เมื่อคิดจะออมเงินหรือลงทุนแล้ว นั่นหมายความว่าคุณมีเป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จในอนาคต แต่คุณรู้ไหมว่าจะทำ ‘อย่างไร’ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น รวมทั้งมีวิธี ‘แบบไหน’ บ้าง ที่เหมาะกับการสร้างรากฐานที่มั่นคง เพื่อเตรียมพร้อมวันข้างหน้าสำหรับคุณในตอนนี้
เพราะทุกวิธีล้วนอาศัยเงิน เวลา และความเสี่ยง การเลือกออมเงินหรือลงทุนเพื่อให้ได้ผลงอกเงยตามต้องการนั้น จึงต้องมีการวางแผนที่สอดคล้องกับแนวทางการบริหารสินทรัพย์ของคุณ เพื่อให้เกิด ‘ความมั่นคง’ และเลี่ยง ‘ความเสี่ยง’ ที่จะเกิดตามมาให้ได้มากที่สุด
ทำไมการออมเงินและการลงทุนถึงสำคัญ
ก่อนจะไปถึงเรื่องวิธีเลือกการออมเงินและการลงทุนที่เหมาะกับคุณ มาดูกันว่าทำไมคุณจำเป็นต้องออมเงินหรือลงทุนในเมื่อมีวิธีแปลงสินทรัพย์ให้งอกเงยได้มากมายภายในระยะเวลาที่สั้นกว่าสองวิธีนี้ นั่นก็เพราะ
หากคุณเลือกการออมเงิน คุณจะ…
สร้างความมั่นคงหลังวัยเกษียณ การออมเงินเก็บไว้ระยะยาวคือการสร้างรากฐานอนาคตให้ตัวเอง เป็นหลักประกันว่าคุณจะมีเงินมากพอสำหรับดูแลสุขภาพตัวเอง รวมทั้งลดภาระค่าใช้จ่ายลูกหลานเมื่อพ้นวัยทำงานและไม่ได้รับรายได้ประจำแล้ว
อุ่นใจ ยามเกิดกรณีฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเจ็บป่วยหรือจำเป็นต้องใช้เงินก้อนกะทันหัน การมีเงินสำรองออมไว้เท่าจำนวนรายจ่ายประจำของคุณสัก 6 เดือน จะช่วยให้คุณนำเงินเก็บที่มีอยู่มาใช้ได้โดยไม่เดือดร้อนมากนัก
ลงมือทำสิ่งที่วางแผนได้ หากคุณแพลนจะทำอะไรสักอย่าง อย่างการวางแผนไปเที่ยวต่างประเทศ หรือถอย Gadget เจ๋ง ๆ ตัวใหม่ ก็สามารถทำได้เลย เพียงแค่ออมเงินเก็บอย่างสม่ำเสมอ โดยกำหนดระยะเวลาที่จะเก็บเงินให้ทันทำตามกำหนดที่วางแผนไว้
ต่อยอดให้งอกเงย การนำเงินออมไปลงทุนก็ช่วยสร้างเงินให้งอกเงยยิ่งขึ้น ซึ่งมีหลายวิธี เช่น ซื้อพันธบัตร กองทุนรวม หุ้น เป็นต้น โดยสิ่งที่จะพูดถึงต่อไปนี้ว่าด้วยเหตุผลว่าทำไมคุณควรแบ่งเงินมาลงทุนด้วย
หากคุณเลือกการลงทุน คุณจะ…
ถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของ การลงเงินสักก้อนกับสิ่งของหรือสินทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะช่วยให้เราได้สิทธิ์ในการครอบครองสิ่งนั้นโดยตรง เช่น บ้าน รถยนต์ เพชร พลอย เครื่องประดับ เป็นต้น เราเรียกการลงทุนแบบนี้ว่า การลงทุนในสินทรัพย์เป็นเจ้าของโดยตรง (Tangible Investment) กล่าวคือ คุณต้องใช้เงินแลกเปลี่ยนสิ่งของเหล่านั้นมา เพื่อใช้ประโยชน์จากสิ่งของเหล่านั้นอีกต่อหนึ่ง
มีโอกาสได้รับผลตอบแทน แต่ถ้าคุณนำเงินมาลงทุนซื้อหุ้น พันธบัตร หรือตราสาร นอกจากจะได้รับกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของสิ่งนั้นแล้ว คุณยังมีสิทธิ์เรียกร้องหรือได้รับผลตอบแทนจากการถือกรรมสิทธิ์ด้วย ซึ่งอาจจะมาในรูปของดอกเบี้ย เงินปันผล หรือกำไรต่าง ๆ ตามเงื่อนไขของการลงทุนที่คุณเลือก การลงทุนในลักษณะนี้ถือเป็นการลงทุนในการถือกรรมสิทธิ์ (Intangible Investment)
