ประเมินความสามารถในการกู้บ้าน [เงินเดือนเท่านี้ กู้ได้เท่าไหร่?]

/
/
ประเมินความสามารถในการกู้บ้าน [เงินเดือนเท่านี้ กู้ได้เท่าไหร่?]

วิธีการประเมินความสามารถในการกู้บ้านจะคิดจากอะไรบ้าง? แล้วเงินเดือนของคุณ จะกู้ได้ประมาณเท่าไร ในบทความนี้เราจะมาแนะนำวิธีประเมินเบื้องต้นให้

สำหรับคนที่มีแผนอยากซื้อบ้านหรืออยากสร้างบ้าน หนึ่งในข้อสงสัยก็คือ “เงินเดือนเท่านี้ จะสามารถกู้ได้เท่าไหร่” หรืออยากประเมินความสามารถในการกู้บ้านของตัวเอง เพื่อที่จะได้ประเมินราคาบ้านที่จะซื้อหรือกะเกณฑ์งบประมาณในการสร้างบ้านได้เหมาะสมกับวงเงินที่จะได้

โดยความสามารถในการกู้บ้านนั้น จะเป็นสิ่งที่ธนาคารเป็นผู้พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งนี้ หากตัวผู้กู้รู้ว่าเกณฑ์การคิดมาจากอะไรบ้าง ก็สามารถประเมินความสามารถในการกู้ของตัวเองก่อนได้ รวมถึงหาวิธีเพิ่มความสามารถทางการเงินให้กู้สินเชื่อบ้านในวงเงินที่มากขึ้นได้ด้วย 

วิธีการประเมินความสามารถในการกู้บ้านจะคิดจากอะไรบ้าง แล้วเงินเดือนของคุณ จะกู้ได้ประมาณเท่าไร แนะนำวิธีคิดด้านล่างนี้

ความสามารถในการกู้บ้าน คืออะไร ธนาคารคิดจากอะไรบ้าง?

ความสามารถในการกู้บ้าน คืออะไร ธนาคารคิดจากอะไรบ้าง? 

ความสามารถในการกู้บ้าน คือ สิ่งที่ธนาคารจะประเมินว่า ผู้กู้มีความสามารถในการกู้ได้มากเท่าไร โดยดูจากรายได้และรายจ่ายประจำของผู้กู้เป็นหลัก ยิ่งผู้กู้มีความสามารถในกู้มากเท่าไร ก็หมายถึงวงเงินที่อาจจะได้รับอนุมัติจากธนาคารสูงขึ้น ผู้กู้หลายรายจึงต้องการประมาณการว่า ตัวเองมีความสามารถในการกู้สินเชื่อบ้านและน่าจะได้รับวงเงินเท่าไร เพื่อนำไปใช้มองหาบ้านในราคาหรือกำหนดงบประมาณสร้างบ้านที่เหมาะสมกับวงเงิน 

แล้วความสามารถในการกู้บ้าน ธนาคารดูจากอะไร?

ธนาคารโดยทั่วไปจะพิจารณาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่

  1. ประมาณการรายได้ต่อเดือน
  2. ประมาณการภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินต่อเดือน
  3. ความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือน 

ซึ่งการแสดงตัวอย่างการประเมินความสามารถในการกู้บ้าน เป็นอัตราส่วนที่ใช้สำหรับการประมาณการรายได้ การประมาณการหนี้สิน และความสามารถในการผ่อนชำระด้วยตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่อัตราส่วนที่อ้างอิงจากธนาคารใดธนาคารหนึ่ง เนื่องจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคิดอาจแตกต่างไปตามแต่ละธนาคาร 

1. ประมาณการรายได้ต่อเดือน

แน่นอนว่า ปัจจัยแรกที่ธนาคารจะนำมาพิจารณาก็คือ รายได้ ซึ่งไม่เพียงแค่เงินเดือนเท่านั้น แต่รายได้จากช่องทางต่างๆ ธนาคารจะนำมาพิจารณาเป็นรายได้รวมของผู้กู้ให้ โดยรายได้จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ด้วยกัน ได้แก่ 

