่สุดและรักษาวินัยในการชำระหนี้ให้น่าเชื่อถือในสายตาของธนาคาร

4. จัดการและสะสางหนี้สินก่อนยื่นขอสินเชื่อบ้าน

ก่อนยื่นกู้บ้าน สิ่งที่ควรทำ คือ พยายามสะสางหนี้สินต่างๆ ให้ได้มากที่สุด ทั้งปิดหนี้สินที่ยังชำระไม่หมด รวมไปถึงการปิดบัตรเครดิตบางเจ้าที่ไม่จำเป็น เพื่อลดโอกาสเป็นหนี้เพิ่มในระยะสั้นๆ 

ข้อดีของการจัดการและสะสางหนี้สินก่อนยื่นกู้ก็มีหลายข้อด้วยกัน เช่น

  • ช่วยเพิ่มวงเงินที่สามารถกู้ได้ เพราะผู้ยื่นกู้จะมีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้มากขึ้น 
  • ช่วยให้ธนาคารเห็นถึงวินัยและความสามารถในการจัดการหนี้สิน ควรชำระหนี้ต่างๆ เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล หรือผ่อนชำระงวดรถ ตรงเวลา 
  • ช่วยให้เกิดสภาพคล่อง ลดรายจ่ายประจำ (Fixed cost) ในแต่ละเดือนลง 

โดยหนี้สินที่ควรจัดการและสะสางให้หมดก่อนยื่นกู้ ได้แก่ หนี้สินระยะสั้นหรือหนี้สินที่ไม่ได้ก่อให้เกิดกำไรในอนาคต เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล การผ่อนชำระสินเชื่ออื่นๆ หรือพยายามไล่ปิดหนี้สินก้อนเล็กๆ ก่อน เพื่อให้เหลือหนี้ที่ต้องชำระจำนวนน้อยที่สุด

5. ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

โดยรายจ่ายที่ควรควบคุมและปรับลดลงก็คือ รายจ่ายไม่ประจำ เช่น ค่าบัตรโรงภาพยนตร์ ค่าอาหารนอกบ้าน ค่าใช้จ่ายสำหรับงานเลี้ยงสังสรรค์ รวมถึง ค่าซ่อมแซมบ้านและค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ซึ่งมักจะเป็น “รูรั่ว” สำคัญที่ทำให้เงินในกระเป๋าลดหายลงไป หากตัดค่าใช้จ่ายลดได้มาก รวมถึงลดหนี้สินลง ก็เท่ากับว่า คุณจะมีโอกาสกู้ขอวงเงินสินเชื่อบ้านได้มากขึ้น มีสภาพคล่องมากขึ้น 

นอกจากนี้ เมื่อธนาคารสอบประวัติการเงิน ก็จะตีความได้ว่า คุณมีนิสัยทางการเงินที่น่าเชื่อถือนั่นเอง 

6. จัดระเบียบรายการเดินบัญชี แจกแจงรายได้

จัดระเบียบรายการเดินบัญชี แจกแจงรายได้

เพื่อให้การยื่นขอสินเชื่อผ่านฉลุย เพิ่มโอกาสที่ธนาคารจะอนุมัติวงเงินสินเชื่อให้มากขึ้น แนะนำให้เตรียมตัวจัดระเบียบรายการเดินบัญชีให้สวยงาม เพราะรายการเดินบัญชี คือ หลักฐานที่ธนาคารจะขอเพื่อยืนยันรายได้ แหล่งที่มารายได้ และพฤติกรรมการใช้เงิน 

  • สำหรับพนักงานประจำ/คนที่มีเงินเดือน จะมีสลิปเงินเดือนและรายได้ที่มั่นคงแน่นอน ให้เก็บออมเงินเอาไว้ ไม่ใช้เงินจนหมดบัญชี หรือมีการจัดการการเงินที่น่าเชื่อถือ เช่น โอนเงินเพื่อเก็บออมในทุกเดือน 
  • สำหรับพนักงานอิสระ/ฟรีแลนซ์/เจ้าของธุรกิจ การเดินบัญชีมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะไม่มีสลิปเงินเดือนที่ยืนยันรายได้ที่มั่นคงกับธนาคาร จึงต้องมีประวัติการเดินบัญชีที่น่าเชื่อถือ โดยคนกลุ่มนี้ ควรมีรายได้เข้าบัญชีอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ 6 -12 เดือนก่อนยื่นกู้ ควรทำรายรับ-รายจ่ายของธุรกิจ เพื่อแสดงที่มาของรายได้ ตลอดจนเสียภาษีทุกครั้งเพื่อเป็นประวัติยืนยันรายได้ขั้นต่ำ

