เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทำงานก็จะเข้าใจกับคำว่า ชีวิตต้องบริหารมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเงิน ด้วยปัจจัยเศรษฐกิจตอนนี้ที่ค่อนข้างซบเซา และขยับตัวได้ยาก ทำให้เงินที่เข้ามาต่อเดือนน้อยลงหากเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และยิ่งอายุมากขึ้น ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นตามความรับผิดชอบในแต่ละวัย หากใครมีครอบครัว ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งสูงขึ้นอีกหลายเท่าอีก เราจึงต้องเริ่มวางแผนการเงินตั้งแต่เริ่มต้นหาเงินเองได้
รู้จักข้อดีและความเสี่ยงของคนวัยสร้างเนื้อสร้างตัว
ถึงแม้เราจะรู้ความสำคัญของการวางแผนการเงินแล้ว แต่การจะตระหนักและเริ่มวางแผนการเงินจริงๆ คงยาก ฉะนั้นมาดูข้อดีเพื่อกระตุ้นให้เราเริ่มสร้างตัวกันดีกว่า
ข้อดี
“ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี” คำนี้เป็นคำที่นักวางแผนการเงินบอกอยู่บ่อยๆ ยิ่งช่วงเริ่มทำงานที่ภาระยังไม่มาก ยิ่งเหมาะสำหรับเก็บเงินมากที่สุด เพราะเวลายิ่งนานยิ่งจ่ายน้อยภายใต้เงินปันผลสูงๆ รวมถึงกำลังในการทำงานที่สามารถหาเงินได้เยอะมากกว่าช่วงวัยอื่น ทำให้สภาพคล่องในการใช้จ่ายในวัยเริ่มต้นค่อนข้างสูง และถ้าหากมีรายได้น้อย แต่เมื่อเทียบกับรายจ่ายในช่วงวัยอื่น ภาระค่าใช้จ่ายก็น้อยกว่า
ความเสี่ยง
ถึงการเก็บเงินในช่วงเริ่มต้นทำงานจะมีข้อดีแต่ความเสี่ยงที่พบได้บ่อยคือ ความไม่มั่นคง และการเงินยังไม่คงที่ ทำให้การวางแผนการเงินในช่วงนี้ค่อนข้างหละหลวม เช่น อยากเก็บเงินต่อเดือนที่เดือนละ 5,000 บาท แต่ในความจริงแล้วเดือนนี้มีค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน เข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว และยังไม่มีเงินฉุกเฉินเพียงพอ ทำให้ต้องนำเงินเก็บออกมาใช้ก่อน
ความน่ากลัว คือ หากใครยังไม่เริ่มเข้มงวดกับตัวเองในการควบคุมรายจ่าย วังวนของ “เดือนชนเดือน” ก็จะอยู่กับคุณไปอีกนาน นักวางแผนการเงินบางท่านจึงหาทางออกโดยการให้คุณเก็บเงิน 100,000 ให้ได้หนึ่งก้อนก่อน ใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ แล้วความคล่องตัวการเงินของคุณจะดีขึ้นมาก
และอีกปัญหาที่พบได้บ่อยในตอนนี้ ก็คือเรื่องของการย้ายงาน ถึงแม้จะมีวิจัยออกมาแล้วว่า การย้ายงานช่วยให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นได้จริงมากกว่าการรอเงินเดือนขึ้นจากที่ทำงานเดิม แต่ช่วงย้ายงานก็ทำให้เงินขาดมือไปไม่ใช่น้อย เผลอๆ เงินเก็บของคุณที่มีทั้งหมดจะมาหายไปช่วงหางานใหม่
