ในยุคที่ทุกคนต่างมีสมาร์ทโฟนติดตัวตลอดเวลา และขอแค่ให้มีอินเทอร์เน็ตเท่านั้น เราก็สามารถทำหลายสิ่งหลายอย่างบนหน้าจอสี่เหลี่ยมขนาดไม่ใหญ่ไปกว่าฝ่ามือได้ เช่นเดียวกับการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ เราต่างก็คุ้นเคยกับความสะดวกเพียงปลายนิ้ว และฟีเจอร์ต่างๆ ที่ช่วยให้การจัดการการเงินเป็นเรื่องง่าย
คงไม่ต้องพูดถึงข้อดีของการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์กันให้มากความ เพราะทุกคนที่ใช้บริการคงรู้ดี แต่ในบทความนี้ อยากให้คุณกลับมาพิจารณาความสะดวก ความง่าย ของบริการการเงินออนไลน์ดูอีกครั้งว่า เราจะทำธุรกรรมการเงินออนไลน์อย่างไรให้ปลอดภัย เฝ้าระวังภัยจากความคุ้นชิน
อย่างไรก็ตาม เรามาทบทวนธุรกรรมการเงินออนไลน์กันอีกครั้ง จากนั้นจึงค่อยๆ ทำรู้จักรูปแบบการรักษาความปลอดภัยของธนาคาร แล้วมาดูกันว่า ถ้าจะใช้บริการการเงินออนไลน์ให้ปลอดภัย เราควรทำอะไรบ้าง
ทำความรู้จักธุรกรรมการเงินออนไลน์
ธุรกรรมการเงินออนไลน์ (Online Banking หรือ Internet Banking) คือ การทำธุรกรรมเกี่ยวกับการเงิน-การธนาคารไม่ว่าจะโอนเงิน ถอนเงิน ซื้อหน่วยลงทุน จ่ายบิล หรือติดต่อเรื่องอื่นๆ กับธนาคารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และช่องทางในการเข้าถึงบริการก็มีทั้งผ่านตู้ ATM ผ่านหน้าเว็บไซต์ของธนาคารเอง หรือที่นิยมกันมากที่สุดในทุกวันนี้ก็คือ แอปพลิเคชัน
ช่องทาง Mobile Application Banking
ช่องทางบริการผ่านแอปพลิเคชัน เป็นช่องทางที่สะดวกที่สุดและเป็นมิตรกับการใช้งานบนสมาร์ทโฟน (Mobile Friendly) และให้บริการที่ครอบคลุมแทบจะทุกธุรกรรมการเงิน นอกจากจะโอน ถอน จ่ายบิลทั่วไปได้แล้ว ข้อดีข้อเด่นของแอปพลิเคชันการเงินออนไลน์ คือ ช่วยให้เราสามารถบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะสามารถตรวจสอบยอดเงินคงเหลือ รายการโอนเงิน ประวัติธุรกรรมการเงินอื่นๆ ยอดบัตรเครดิต ฯลฯ ได้ตลอดเวลา
รูปแบบของการรักษาความปลอดภัยของธุรกรรมออนไลน์
อย่างที่ทุกๆ คนเคยใช้บริการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์บนแอปพลิเคชัน พอเปิดแอปฯ ขึ้นมา หรือเข้าใช้งานผ่านตู้ ATM หรือหน้าเว็บไซต์ เราก็จะต้อง ‘กรอกรหัส’ เพื่อยืนยันตัวตน ซึ่งนี่ก็เป็นระบบรักษาความปลอดภัยที่จำเป็น คุณคงนึกออกว่า หากใครสามารถเข้าถึงบัญชีคุณได้ง่ายๆ เขาจะทำอะไรได้บ้าง และคุณก็คงไม่อยากให้เรื่องแบบนั้นเกิดขึ้น
การเข้ารหัสเพื่อทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ในปัจจุบัน ก็มีความรัดกุมและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งคุณสามารถเลือกการเข้ารหัสใช้งานได้ถึง 3 วิธีด้วยกัน