7. รักษาวินัยทางการเงิน 

เมื่อสะสางหนี้สินแล้ว อีกสิ่งที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ยื่นขอสินเชื่อบ้านผ่านในหนเดียว คือ การรักษาวินัยทางการเงิน ให้เห็นออกมาเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธนาคาร โดยสิ่งที่คุณทำได้ก็มีหลายวิธีด้วยกัน เช่น

  • เก็บออมเงินทุกเดือนหรือทุกครั้งที่มารายได้เข้าบัญชี
  • ควบคุมรายจ่ายในแต่ละเดือนให้ใกล้เคียงกัน 
  • ลงทุนเพิ่มเติม เช่น สะสมหุ้น เงินฝากระยะยาว ซื้อสลาก

ไอเดียหรือวิธีการข้างต้น จะช่วยเป็นคะแนนในเชิงบวกต่อการยื่นขอสินเชื่อบ้านได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ไม่มีสลิปเงินเดือน ซึ่งการรักษาวินัยทางการเงินให้ธนาคารเห็นอย่างเป็นรูปธรรมจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ยื่นกู้สินเชื่อผ่านได้มากขึ้น

8. พิจารณาเลือกสินเชื่อบ้านและธนาคาร

อีกขั้นตอนในการเตรียมตัวยื่นขอสินเชื่อบ้านที่จะข้ามไปไม่ได้เลย คือ การศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อบ้าน และเลือกดูว่าจะยื่นกู้สินเชื่อกับธนาคารไหนดี เพราะแต่ละธนาคารก็มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่แตกต่างกันไป พร้อมกับเกณฑ์ในการอนุมัติที่ไม่เหมือนกัน   

โดยเกณฑ์ที่อยากแนะนำให้พิจารณาในการเลือกสินเชื่อและธนาคาร มีดังนี้

  • สวัสดิการบริษัทหรือตำแหน่งงานพิเศษ เช่น พนักงานข้าราชการอาจมีสินเชื่อที่ให้วงเงินได้มากกว่าหรือมีสิทธิประโยชน์ที่มากกว่าบุคคลทั่วไป หรือบางบริษัทอาจมีการทำข้อตกลงกับธนาคารให้ได้สิทธิประโยชน์พิเศษในการขอสินเชื่อ
  • วงเงินและระยะเวลาผ่อนชำระ เปรียบเทียบดูว่า ผลิตภัณฑ์สินเชื่อของแต่ละธนาคาร เจ้าไหนที่สามารถให้วงเงินได้สูงกว่า เช่น 95% หรือ 100% ของราคาประเมิน รวมไปถึง ระยะเวลาชำระ หากระยะเวลาผ่อนชำระยาวนาน ก็มีโอกาสขอวงเงินได้สูงขึ้นอีกเล็กน้อย และหนี้สินที่ต้องชำระต่อเดือนก็จะลดลง ทำให้มีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น 
  • อัตราดอกเบี้ย ควรเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระจากสินเชื่อบ้านของแต่ละธนาคาร โดยส่วนใหญ่แล้ว หลายๆ ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยแบบผสม มีทั้ง Fixed rate ในช่วงแรก และจากนั้นเป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัว หรือ Float rate ดังนั้น เพื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่า ควรหาอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย 3 ปี เพื่อเปรียบเทียบกัน ว่าธนาคารไหนจ่ายน้อยที่สุด 
  • โปรโมชันและเงื่อนไขอื่นๆ ของธนาคาร ดูว่ามีโปรโมชันอะไรที่น่าสนใจในช่วงนี้หรือไม่ ดูคุณสมบัติผู้ขอกู้สินเชื่อ เอกสารที่ต้องใช้ สอบถามค่าดอกเบี้ยกรณีผิดนัด ค่าธรรมเนียมในการยื่นกู้ ฯลฯ 