วางแผนการเงินสร้างรากฐานให้มั่นคง
เมื่อเข้าใจกันแล้วว่าการวางแผนการเงินสำคัญยังไง งั้นมาเริ่มต้นวางแผนการเงินเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกันดีกว่า
1.จัดการการเงิน
เมื่ออยากวางแผนการเงินให้มีคุณภาพ ก็ต้องเริ่มจากพื้นฐานก่อน นั่นก็คือ การวางแผนรายรับรายจ่าย
ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม ถึงแม้จะพยายามแล้วแต่วินัยทางการเงินก็ยังไม่ดีนัก ฉะนั้น ต้องมาทำความเข้าใจตัวเองใหม่ก่อนว่า เรามีนิสัยการใช้เงินอย่างไร และแก้ด้วยวิธีไหนถึงจะเก็บเงินได้มากที่สุด เช่น ไม่ชอบจดรายรับรายจ่าย
วิธีแก้ง่ายๆ คือ เมื่อได้เงินมาให้โอนเงินเข้าบัญชีเก็บก่อนและเหลือเงินรายเดือนในบัญชีสำหรับใช้จ่ายประจำวัน เงินที่เราใช้จ่ายก็จะไม่ปนกับเงินออมที่ต้องเก็บนั่นเอง หรือกำหนดให้ตัวเองใช้เงินได้วันละเท่าไหร่ และเผื่อเงินสำรองอีก 20% ของเงินที่ใช้ได้ต่อเดือน เพื่อไม่ให้เข้มงวดจนเกินไป ก็จะช่วยให้มีวินัยในการเก็บเงินมากขึ้น
2.ออมเงินเผื่อฉุกเฉิน
เงินส่วนนี้นี่ล่ะ ที่ทำให้เงินเก็บหลายคนหายไป ทำให้ไม่มีเงินเก็บในอนาคต แก้ปัญหาโดยการใช้วิธีด้านบนจะง่ายสุดคือ เก็บตั้งแต่ได้เงินมา โดยเก็บที่ 5% – 10% ของรายได้ทั้งหมดต่อเดือน สำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน เช่น ย้ายงาน คอมเสีย อุบัติเหตุ ฯลฯ
หากสำรองเงินส่วนนี้ไว้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาจะได้ไม่กระทบต่อเงินออมส่วนอื่น ทำให้เงินในอนาคตที่ตั้งใจเก็บไว้ ยังปลอดภัย เพราะการวางแผนการเงินก็เหมือนกับวางแผนชีวิต ต้องมีแผนสำรองไว้ แผนหลักจะได้ดำเนินต่อได้อย่างปลอดภัย
3.กำหนดงบประมาณรายจ่าย
เชื่อว่าทุกคนรู้ว่าค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่ แต่ไม่ได้ลิสต์ไว้เพื่อให้เห็นภาพรวมของการเงิน ทำให้แผนทางการเงินไม่สำเร็จตามที่คาดหวังไว้ แต่จริงๆ การประมาณรายจ่ายต่อเดือนไม่ยากอย่างที่คิดเลย โดยแบ่งสัดส่วน ดังนี้
- หนี้สิน เช่น ค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ผ่อนบัตรเครดิต
- ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ค่าอาหาร ค่าช้อปปิ้ง
- เงินออม เช่น เงินออมเกษียณ กองทุนระยะยาว
แบ่งค่าใช้จ่ายเป็นสามส่วนนี้ ก็ช่วยให้เราวางแผนการเงินเบื้องต้นได้ส่วนหนึ่ง จริงๆ แล้วสัดส่วนทั้งสามอย่างนี้ขึ้นอยู่กับความพอใจแต่ละท่าน แต่โดยรวมหนี้สินไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ทั้งหมด เพื่อให้เกิดสภาพคล่องทางการเงิน
