คนที่กำลังจะซื้อบ้านในปี 2567 มาทำความรู้จักกับค่าธรรมเนียมโอนบ้าน พร้อมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ต้องรู้ เพื่อให้สามารถเตรียมตัวและเตรียมค่าใช้จ่าย
ในขั้นตอนของการซื้อ-ขายที่อยู่อาศัย จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ และหนึ่งในค่าธรรมเนียมที่ต้องรู้นั่นคือ ค่าธรรมเนียมในการโอนบ้าน ที่จะมีวิธีคิดแตกต่างกันออกไปตามราคาซื้อ-ขายบ้าน และขึ้นอยู่กับมาตรการที่รัฐกำหนดในแต่ละปีด้วย
คนที่กำลังจะซื้อหรือขายบ้านในปี 2567 มาทำความรู้จักกับค่าธรรมเนียมโอนบ้าน พร้อมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ต้องรู้ เพื่อให้สามารถเตรียมตัวและเตรียมค่าใช้จ่ายให้พร้อม
คำนวณค่าธรรมเนียมโอนบ้าน [ก่อนซื้อบ้านต้องรู้]
ในวันทำการโอนบ้านที่สำนักงานที่ดิน จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นนั่นคือ ค่าธรรมเนียมโอนบ้าน หรือค่าโอนกรรมสิทธิ์ ที่จะมีอัตราเรียกเก็บตามราคาประเมินที่ดินที่กำหนดเอาไว้
โดยในปี 2567 มีกำหนดค่าธรรมเนียมการโอนอยู่ที่ 1% ของราคาประเมิน (จากปกติ 2%) โดยอัตรานี้เป็นมาตรการปรับลดเพื่อกระตุ้นให้มีการซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ และสนับสนุนให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
จะได้ปรับลดค่าธรรมเนียมการโอน มีข้อกำหนดอะไรบ้าง?
- เป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย
- ซื้อขายที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นมือหนึ่งหรือมือสอง ได้ทั้งบ้านเดี่ยว ห้องชุด บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์
- ราคาซื้อขาย ราคาประเมิน และวงเงินจำนองต้องไม่เกิน 3 ล้านบาท
- การได้ลดอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าว จะต้องทำการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน
ค่าโอนบ้านคืออะไร
ค่าโอนบ้าน คือค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในกระบวนการโอนกรรมสิทธิ์บ้านจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ ซึ่งจะเกิดขึ้น ณ สำนักงานที่ดินในวันที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าโอนบ้านไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ค่าธรรมเนียมการโอนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการโอนกรรมสิทธิ์ด้วย
วิธีการคำนวณค่าธรรมเนียมโอนบ้าน
จะคำนวณโดยคิด 1% ของราคาประเมิน
เช่น ซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท แต่มีราคาประเมิน 2 ล้านบาท มีค่าธรรมเนียมการโอน 1% จะต้องเตรียมค่าธรรมเนียมในการโอนจำนวน 20,000 บาท
ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอน 2% ของราคาประเมิน จำนวน 40,000 บาท
จากการคำนวณ จะเห็นได้ว่ามาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนนี้ ทำให้เราเสียค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ลดลงได้ครึ่งหนึ่ง ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น
ค่าธรรมเนียมโอนประเภทจดทะเบียนให้ ในกรณีที่เป็นเครือญาติ
สำหรับการโอนบ้านหรืออสังหาต่างๆ ถ้าหากเป็นการโอนให้กันในเครือญาติ จะมีค่าธรรมเนียมที่แตกต่างจากปกติ และมีการคิดที่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ด้วย โดยแบ่งออกเป็น
โอนให้บุคคลในครอบครัว จะมีการคิดค่าธรรมเนียมการโอน 0.5% ของราคาประเมิน ได้แก่
- โอนให้บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย บิดา-มารดาจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
*หมายเหตุ ชำระอากรแสตมป์ โดยไม่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา - โอนให้บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย บิดา-มารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
แยกเป็น 2 กรณีดังนี้
1. มารดาโอนให้บุตร
2. บิดาโอนให้บุตร ต้องจดทะเบียนรับรองบุตรพร้อมแสดงเอกสารประกอบการโอน
*หมายเหตุ ชำระอากรแสตมป์ โดยไม่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา - โอนให้คู่สมรสตามกฎหมาย โดยเป็นการโอนระหว่างสามี-ภรรยา ที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย
*หมายเหตุ ชำระอากรแสตมป์ และเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
การโอนให้ญาติพี่น้องนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น คิดค่าธรรมเนียมการโอน 2% ของราคาประเมิน พร้อมชำระอากรแสตมป์ และเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ขั้นตอนการโอนบ้านมีอะไรบ้าง
การโอนบ้านเป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการซื้อขายบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของการซื้อบ้านมือสอง ซึ่งขั้นตอนการโอนบ้านมีดังนี้
- นัดหมายวันโอนกรรมสิทธิ์ ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันเรื่องวันเวลาที่จะไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดิน
- เตรียมเอกสารสำคัญ ทั้งสองฝ่ายต้องเตรียมเอกสารให้พร้อม เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน โฉนดที่ดิน สัญญาจะซื้อจะขาย และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- แจ้งความประสงค์ที่สำนักงานที่ดิน เมื่อไปถึงสำนักงานที่ดิน ให้แจ้งความประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์กับเจ้าหน้าที่และรับบัตรคิว
- ตรวจสอบเอกสาร เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของเอกสารทั้งหมด
- ประเมินราคาทรัพย์สินและคำนวณค่าธรรมเนียม เจ้าหน้าที่จะประเมินราคาทรัพย์สินและคำนวณค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ต้องชำระ
- ชำระค่าธรรมเนียมและภาษี ผู้ซื้อและผู้ขายชำระค่าธรรมเนียมและภาษีตามที่คำนวณไว้
- จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และบันทึกข้อมูลในโฉนดที่ดิน
- รับเอกสารสำคัญ หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ ผู้ซื้อจะได้รับโฉนดที่ดินฉบับใหม่ที่มีชื่อตนเองเป็นเจ้าของ
ขั้นตอนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการซื้อบ้านมือสอง ซึ่งผู้ซื้อควรทำความเข้าใจอย่างละเอียดเพื่อให้การซื้อขายเป็นไปอย่างราบรื่น
เอกสารที่ต้องใช้ในการโอนบ้าน ที่ดิน หรือที่อยู่อาศัยอื่นๆ
สำหรับบุคลธรรมดา ให้เตรียมเอกสารสำหรับการโอนบ้าน ดังนี้
- บัตรประชาชนตัวจริง พร้อมสำเนา และเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง
- ทะเบียนบ้านตัวจริง พร้อมสำเนา และเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง
- กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทน ต้องใช้หนังสือมอบอำนาจที่ดิน (ทด.21) หรือ หนังสือมอบอำนาจห้องชุด (อช.21) แล้วแต่กรณี พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ
- หนังสือสำคัญการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลตัวจริง
- เอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น หนังสือรับรองปลอดภาระหนี้จากนิติบุคคลอาคารชุด ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า คำสั่งศาล ฯลฯ (ถ้ามี) ตัวจริง
ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่ต้องรู้
นอกจากค่าธรรมเนียมการโอนบ้านที่ต้องจ่ายแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องเตรียมจ่ายในวันเดียวกันด้วย ซึ่งได้แก่
ค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์
ค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ หรือ ค่าจดจำนอง จะเรียกเก็บเมื่อ ผู้ซื้อมีการซื้อบ้านหรืออสังหาอื่นๆ ด้วยการขอสินเชื่อจากธนาคาร (สำหรับผู้ที่ซื้อด้วยเงินสดจะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมนี้) โดยปกติจะคิดอัตรา 1% ของมูลค่าจำนอง แต่ในปี 2567 มีการปรับลดเป็น 0.01% ตามเงื่อนไข
โดยอัตราที่ปรับลดนี้ จะมีเงื่อนไข คือ
- เป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย
- ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นมือหนึ่งหรือมือสอง ได้ทั้งบ้านเดี่ยว ห้องชุด บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์
- วงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท
- ต้องทำการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน
เช่น ได้รับอนุมัติสินเชื่อบ้านวงเงิน 2 ล้านบาท เสียค่าจดจำนอง 200 บาท (คิดอัตราปรับลด 0.01% ของวงเงินอนุมัติสินเชื่อ) ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องเสียค่าจดจำนอง 1% ของวงเงินอนุมัติสินเชื่อ จำนวน 20,000 บาท
ค่าอากรแสตมป์
ร้อยละ 0.5% ของราคาซื้อ-ขายหรือราคาประเมิน (คิดจากราคาที่สูงกว่า) ในกรณีที่ผู้ขายต้องชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ไม่ต้องชำระค่าอากรแสตมป์อีก
ตัวอย่างการคำนวณ ค่าอากรแสตมป์
บ้านมีราคาประเมิน 2.5 ล้านบาท แต่ราคาขาย 3.5 ล้านบาท จะยึดจากราคาขาย เพราะราคาสูงกว่า ค่าอากรแสตมป์ ที่ต้องจ่ายจะมียอด 3,500,000 x 0.5% = 17,500 บาท
ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ
จะเรียกเก็บเมื่อผู้ขายเป็นบุคคลธรรมดาที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านต่อเนื่องไม่เกิน 1 ปี หรือถือครองอสังหาริมทรัพย์ไม่เกิน 5 ปี เสียในอัตรา 3.3% ของราคาซื้อ-ขายหรือราคาประเมิน (คิดจากราคาที่สูงกว่า)
ตัวอย่างการคำนวณ ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ
บ้านมีราคาประเมิน 2.5 ล้านบาท แต่ขายได้ 3.5 ล้านบาท จะยึดจากราคาขาย เพราะราคาสูงกว่า ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่ต้องจ่ายจะมียอด 3,500,000 x 3.3% = 115,500 บาท
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เรียกเก็บตามหลักเกณฑ์ของกรมที่ดิน ขึ้นอยู่กับการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นและจำนวนปีที่ถือครอง
ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าโอนบ้าน
การรับผิดชอบค่าโอนบ้านเป็นประเด็นที่มักมีการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยทั่วไปแล้ว การแบ่งความรับผิดชอบมักเป็นไปตามแนวทางดังนี้
- ค่าธรรมเนียมการโอน มักแบ่งกันคนละครึ่งระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย แต่บางครั้งอาจมีการตกลงให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับผิดชอบทั้งหมด ในกรณีของบ้านมือสอง บางครั้งผู้ขายอาจเสนอรับผิดชอบค่าธรรมเนียมนี้ทั้งหมดเพื่อจูงใจผู้ซื้อ
- ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากเป็นภาษีที่เกิดจากรายได้จากการขายบ้าน อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งให้กรมสรรพากร
- ภาษีธุรกิจเฉพาะ ผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบ หากเข้าเงื่อนไขที่ต้องเสียภาษีนี้ เช่น ขายบ้านภายใน 5 ปีนับจากวันที่ได้มา หรือเป็นการขายเพื่อการค้าหรือหากำไร
- อากรแสตมป์ โดยปกติผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบ แต่อาจมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จะไม่ต้องเสียอากรแสตมป์
- ค่าจดจำนอง ผู้ซื้อเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้าน ค่าใช้จ่ายนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะกรณีที่ผู้ซื้อใช้สินเชื่อในการซื้อบ้าน
อย่างไรก็ตาม การแบ่งความรับผิดชอบนี้สามารถเจรจาต่อรองกันได้ และอาจแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี ผู้ซื้อและผู้ขายควรตกลงกันให้ชัดเจนก่อนทำการซื้อขาย และระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง
โครงการสินเชื่อบ้านจาก ธอส. ช่วยให้คนไทยมีบ้านได้ดังใจ
หากคุณอยากมีบ้านเป็นของตัวเองในปี 2567 นี้ และต้องการขอสินเชื่อบ้านกับธนาคาร ที่ ธอส. มีโครงการสินเชื่อบ้าน ที่เหมาะสมกับคนไทยทุกกลุ่ม ช่วยให้การมีบ้านเป็นเรื่องง่าย และสามารถเริ่มต้นการสร้างรากฐานชีวิตที่มั่นคงได้เร็วยิ่งขึ้น
หากคุณสนใจโครงการสินเชื่อบ้าน กับ ธอส. สามารถทำการกรอกข้อมูล เพื่อขอคำแนะนำ และให้เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับ >>> ได้ที่นี่
เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อบ้านที่คอยให้คำแนะนำ พร้อมเปรียบเทียบและหยิบยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุดให้กับคุณ ติดต่อเราได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาใกล้บ้านคุณ
หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.ghbank.co.th
ติดต่อ G H BANK Call Center : 02 645 9000