เมื่อเจ้าของบัญชีเงินฝากเสียชีวิต ทายาทหรือผู้มีสิทธิในการรับมรดกจะมีสิทธิในการติดต่อกับธนาคารเพื่อจัดการบัญชีเงินฝากของผู้เสียชีวิตได้ทั้งการถอนเงิน หรือปิดบัญชีเงินฝากนั้นได้
แต่ในการดำเนินการเพื่อจัดการบัญชีเงินฝากของผู้เสียชีวิต ก็ยังมีรายละเอียดของทายาทที่สามารถติดต่อดำเนินการ และเตรียมเอกสารที่ต้องเตรียมยื่นกับธนาคารให้พร้อมก่อน
บทความนี้มาดูกันว่าใครบ้างที่สามารถขอจัดการบัญชีเงินฝากของผู้เสียชีวิตได้ และมีเอกสารอะไรบ้างที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนเข้าไปดำเนินการกับธนาคาร เพื่อให้การจัดการมรดกทำได้อย่างราบรื่น
การจัดการบัญชีเงินฝาก กรณีเจ้าของบัญชีเสียชีวิต
เงินฝากในบัญชีธนาคารของผู้เสียชีวิต เป็นหนึ่งในทรัพย์มรดกที่สามารถส่งต่อให้กับทายาทได้
โดยทรัพย์มรดก หรือทรัพย์สินทุกชนิดของผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ กองทุนรวม หุ้น เงินฝากในบัญชีธนาคาร รวมไปถึงหน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆ จะตกเป็นของทายาทหรือผู้มีสิทธิในการรับมรดก เมื่อเจ้าของมรดกได้เสียชีวิตลงทันที
สำหรับการจัดการบัญชีเงินฝากของผู้เสียชีวิตนั้น ผู้มีสิทธิในการรับมรดกจะสามารถติดต่อกับทางธนาคารเพื่อ ถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝาก ปิดบัญชีเงินฝาก หรือยกบัญชีเงินฝากนั้นเป็นของตนได้
ใครบ้างที่มีสิทธิในการจัดการบัญชีเงินฝากของผู้เสียชีวิต
ผู้ที่จะสามารถติดต่อเพื่อจัดการบัญชีเงินฝากของผู้เสียชีวิตกับทางธนาคารได้ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
- ทายาทโดยธรรม หรือผู้มีสิทธิในการรับมรดกตามกฎหมายที่เป็นญาติร่วมสายเลือดเดียวกัน รวมถึงคู่สมรสด้วย แบ่งออกตามลำดับคือ
-
- คู่สมรส และผู้สืบสันดาน เช่น ลูก หลาน เหลน ของผู้เสียชีวิต
- บิดา มารดา ของผู้เสียชีวิต
- พี่น้อง ร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้เสียชีวิต
- พี่น้อง ร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกันกับผู้เสียชีวิต
- ปู่ ย่า ตา ยาย ของผู้เสียชีวิต
- ลุง ป้า น้า อา ของผู้เสียชีวิต
- ทายาทโดยพินัยกรรม หรือผู้มีสิทธิในการรับมรดก ตามที่ผู้เสียชีวิตได้ระบุชื่อผู้รับพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ ซึ่งพินัยกรรมที่ใช้อ้างสิทธิในการรับมรดกจะต้องมีผลถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายเท่านั้น โดยมีทั้งหมด 5 รูปแบบ คือ
-
- พินัยกรรมแบบธรรมดา ทำเป็นหนังสือแจกแจงรายละเอียด ที่จะใช้การเขียนหรือพิมพ์ก็ได้และลงวันที่ชัดเจน โดยจะต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยาน 2 คนพร้อมกัน และพยานต้องลงลายมือชื่อรับรองการทำด้วย
- พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ เป็นพินัยกรรมที่ผู้ทำพินัยกรรมได้เขียนขึ้นด้วยลายมือทั้งฉบับ โดยลงวันที่และลายมือชื่อเอาไว้ด้วย ซึ่งจะมีหรือไม่มีพยานรับรองก็ได้
- พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง เป็นการไปทำพินัยกรรมที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยต้องไปทำที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ พร้อมพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน
- พินัยกรรมแบบเอกสารลับ เป็นพินัยกรรมที่ใช้การเขียนหรือพิมพ์ก็ได้ พร้อมลงลายมือชื่อ จากนั้นใส่ซองปิดผนึกแล้วลงลายมือชื่อกำกับในจุดที่ปิดผนึก จากนั้นนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ พร้อมพยานอย่างน้อย 2 คน เพื่อให้เจ้าหน้าที่จดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม ลงวันที่ ประทับตรา พร้อมลงลายมือชื่อ
- พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา เป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นในกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถทำพินัยกรรมแบบอื่นที่กล่าวมาได้ เช่น อยู่ในสถานที่อันตราย อยู่ในภาวะสงคราม เป็นต้น โดยผู้ทำพินัยกรรมจะกล่าวเป็นคำพูดต่อหน้าพยาน 2 คนพร้อมกัน จากนั้นพยานต้องไปติดต่อที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอให้เร็วที่สุด เพื่อบันทึกข้อมูล ลงวันที่ ระบุสถานที่ที่ทำพินัยกรรม
เอกสารที่ต้องใช้ในการจัดการบัญชีเงินฝากของผู้เสียชีวิต
การติดต่อเพื่อจัดการบัญชีเงินฝากของผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการถอนเงินออกจากบัญชี หรือปิดบัญชีเงินฝาก
ทายาทที่มีสิทธิในการจัดการทรัพย์สินของผู้เสียชีวิต สามารถติดต่อกับธนาคารตามสาขาบนสมุดคู่ฝากของเจ้าของบัญชี โดยเอกสารที่ต้องเตรียมไปด้วย ได้แก่
- หนังสือแต่งตั้งผู้จัดการมรดกจากศาล และหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด (อ่านต่อ > วิธีการขอเป็นผู้จัดการมรดก)
- สำเนาบัตรประชาชนของผู้จัดการมรดก
- สมุดคู่ฝากของผู้เสียชีวิต
- ใบมรณะบัตร
สำหรับทายาทไม่มีสมุดคู่เงินฝาก และไม่ทราบเลขบัญชีเงินฝาก จะต้องใช้จดหมายแจ้งตรวจสอบข้อมูลบัญชีของเจ้าของบัญชีร่วมด้วย เพื่อให้ทางธนาคารค้นหาเลขบัญชีพร้อมสาขาที่เปิดบัญชีเอาไว้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับ ธอส.
หากว่าคุณต้องการจัดการบัญชีเงินฝากของผู้เสียชีวิตที่เป็นลูกค้าของธนาคารอาคารสงเคราะห์ แต่ยังมีคำถามหรือข้อสงสัยอื่นๆ สำหรับการเตรียมเอกสารเพื่อดำเนินการให้พร้อม
สามารถติดต่อได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 8.30-15.30 น. หรือสาขาในศูนย์การค้าวันจันทร์-วันอาทิตย์ เวลา 10.30-19.00 น
G H BANK Call Center: 0-2645-9000