กำหนดเป้าหมายชีวิตและวางแผนการเงิน
ถึงเราจะรู้วิธีเก็บเงินมากมาย แต่วินัยการเงินก็ยังไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่พบว่ายังไม่มีเป้าหมายในการเก็บเงิน ทำให้ไม่รู้ว่าจะเก็บเงินไปเพื่ออะไร ซึ่งเป้าหมายการเก็บเงินนี้ ไม่ใช่แค่ในปีนี้เท่านั้น แต่จะดีถ้าทำถึงวัยหลังเกษียณ เพื่อให้ช่วงอายุที่ไม่ได้ทำงานแล้ว ยังใช้จ่ายสบายอยู่
เรียงลำดับเป้าหมายและกำหนดเวลา
เป้าหมายจะสำเร็จได้ ต้องจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย และมีกำหนดเวลาที่ชัดเจน (Time frame) โดยสำหรับเป้าหมายทางการเงิน ก็ต้องตั้งเป้าหมายการเป็นจำนวนเงินที่ชัดเจน และกำหนดไปเลยว่าปีใดต้องเก็บเงินเท่าใด
ตัวอย่างต่อไปนี้ คือ ตัวอย่างการกำหนดเป้าหมายออมเงินสำหรับแต่ละช่วงอายุ ว่าปีใดควรเก็บเงินสำหรับเป้าหมายต่างๆ เท่าไร ซึ่งการวางแผนการเงินสำหรับวัยสร้างตัว เป้าหมายส่วนใหญ่ก็จะมีคล้ายๆ กันประมาณนี้
ให้คุณลองลิสต์เป้าหมายออกมาก่อน แล้วให้เรียงลำดับความสำคัญว่าต้องการสิ่งใดก่อน แล้วกำหนดเลยว่าเป้าหมายนั้นๆ ต้องสำเร็จเมื่ออายุเท่าไร โดยให้กำหนดเป็นจำนวนเงิน และให้พิจารณาดูว่าควรใช้เวลาเก็บเงินเพื่อไปถึงเป้าหมายนั้นกี่ปี
นอกจากนี้ อย่ามุ่งมั่นกับเป้าหมายที่ต้องการมากเกินไป จนลืมสร้างความมั่นคงให้ตัวเอง ซึ่งจากตารางจะเป็นเป้าหมายการเก็บเงินลงทุน และเก็บเงินเกษียณ ส่วนนี้ควรจะแบ่งจากรายได้ทุกๆ เดือนเป้าหมายละ 10% เพื่อให้แน่นอนว่า เราจะ ‘สร้างตัว’ ได้จริงๆ
ส่วนเป้าหมายอื่นๆ ก็มีเรื่องที่อยากชวนให้ลองไตร่ตรองดูอีกเล็กน้อย
- รถ
ปัจจุบันหากจะดาวน์รถ ต้องใช้เงินดาวน์ขั้นต่ำราว 20% หากซื้อรถหนึ่ง 600,000 บาท จึงควรมีเงินดาวน์ 120,000 บาท ทั้งนี้ อย่าลืมว่าดาวน์เสร็จต้องผ่อนต่อ ควรวางแผนการเงินเรื่องนี้ให้ดี และยอดผ่อนต่อเดืนอไม่ควรเกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน ไม่งั้นเงินจะฝืดเคืองเกิน ใช้เงินเดือนชนเดือน รถจากที่ควรเป็นสินทรัพย์ จะกลายเป็นหนี้สินระยะยาวแทน
- บ้านหรือคอนโด
ค่าดาวน์บ้านและคอนโดฯ ควรมีสำรองไว้ราว 20 – 25% ของราคาขาย และควรคิดเผื่อยอดผ่อนต่อเดือนด้วย ซึ่งจำนวนที่ผ่อนต่อเดือนไม่ควรเกิน 40% ของรายรับต่อเดือน หากอยากลดค่าผ่อนต่อเดือนแนะนำให้ดาวน์สูงและดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งการขอสินเชื่อบ้าน ไม่ยากอย่างที่คิด การจะมีบ้านสักหนึ่งหลังจึงใกล้ตัว
- ท่องเที่ยวต่างประเทศ