9. เตรียมเอกสารไปยื่นธนาคาร

โดยทั่วไปแล้ว ธนาคารจะขอหลักฐาน/เอกสารจากผู้ยื่นกู้ใน 3 หมวดด้วยกัน ได้แก่ 1) เอกสารส่วนบุคคล 2) เอกสารทางการเงิน และ 3) เอกสารหลักประกัน ทั้งนี้ สำหรับหมวดเอกสารการเงิน จะแบ่งออกเป็น 2 กรณีสำหรับผู้ที่ทำงานประจำและผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ 

เตรียมเอกสารไปยื่นธนาคาร

สรุปเอกสารยื่นกู้ขอสินเชื่อบ้านที่ต้องเตรียม มีดังนี้

เอกสารส่วนบุคคล 

  • บัตรประจำตัวประชาชน / บัตรข้าราชการ / บัตรรัฐวิสาหกิจ
  • สำเนาทะเบียนสมรส / ใบหย่า / ใบมรณะบัตร (คู่สมรส) (ถ้ามี)
  • สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ – สกุล (ถ้ามี)
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนคู่สมรส (ถ้ามี)

เอกสารทางการเงิน (กรณีเป็นพนักงานประจำ)

  • ใบรับรองเงินเดือน / หนังสือผ่านสิทธิสวัสดิการ
  • สลิปเงินเดือนหรือหลักฐานการรับเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน
  • สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน

เอกสารทางการเงิน (กรณีผู้ประกอบอาชีพอิสระ/เจ้าของกิจการ)

  • สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 12 เดือน/หลักฐานแสดงฐานะการเงินอื่นๆ (พร้อมเอกสารฉบับจริง)
  • สำเนาทะเบียนการค้า/ทะเบียนบริษัท/ห้างหุ้นส่วน
  • หลักฐานการเสียภาษีเงินได้
  • รูปถ่ายกิจการ
  • สำเนาใบประกอบวิชาชีพ

เอกสารหลักประกัน

  • สำเนาจะซื้อจะขาย / สัญญาวางมัดจำ 
  • หลักฐานการเป็นเจ้าของอาคาร
  • สำเนาโฉนดที่ดิน / นส.3ก / หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด / อช.2 ทุกหน้า
  • ใบอนุญาตปลูกสร้าง / ต่อเติม
  • แบบแปลน
  • ใบประมาณการปลูกสร้าง / สัญญาว่าจ้างก่อสร้าง

หมายเหตุ ธนาคารอาจขอเอกสารเพิ่มเติมจากผู้ขอกู้ตามแต่กรณี เพื่อใช้ประกอบพิจารณาการให้สินเชื่อ

10. เก็บออมเงินสำหรับดาวน์บ้าน/คอนโด

ในระหว่างที่เตรียมตัวก่อนขอสินเชื่อบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการเดินบัญชีธนาคารให้น่าเชื่อถือ สะสางหนี้สิน พยายามรักษาวินัยทางการเงิน ฯลฯ อีกสิ่งที่อยากแนะนำให้ทำ คือ การพยายามเก็บออมเงินสำหรับดาวน์บ้านหรือคอนโดจำนวน 10% – 20% ของราคาบ้านที่ต้องการ 

เพราะในบางกรณี ธนาคารอาจไม่ได้ให้วงเงินสินเชื่อเต็ม 100% และบางโครงการอาจขอเงินดาวน์สดเพื่อจองบ้านหรืออาจให้ผ่อนระยะสั้นๆ ระหว่างที่รอโครงการกำลังก่อสร้าง ซึ่งเงินดาวน์ 10% ถือว่าไม่ใช่เงินจำนวนเล็กน้อย หากบ้าน ราคา 1,500,000 บาท เงินดาวน์ก็อยู่ที่ 150,000 – 300,000 บาท เลยทีเดียว 

เพื่อไม่ให้บ้านที่ต้องการหลุดลอยไป การออมเงินเพื่อซื้อบ้านเผื่อสำหรับเงินดาวน์ไว้ คือ ทางที่ปลอดภัย ทั้งนี้ คุณอาจเก็บออมเงินดาวน์ไปพร้อมกับการเก็บออมเพื่อเดินบัญชีสำหรับผ่อนบ้านไปพร้อมกันได้ 