1.การเข้ารหัสตัวเลขหกหลัก
แต่ก่อน หลายๆ คนคงจำกันได้ ว่าธนาคารจะให้เรากรอกรหัสเป็นตัวเลขเพียง 4 ตัวเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ ธนาคารจะให้เราตั้งรหัส 6 ตัว ในการยืนยันตัวตนเข้าใช้บริการ เพิ่มความปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม รหัสตัวเลขนั้นมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดี คือ สามารถจำได้ง่าย และข้อเสียก็เช่นเดียวกัน คนอื่นก็เดาได้ง่าย ข้อห้าม คือ ห้ามใช้ตัวเลขเรียงกัน หรือเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับเรา เช่น วัน/เดือน/ปี เกิด หลายเลขโทรศัพท์ หรือข้อมูลอื่นๆ ที่ผู้อื่นรู้
2.การเข้ารหัสส่วนบุคคล
รหัสส่วนบุคคล หรือ รหัสที่เราคิดเองโดยที่ไม่จำกัดว่าต้องเป็นตัวเลขเท่านั้น แม้หลายคนจะไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไร แต่จริงๆ ยังมีการใช้กันอยู่ในการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ประเภทตัดบัตรเครดิตออนไลน์
ข้อดีของรหัสประเภทนี้ คือ คุณสามารถตั้งรหัสที่ยากขึ้นกว่าแค่ตัวเลขได้ โดยประสมตัวอักษร ตัวเลข และเครื่องหมายต่างๆ ไว้ด้วยกันได้ เช่น “GHB.1234” แต่เพราะความซับซ้อน ก็อาจทำให้จำรหัสคลาดเคลื่อนได้เหมือนกัน จะตั้งรหัสอะไรจึงต้องแน่ใจว่า เราจะจำได้จริงๆ
3.การใช้ลายนิ้วมือ
จากเทคโนโลยี Touch ID ของสมาร์ทโฟน สู่การยืนยันตัวตนเข้าใช้แอปพลิเคชันการธนาคารด้วยลายนิ้วมือ เป็นวิธีเข้ายืนยันตัวตนที่รัดกุม ปลอดภัย ด้วยอัตลักษณ์ลายนิ้วมือเพียงหนึ่งเดียวของแต่ละคน หากโทรศัพท์ใครมีระบบ Touch ID ก็น่าจะได้เคยใช้กันมาบ้าง ทั้งนี้ ระบบนี้ก็ยังต้องการการยืนยันด้วยการเข้ารหัสตัวเลขอีกครั้ง เมื่อต้องการทำธุรกรรม ประโยชน์หลักของระบบนี้จึงเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้กับบัญชีของเรา
ความปลอดภัยเรื่องออนไลน์ที่ทุกคนมักมองข้าม
เข้าประเด็นของบทความกันเลยในหัวข้อนี้ ลองมาดูกันว่า มีเรื่องอะไรที่คุณมองข้ามไปหรือเปล่าตอนที่ทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ซึ่งสิ่งที่มองข้ามเหล่านี้อาจทำให้คุณเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้
- อุปกรณ์ที่ใช้เข้าถึงบริการ ไม่ควรใช้คอมพิวเตอร์ผู้อื่น และคอมพิวเตอร์ของร้านอินเทอร์เน็ตเด็ดขาด เพื่อป้องกันการถูกขโมยข้อมูล ทั้งนี้ ไม่ควรใช้สมาร์ทโฟนที่ผ่านการดัดแปลงระบบปฏิบัติการมาด้วย เพราะระบบป้องกันข้อมูลอาจมีปัญหา