ตอนนี้การไปต่างประเทศไปง่ายมาก เพราะโปรจากสายการบินต่างๆ แข่งกันลด มีเพียงช่วงเทศกาลเท่านั้นที่ราคายังแพงอยู่ แต่การไปแต่ละครั้งก็ถือว่าใช้เงินก้อนหลักหมื่นขึ้น ควรวางแผนวางปีใดอยากไปเที่ยวที่ไหนก็เตรียมเงินให้เหมาะสมไว้แต่เนิ่นๆ นอกจากนี้ ขอแนะนำให้จองตั๋วในช่วงก่อนไปจริง 6 เดือน จะได้ราคาที่ถูกกว่าปกติ ส่วนค่าที่พักต่างๆ สามารถเลือกโปรโมชั่นได้จากเว็บไซต์จองที่พักเช่น Agoda Airbnb จะได้ราคาที่ถูกลง
- แต่งงานและมีลูก
การแต่งงานและการมีลูกค่อนข้างที่จะมีค่าใช้จ่ายสูง เราควรวางแผนไว้ก่อน ซึ่งปัจจุบันอยากที่ทราบกันดีว่าแต่งงานทั้งทีก็ต้องจ่ายเป็นแสน และถ้าอยากจะเลี้ยงลูกให้ดีก็ต้องมีเงินเย็นรองเปลลูกก่อนหลักแสนเช่นเดียวกัน เพราะหากจะคอยเลี้ยงคอยหา เราจะไม่มีมีโอกาสเผื่อวันที่ขาดรายได้เลย แนะนำให้เก็บเงินก้อนไว้สำหรับเป้าหมายนี้โดยเฉพาะ ซึ่งตอนนี้ก็มีผลิตภัณฑ์เงินฝากหลายแบบที่เหมาะสำหรับเก็บเงินเพื่อครอบครัวในอนาคตของคุณแล้ว
- แผนลงทุน
ทุกๆ คนควรวางแผนการลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยและสร้างความมั่นคงในชีวิตระยะยาว อย่างน้อยเราควรแบ่งเงินจากรายได้ราว 10% ทุกเดือนมาแบ่งลงทุน โดยการลงทุนแต่ละประเภทขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ เช่น รับความเสี่ยงได้สูง สามารถลงเล่นหุ้นได้ เพราะเสี่ยงสูงและผลกำไรดี แต่หากเสี่ยงได้น้อยเลือกลงทุนในกองทุนจะดีกว่า หากเราจัดสรรเงินดี เราก็ไม่ต้องกลัวว่าถ้าเกิดขาดทุนขึ้นมา จะกระทบต่อความเป็นอยู่ของเรา
- เงินเก็บเกษียณ
เงินเกษียณสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่เริ่มทำงานเก็บตั้งแต่ 2% – 20% ต่อเดือน หรือบางบริษัทจะมีเงินสมทบสำหรับลงทุนอีก หากใครที่เริ่มทำงานอาจจะคิดว่าไกลตัวเกินไป แต่ถ้าเริ่มอายุเข้า 25 จะพบว่าความไม่แน่นอนทางการเงินอยู่ใกล้ตัวมาก ภาวะใช้เงินเดือนชนเดือนคืออันตรายที่ทำให้ชีวิตในทุกช่วงฝืดเขือง การวางแผนเกษียณจึงควรทำตั้งแต่เนื่องๆ
สรุป
การวางแผนการเงินก็เปรียบกับการวางรากฐานให้ชีวิต เพราะเงินคือต้นทุนสำหรับทุกอย่าง ทั้งบ้าน รถ ค่าใช้จ่ายในชีวิต การศึกษา ความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว รวมถึงช่วงวัยเกษียณด้วย เราจึงต้องรีบวางแผนการเงิน ตั้งแต่แรกเริ่มทำงาน ลงทุนในกองทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เรารับได้ เพื่อผลตอบแทนในอนาคตที่ตอบสนองกับความต้องการที่วางแผนไว้
…แล้วคุณภาพชีวิตของคุณและครอบครัวในอนาคตจะมั่นคงและมีสุข