สาเหตุยอดฮิตที่ทำให้ถูกปฏิเสธสินเชื่อบ้าน

หลังจากที่ได้รู้ถึงขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนกู้สินเชื่อบ้านเพื่อการกู้บ้านยังไงให้ผ่านฉลุยไปแล้ว การถูกปฏิเสธสินเชื่อบ้านเป็นประสบการณ์ที่น่าผิดหวังสำหรับผู้ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง เราจะพามาดูกันว่าสาเหตุยอดฮิตที่ทำให้ผู้ขอสินเชื่อถูกปฏิเสธมีอะไรบ้าง เพื่อให้คุณสามารถวางแผนและเตรียมตัวได้ดียิ่งขึ้น และเป็นการเพิ่มโอกาสได้รับอนุมัติสินเชื่อบ้านในอนาคต

รายได้ไม่แน่นอน อาชีพไม่มั่นคง

เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้คนซื้อบ้านถูกปฏิเสธสินเชื่อ โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับกลุ่มอาชีพฟรีแลนซ์ เนื่องจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อจะพิจารณาจากรายได้หรือรายรับที่เข้าบัญชีเป็นสำคัญ ซึ่งธนาคารต้องการเห็นว่าผู้กู้มีเงินเข้าบัญชีเป็นประจำทุกเดือนและต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นขอสินเชื่อ หากรายได้ของคุณไม่สม่ำเสมอหรือไม่สามารถแสดงหลักฐานรายได้ที่ชัดเจนได้ อาจทำให้ธนาคารไม่มั่นใจในความสามารถในการผ่อนชำระของคุณ

รายรับน้อยกว่ารายจ่าย

ธนาคารมักกำหนดให้ผู้กู้มีภาระหนี้สินไม่เกิน 40% ของรายได้ เพื่อประเมินความสามารถในการผ่อนบ้านและป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ในอนาคต หากคุณมีรายจ่ายสูงเกินไปเมื่อเทียบกับรายรับ ธนาคารอาจมองว่าคุณมีความเสี่ยงสูงในการผิดนัดชำระหนี้

ภาระหนี้สินล้นมือ จนติดแบล็กลิสต์

การมีประวัติเครดิตที่ไม่ดีหรือติดแบล็กลิสต์เป็นอุปสรรคสำคัญในการขอสินเชื่อบ้าน ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากแบกรับภาระหนี้สินจนทำให้ติดรายชื่อในประวัติเครดิตบูโร ซึ่งส่งผลให้ยากต่อการขอกู้เงินซื้อบ้านจากธนาคาร

คำถามที่พบบ่อย

ทำเรื่องกู้บ้านไม่ผ่านเพราะอะไร?

การถูกปฏิเสธสินเชื่อบ้านเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังสำหรับผู้ที่มีความฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง โดยสาเหตุยอดนิยมที่ทำให้หลายคนกู้บ้านไม่ผ่าน ได้แก่ 

  • รายได้ไม่เพียงพอหรืออาชีพไม่มั่นคง ธนาคารจะพิจารณารายได้ของผู้กู้เป็นอันดับแรก หากคุณมีรายได้ไม่เพียงพอหรือไม่มั่นคง โอกาสที่จะได้รับอนุมัติสินเชื่อก็จะลดลง โดยทั่วไปธนาคารมักกำหนดให้ภาระการผ่อนชำระต้องไม่เกิน 30-40% ของรายได้สุทธิต่อเดือน
  • ประวัติเครดิตไม่ดี ประวัติการชำระหนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ธนาคารใช้ประเมินความน่าเชื่อถือทางการเงินของผู้กู้ หากคุณเคยผิดนัดชำระหนี้หรือมีประวัติการชำระล่าช้า โอกาสที่จะได้รับอนุมัติสินเชื่อก็จะลดน้อยลง
  • มีภาระหนี้สินมากเกินไป ธนาคารจะพิจารณาภาระหนี้สินทั้งหมดของคุณ รวมถึงหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และหนี้อื่น ๆ หากคุณมีภาระหนี้สินมากเกินไป ธนาคารอาจมองว่าคุณมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่สามารถผ่อนชำระได้ในอนาคต

ทำเรื่องกู้บ้านยากไหม

การทำเรื่องกู้บ้านไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป หากคุณมีการวางแผนที่ดีและเตรียมตัวมาอย่างรอบคอบ การเข้าใจกระบวนการกู้บ้านอย่างละเอียดและปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น จะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับอนุมัติสินเชื่อและทำให้คุณสามารถเป็นเจ้าของบ้านในฝันได้อย่างมั่นใจ