คุณคงพอมองเห็นแล้วใช่ไหม ไม่ว่าจะเลือกการออมหรือการลงทุน ต่างก็ต่อยอดเงินในกระเป๋าของคุณตอนนี้ให้เพิ่มขึ้นมาได้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่ก่อนตัดสินใจว่าจะเลือกวิธีไหน (หรือจะทำทั้งสองวิธี) ลองมาดุกันว่าคุณจะวางแผนการออมและการลงทุนให้สมดุลและสอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินได้อย่างไร
สมดุลการออมและการลงทุน: เลือกอย่างไรให้เกิดความมั่นคงและลดความเสี่ยง
เมื่อคุณคิดออมเงินหรือลงทุนอะไรสักอย่าง คุณต้องรู้ว่าตัวเองมีจำนวนเงินเหลือเก็บทั้งหมดเท่าไหร่ สูตรคำนวณอย่างง่ายที่ทำได้คือนำรายรับหักจากรายจ่าย ก็จะได้จำนวนเงินเหลือสำหรับนำมาออมหรือลงทุน แต่หากลองคำนวณดูแล้ว ปรากฏว่าไม่มีเงินเหลือเก็บอาจเริ่มจากการสำรวจว่ารายจ่ายไหนที่ไม่จำเป็น ก็ตัดออกเพื่อลดค่าใช้จ่าย หรืออาจแยกสัดส่วนเงินเก็บไว้โดยเฉพาะ เพื่อสร้างวินัยในการเก็บเงิน
คราวนี้ก็ได้เวลาประเมินสภาพการเงินและวางแผนการบริหารการออมและการลงทุนที่เหมาะกับคุณแล้ว มาดูกันว่าคุณเข้าข่านยประเภทไหน และควรเลือกออมเงินหรือลงทุนอย่างไร
หากคุณกำลังสะสมเงิน รับความเสี่ยงได้น้อย
มือใหม่หัดออม หัดลงทุน ยังไม่มีเงินมากมาย อาจเริ่มจากการออมเงินให้ได้อย่างน้อย 10% โดยเลือกฝากแบบฝากประจำปลอดภาษี ซึ่งเป็นการออมเงินระยะยาว ใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี (24 เดือน) จะช่วยให้คุณวางแผนออมเงินได้อย่างต่อเนื่อง และได้รับดอกเบี้ยคืนกลับมาอัตราสูง มากกว่าปีละ 2% ที่สำคัญ คุณไม่ต้องเสียภาษีจากการฝากเงินประเภทนี้ด้วย
นอกจากนี้ คุณอาจเผื่อเงินมาลงทุนกับสิ่งที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อเพิ่มผลตอบแทน กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักลงทุนมือใหม่ โดยกองทุนประเภทนี้จะใช้เวลาลงทุนประมาณ 1 – 2 ปี ขึ้นไป ไม่ต้องมีแผนการเงินอื่นมารองรับ เพราะกองทุนตราสารหนี้จำกัดระยะเวลาในการถือกองทุนไม่ให้นานเกินกว่านั้น ที่สำคัญ หากคุณจัดพอร์ตแบบ Asset Allocation และจำเป็นต้องใช้เงินสด ก็อาจขายแล้วรับเงินมาได้โดยที่มูลค่าไม่ได้ตกเยอะเกินไป เพราะกองทุนประเภทนี้ถือเป็นกองทุนที่มีสภาพคล่อง สามารถเปลี่ยนมาเป็นเงินได้ไม่ยาก
หากคุณอยู่ตัวแล้ว พอรับความเสี่ยงได้บ้าง
มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ประจำและมีเงินเก็บอยู่พอสมควร อาจมองหาช่องทางเพิ่มมูลค่าเงินที่มีอยู่ได้มากขึ้น คุณสามารถออมเงินได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น และแบ่งสัดส่วนรายได้มาลงทุนมากขึ้น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (สวัสดิการสำหรับพนักงานเอกชน) หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (สวัสดิการสำหรับข้าราชการ) จะช่วยวางแผนระยะยาวให้คุณหลังจากที่ออกจากงานหรือเกษียณจากตำแหน่งไปแล้ว รับรองได้ว่าคุณจะมีเงินในการเลี้ยงชีพหลังจากที่ไม่ได้รับรายได้ประจำอีกต่อไป
โดยทั่วไปแล้ว คุณอาจสะสมเงินเข้ากองทุนในอัตรา 2 – 15% และที่ลืมไม่ได้ก่อนเลือกกองทุนนั้นคือดูว่ากองทุนที่เราจะเลือกเหมาะสมกับเราทั้งในแง่การรับมือกับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่คาดหวังหรือไม่
ยิ่งไปกว่านั้น คุณยังได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย โดยสมาชิกที่สะสมเงินเข้ากองทุนจะได้รับการหักค่าใช้จ่ายไม่เกิน 15% ของปีนั้น
หากคุณมีเงินมากแล้ว รับความเสี่ยงได้สบาย
การมองเรื่องลงทุนเพื่อหวังผลระยะยาวคงเป็นเรื่องที่คุณมองไว้บ้างใช่ไหม หากคุณสามารถรับความเสี่ยงจากการออมเงินและลงทุนได้อย่างไร้กังวล แนะนำว่าควรออมเงินหรือลงทุนในสิ่งที่ให้ผลตอบแทนมากขึ้นกว่า 2 Stage แรกก่อนหน้านี้
กองทุนรวมนับเป็นตัวเลือกหลักที่ควรพิจารณาลงทุน แม้กองทุนรวมมีความเสี่ยงสูง แต่ผลตอบแทนของมันก็ควรค่าแก่การเสี่ยงเช่นกัน ทั้งนี้ อาจเลือกสะสมเงินในกองทุนจากระดับความเสี่ยงที่คุณคาดว่าจะรับมือได้ หากคุณอยากลองเสี่ยงมากขึ้นแต่ต้องการประหยัดภาษีด้วย อาจเลือกสะสมเงินในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)
หรือถ้าต้องการสร้างผลตอบแทนงอกเงยแบบสุด ๆ พร้อมความมั่นคงระยะยาว กองทุนหุ้นก็ตอบโจทย์ข้อนี้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีกองทุนรวมน้ำมัน กองทุนรวมทองคำ และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่น่าสนใจลงเล่น และมีอัตราผลตอบแทนสูงเทียบเท่ากับความเสี่ยงด้วย
อย่างไรก็ตาม ก่อนลงทุนควรติดตามข่าวสาร และความเคลื่อนไหวของกองทุนต่างๆ อย่างใกล้ชิด
สรุป
อนาคตเป็นเรื่องของวันข้างหน้า แต่คุณสามารถสร้างมันขึ้นมาได้ตั้งแต่วันนี้ แค่รู้จักเลือกและวางแผนสิ่งที่เหมาะสมกับต้นทุนที่ตัวเองครอบครองอยู่ในปัจจุบัน ทั้งเงิน เวลา และการจัดการ เพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างความมั่นคงระยะยาวและมูลค่าจากทุนที่มีอยู่เดิม รวมทั้งเลี่ยงความเสี่ยงให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
การออมและการลงทุนจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการตั้งคำถามทำนองว่า ‘จะฝากเงินกับธนาคารไหนดี’ หรือ ‘จะสะสมเงินกับกองทุนอะไรได้บ้าง’ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการประเมินสภาพการณ์การเงิน ศักยภาพการรับมือกับความเสี่ยง และผลตอบแทนที่คุ้มค่าและตอบโจทย์เป้าหมายของคุณ