อย่างที่ทราบกันดีว่าแสงแดดในประเทศไทยนั้นร้อนขนาดไหน โดยเฉพาะในฤดูร้อนยิ่งทำให้อากาศนั้นอบอ้าวยิ่งขึ้นไปอีก จะดีกว่าไหมหากเราสามารถนำแสงแดดที่แผดเผา มาใช้ประโยชน์เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากค่าไฟภายในบ้าน อย่างเช่นการติดตั้ง โซลาร์เซลล์
บทความนี้ ธอส. จึงจะมาทำการแนะนำข้อควรรู้ก่อนติดตั้งโซลาร์เซลล์ในบ้าน และวิธีการใช้ประโยชน์สูงสุด เพื่อให้คุณสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่ แต่สามารถลดค่าใช้จ่ายได้เกือบเท่าตัว!
ข้อควรรู้ก่อนติดตั้งโซลาร์เซลล์ในบ้าน
โซลาร์เซลล์ในบ้าน เป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดที่หลายๆ คนนิยมติดตั้งเพื่อลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือน โดยข้อดีคร่าวๆ ของโซลาร์เซลล์นั้นมีด้วยกันดังนี้
- ติดตั้งง่าย เข้าใจการทำงานได้ไม่ยาก
- ช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้มากกว่าครึ่ง (สำหรับครัวเรือน)
- สามารถใช้สำรองพลังงานไฟฟ้าเก็บไว้ หรือใช้ในพื้นที่ห่างไกลที่ระบบไฟฟ้าเข้าไม่ถึงได้
- ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
แต่ทว่าในข้อดีและความคุ้มค่าเหล่านี้ ก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายในการติดตั้งที่ค่อนข้างสูง และต้องทำการเดินเรื่องเพื่อขออนุญาตติดตั้งจากทางรัฐบาลอีกด้วย โดยข้อควรรู้ก่อนที่คุณจะเริ่มติดตั้งโซลาร์เซลล์ภายในบ้านนั้น มีด้วยกันดังนี้!
โซลาร์เซลล์ในบ้านมีกี่ประเภท? แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?
เรามาดูกันว่าโซลาร์เซลล์ในบ้านนั้นมีด้วยกันกี่ประเภท? แล้วแต่ละประเภทนั้นมีความแตกต่างหรือไม่? อย่างไรบ้าง
ปัจจุบันโซลาร์เซลล์ มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท ซึ่งจะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป ดังนี้
โมโนคริสตัลไลน์ (Monocrystalline Silicon Solar Cells)
ข้อดี: มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถผลิตโซลาร์เซลล์ได้มากกว่าชนิดฟิล์มบางมากถึง 4 เท่า นอกจากนี้ยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าชนิดโพลีคริสตัลไลน์ เมื่ออยู่ในภาวะแสงน้อย อีกทั้งยังมีอัตราการเสื่อมสภาพต่ำอีกด้วย
ข้อเสีย: เนื่องจากมีประสิทธิภาพดีที่สุดจึงมีราคาที่ค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ มีโอกาสเกิดปัญหาเมื่อแผงวงจรเกิดสกปรกมากๆ อาจทำให้แผงวงจรเกิดการไหม้ได้
โพลีคริสตัลไลน์ (Polycrystalline Silicon Solar Cells)
ข้อดี: มีกำลังผลิตไฟฟ้าในระดับที่พอดี และมีราคาถูกกว่าประเภทโมโนคริสตัลไลน์ค่อนข้างมาก
ข้อเสีย: มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าลดลงเมื่ออยู่ในสภาวะแสงน้อย
โซลาร์เซลล์ชนิด ฟิล์มบาง (Thin Film Solar Cells)
ข้อดี: มีราคาถูกที่สุด ติดตั้งได้ง่าย ไม่เกิดปัญหาด้านแผงวงจรไหม้เมื่อโซลาร์เซลล์สกปรก
ข้อเสีย: เนื่องจากมีราคาถูก จึงมีประสิทธิภาพต่ำที่สุดนั่นเอง
โดยทั้งนี้ แนะนำว่าให้สอบถามเพิ่มเติมกับผู้ให้บริการติดตั้งก่อนจะทำการสั่งซื้อจะเป็นการดีที่สุด
ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งโซลาร์เซลล์
โดยเฉลี่ยแล้วค่าใช้จ่ายในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ภายในบ้านจะมีราคาตั้งแต่ 160,000 บาทขึ้นไป (อาจมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับการตั้งราคาของผู้จัดจำหน่าย) โดยจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนได้ราวๆ 1,500 บาท
ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลาประมาณ 8.8 ปีในการคืนทุนค่าติดตั้งนั่นเอง เรียกได้ว่าในช่วงนี้สามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าลงไปได้มากกว่าครึ่งเลยทีเดียว