- แอปพลิเคชันและซอฟต์แวร์เถื่อน ถ้าในคอมพิวเตอร์ของคุณมีโปรแกรมเถื่อนหรือบนสมาร์ทโฟนมีแอปพลิเคชันที่ไม่ได้อยู่ใน Store ซอฟต์แวร์และแอปฯ เหล่านั้นอาจเป็นเครื่องมือดักจับข้อมูลของเรา หรือเป็นช่องทางให้ไวรัสเข้ามาแฮกระบบได้
- Wifi แน่นอนว่าจะทำธุรกรรมออนไลน์ อย่างไรๆ ก็ต้องใช้อินเทอร์เน็ต แต่การใช้ Wifi สาธารณะโดยไม่เลือก ก็เสี่ยงที่จะถูกขโมยข้อมูลและรหัสไปได้ ทางทีดีควรใช้อินเทอร์เน็ตส่วนตัว เช่น Wifi ของที่บ้าน หรือผ่านเครือข่าย 3G 4G แทนจะปลอดภัยกว่า
- ลิงก์เว็บไซต์ของธนาคาร ข้อนี้หลายๆ คนอาจจะพลาด ทำให้ต้องไปเจอ ‘เว็บปลอม’ ที่ทำเลียนแบบเว็บไซต์ของธนาคาร หากจะเข้าใช้บริการ ก็ควรเข้าถึงโดยการพิมพ์ URL ด้วยตัวเอง เพราะถ้าค้นหาใน Search Engine ก็อาจเจอเว็บปลอมที่มี URL ใกล้เคียงกัน และอีกวิธีสังเกตก็คือ ลิงก์ที่ปลอดภัยจะเป็น “https” และมีสัญลักษณ์แม่กุญแจอยู่ข้างหน้า ซึ่งหมายถึงเว็บไซต์ที่ปลอดภัย ทั้งนี้ ห้ามเข้าลิงก์จาก SMS หรือ Email ที่แจ้งให้ทำธุรกรรมเด็ดขาด
- การ Log in – Log out เป็นอีกเรื่องที่ต้องย้ำอีกรอบ เพราะหลายๆ คนเมื่อเข้าระบบใช้งาน แล้วพอเสร็จธุระก็มักจะลืมออกจากระบบ ต้องจำไว้ว่า เมื่อทำธุรกรรมใดๆ ก็ตามเสร็จ ต้องออกจากระบบและเช็คดูว่าออกจากระบบแล้วจริงๆ ทันที
ทำอย่างไรให้การเงินออนไลน์ของตัวเองปลอดภัยจริงๆ
ต่อไปนี้ คือ สิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ ต้องทำ เพื่อที่จะให้การทำธุรกรรมการเงินผ่านโลกดิจิทัลของคุณปลอดภัย
- ไม่ตั้งรหัสที่เดาง่าย เป็นเลขเรียง หรือมาจากข้อมูลส่วนตัว เช่น 123456 วัน/เดือน/ปี เกิด และเปลี่ยนรหัสนานๆ ที เพื่อความปลอดภัย
- หมั่นตรวจสอบประวัติการทำธุรกรรมอยู่เสมอ ดูว่าตรงกับที่ทำธุรกรรมจริงหรือไม่
- ติดตั้งโปรแกรมสแกน-ป้องกันไวรัส และหมั่นสแกนสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์อยู่เสมอ
- ตั้งจำกัดวงเงินในการถอนหรือทำธุรกรรม เช่น 20,000 บาท – 50,000 บาท/วัน เพื่อป้องกันความเสียหายจากการแฮก
- สมัครรับรายงานการทำธุรกรรมทาง SMS และ Email ควรสอบถามบริการจากธนาคาร
สรุป
ความปลอดภัยของสินทรัพย์คือเรื่องที่ทุกธนาคารให้ความสำคัญ และออกแบบระบบมาอย่างรัดกุมอยู่แล้ว มีเพียงฝั่งผู้ใช้ที่อาจประมาทหรือมองข้ามเรื่องความระมัดระวังไป อาจจะเพราะความง่าย ความสะดวกสบายของการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ที่คุ้นเคยเป็นเหตุ จนในบางทีก็ละเลยสิ่งจำเป็นไป
ทั้งเรื่องความปลอดภัยที่หลายคนมองข้าม ทั้งเรื่องต้องทำ-ห้ามทำเพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการของคุณที่รวบรวมมาในบทความนี้น่าจะช่วยเตือนให้คุณใช้บริการธุรกรรมการเงินออนไลน์ได้ปลอดภัยมากขึ้น