เงินเดือนเท่าไหร่ถึงจะสามารถกู้ซื้อบ้านได้

สำหรับคำถามที่ว่าเงินเดือนเท่าไหร่ถึงจะสามารถกู้ซื้อบ้านได้ คำตอบคือไม่มีตัวเลขที่ตายตัว แต่โดยทั่วไปแล้วทางธนาคารมักกำหนดให้ภาระการผ่อนชำระไม่เกิน 30-40% ของรายได้สุทธิต่อเดือน ดังนั้น หากยิ่งมีรายได้สูง โอกาสในการกู้บ้านก็จะเพิ่มมากขึ้น

ทำเรื่องกู้ซื้อบ้าน ใช้เวลากี่วันถึงรู้ผล

ระยะเวลาในการพิจารณาสินเชื่อบ้านขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน แต่โดยทั่วไปแล้วอาจใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ หากเอกสารครบถ้วนและไม่มีปัญหาใด ๆ ติดขัด

รู้ได้อย่างไรว่าตัวเองติดแบล็กลิสต์

หากคุณวางแผนกู้สินเชื่อบ้าน และต้องการตรวจสอบว่าตัวเองติดแบล็กลิสต์หรือเครดิตบูโรหรือเปล่า สามารถทำได้ด้วยวิธี ดังนี้

  • ขอรายงานเครดิตออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของเครดิตบูโร
  • ยื่นคำขอที่สำนักงานเครดิตบูโรโดยตรง
  • ขอผ่านธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร

ยื่นสินเชื่อบ้านกับ ธอส. อนุมัติผ่านง่าย สินเชื่อบ้านสำหรับทุกคน

สำหรับใครที่กำลังวางแผนกู้ซื้อบ้านอยู่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์มีสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับเงื่อนไขของคนแต่ละสายอาชีพ และเปิดกว้างให้กับผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยหลากหลายกลุ่ม

หากคุณสนใจขอสินเชื่อบ้านจาก ธอส. สามารถทำการกรอกข้อมูล เพื่อขอคำแนะนำด้านสินเชื่อ และให้เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับ >>> ได้ที่นี่

เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ที่คอยให้คำแนะนำ พร้อมเปรียบเทียบและยื่นข้อเสนอด้านสินเชื่อที่ดีที่สุดให้กับคุณ ติดต่อเราได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาใกล้บ้านคุณ หรือ

หรือสามารถติดต่อได้ที่ ธฮส. ทุกสาขาทั่วประเทศ และ G H Bank Call Center : 0-2645-9000

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
-

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณ
อาจสนใจ

อัปเดตล่าสุด! คอนโดติดรถไฟฟ้า 0 เมตร ทำเลทอง ใกล้สถานที่สำคัญ ครบครันทุกความต้องการ พร้อมข้อมูลสินเชื่อจาก G H Bank
รู้ไว้ไม่เสียหาย! รวมกฎหมายคุ้มครองผู้ซื้อบ้าน การทำสัญญาซื้อขาย สัญญารับประกันงานก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายด้านภาษีที่เกี่ยวข้อง
ซื้อบ้านใหม่ต้องย้ายทะเบียนบ้านไหม? รวม 5 ข้อควรรู้เรื่องทะเบียนบ้าน วิธีย้ายที่ถูกต้อง ประโยชน์ภาษี และขั้นตอนทั้งหมดสำหรับเจ้าของบ้านมือใหม่

ติดตามข่าวสารจาก GH BANK

อัปเดตทุก
เรื่องบ้าน

อัพเดตเรื่องบ้านก่อนใคร รู้ก่อนได้เปรียบ

ติดตามข่าวสารจาก GH BANK

อัปเดตทุก
เรื่องบ้าน

อัพเดตเรื่องบ้านก่อนใคร รู้ก่อนได้เปรียบ

ติดตามข่าวสารจาก GH BANK

อัปเดตทุก เรื่องบ้าน

อัพเดตเรื่องบ้านก่อนใคร รู้ก่อนได้เปรียบ

ค้นหาตาม Keyword เช่น การเงิน, การลงทุน, สินเชื่อ, บ้าน