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์: https://www.nexte.co.th/
ขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้งโซลาร์เซลล์ในบ้าน
ขั้นตอนการเดินเรื่องขออนุญาตติดตั้งโซลาร์เซลล์ภายในบ้านนั้นเรียกได้ว่ามีความยุ่งยากพอสมควรเลยทีเดียว โดยจะมีขั้นตอนด้วยกันดังนี้
- ยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้าไปยัง การไฟฟ้านครหลวง (MEA) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)
- ตรวจสอบความจุของหม้อแปลงว่าสามารถรับระบบโซลาร์เซลล์ได้หรือไม่
- รอการแจ้งผลประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก
- ชำระค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า และลงนามซื้อขายไฟฟ้า
ทั้งหมดนี้จะใช้เวลาราวๆ 1 เดือน ซึ่งเมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้วการไฟฟ้าจะเข้ามาทำการเปลี่ยนมิเตอร์ให้เป็น Smart Meter เพื่อรองรับการใช้งานโซลาร์เซลล์นั่นเอง โดยจะมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 9,095 บาท (8,500 บาท + ภาษี 7% 595 บาท) เป็นค่าเปลี่ยน Smart Meter
อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการติดตั้งโซลาร์เซลล์จำนวนมากก็ได้มีบริการเดินเรื่องขอใบอนุญาตให้เสร็จสรรพเช่นเดียวกัน จึงทำให้คุณสามารถดำเนินการต่างๆ ได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้น
วิธีติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
แม้ว่าประเทศไทยจะมีแสงแดดตลอดทั้งปี แต่หากติดตั้งโซลาร์เซลล์ผิดจุดก็อาจจะไม่สามารถดึงประสิทธิภาพออกมาใช้งานได้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น วิธีติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดก็คือ การคำนึงในเรื่องของ ทิศทาง นั่นเอง
ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์นั้น ทิศทางที่ติดตั้งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยแนะนำให้ทำการติดโซลาร์เซลล์ที่ทิศตะวันตก หรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นทิศที่มีปริมาณแสงแดดจ้า และมีการส่องเข้ามาของแสงมากที่สุด
โซลาร์เซลล์มีระยะเวลาการใช้งานได้นานแค่ไหน?
โดยปกติเรามักจะเข้าใจว่าโซลาร์เซลล์ในบ้านจะมีอายุการใช้งานประมาณ 25 ปี แต่ความจริงแล้วหลังจาก 25 ปีก็ยังคงสามารถใช้งานได้ เพียงแต่กำลังในการผลิตไฟฟ้าจะลดลงเรื่อยๆ
โซลาร์เซลล์นั้นจะมีการเสื่อมสภาพ และอัตราการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงเรื่อยๆ ตามอายุการใช้งาน โดยเฉลี่ยแล้วจะมีอัตราการการผลิตไฟฟ้าจะลดลงประมาณ 0.6 – 1% ต่อปี
อยากติดโซลาร์เซลล์แต่ทุนไม่พอ ขอแนะนำ! สินเชื่อจาก ธอส.
หากคุณสนใจติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อลดค่าใช้จ่ายภายในบ้าน แต่ยังมีเงินทุนไม่พอ ธนาคารอาคารสงเคราะห์มีข้อเสนอสินเชื่อเพื่อการรีโนเวทบ้านดีๆ มาให้กับคุณ
เรามีสินเชื่อสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และปานกลาง หรือกลุ่มผู้มีรายได้สูง เราก็มีผลิตภัณฑ์หลากหลายที่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสม
หากคุณสนใจขอสินเชื่อเพื่อการรีโนเวทบ้านจาก ธอส. สามารถทำการกรอกข้อมูล เพื่อขอคำแนะนำด้านสินเชื่อ และให้เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับ >>> ได้ที่นี่
เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ที่คอยให้คำแนะนำ พร้อมเปรียบเทียบและหยิบยื่นข้อเสนอด้านสินเชื่อที่ดีที่สุดให้กับคุณ ติดต่อเราได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาใกล้บ้านคุณ หรือ
ติดต่อศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์: 02 645 9000