  1. รายได้คงที่ หมายถึง รายได้ที่ได้รับเป็นประจำทุกเดือนหรือมีหลักฐานรับรองรายได้ เช่น เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าครองชีพ
  1. รายได้ไม่คงที่ หมายถึง รายได้ที่อาจจะได้รับ หรือไม่ได้รับ หรือได้รับไม่เท่ากันทุกเดือน เช่น ค่าล่วงเวลา ค่าบริการ ค่าคอมมิชชั่นยอดขายสินค้า เบี้ยขยัน ฯลฯ ซึ่งรายได้เหล่านี้ ธนาคารจะคิดเป็นค่าเฉลี่ยและนำมาคำนวณเพียงบางส่วน (ไม่นำมาคำนวณเต็มจำนวน)

ตัวอย่างการคำนวณประมาณการรายได้

  • เงินเดือน : 100%
  • รายได้อื่นๆ ที่ระบุในสลิปเงินเดือน : 100%
  • รายได้ไม่คงที่ (เป็นรายได้ที่ได้รับต่อเนื่อง : คิดเป็นค่าถัวเฉลี่ย) : 50%
ตัวอย่างการคำนวณประมาณการรายได้ (ต่อเดือน)
รายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณการรายได้ต่อเดือน
เงินเดือน 25,000 บาทคิด 100% = 25,000 บาท
รายได้อื่นๆ ที่ระบุในสลิปเงินเดือน เช่นเงินประจำตำแหน่ง 1,000 บาทค่าครองชีพ 1,000 บาทคิด 100% = 2,000 บาท
รายได้ไม่คงที่ (เป็นรายได้ที่ได้รับต่อเนื่อง : คิดเป็นค่าถัวเฉลี่ย) เช่นค่าคอมมิชชั่น 8,583 บาทค่าล่วงเวลาเฉลี่ย 1,500 บาทเบี้ยขยัน 1,000 บาทรายได้จากการขายของออนไลน์ 2,000 บาท คิด 50% = 13,083 บาท x 50% = 6,541.50 บาท
รวมประมาณการรายได้ทั้งสิ้น25,000 + 2,000 + 6,541.50 = 33,541.50 บาท

*หมายเหตุ: อัตราส่วนการประมาณการรายได้ ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแต่ละธนาคารกำหนด

2. ประมาณการหนี้สินที่ต้องชำระต่อเดือน

ปัจจัยต่อมาที่ธนาคารจะนำมาใช้ประเมินความสามารถในการกู้ ก็คือ ภาระหนี้สินที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมดของผู้กู้ โดยธนาคารจะนำภาระหนี้สินของผู้กู้ไปหักกับรายได้ จึงจะสามารถประเมินวงเงินให้กับผู้กู้ได้

ตัวอย่างการคำนวณประมาณการหนี้สิน

  • ผ่อนสินเชื่อบ้าน : 100% (จากอัตราผ่อนแต่ละเดือน หากเหลือ 3 งวดสุดท้าย ไม่คิด)
  • ผ่อนรถยนต์/รถมอเตอร์ไซค์ : 100% (จากอัตราผ่อนแต่ละเดือน หากเหลือ 3 งวดสุดท้าย ไม่คิด)
  • บัตรเครดิต : 10% (จากยอดคงเหลือล่าสุด) 
  • บัตรกดเงินสด : 5% (จากยอดคงเหลือล่าสุด) 
ตัวอย่างการประมาณการหนี้สิน (ต่อเดือน)
ภาระผ่อนหนี้สินต่อเดือนประมาณการรายจ่ายต้องผ่อนต่อเดือน
ค่าผ่อนบ้าน 8,000 บาทคิด 100% = 8,000 บาท
ค่าผ่อนรถมอเตอร์ไซค์ 2,500 บาท คิด 100% = 2,500 บาท
บัตรเครดิต 30,000 บาทคิด 10% = [30,000 x 10%] = 3,000 บาท
รวมประมาณการรายจ่าย8,000 + 2,500 + 3,000 = 13,500 บาท

*หมายเหตุ: อัตราส่วนการประมาณการหนี้สิน ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแต่ละธนาคารกำหนด

3. ความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือน 

ปัจจัยข้อสุดท้ายที่ธนาคารจะใช้ประเมินความสามารถทางการเงินของผู้กู้ คือ “ความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือน” ซึ่งจะนำทั้ง 1) ประมาณการรายได้ และ 2) ประมาณการรายจ่ายต้องผ่อน มาคำนวณด้วย 

โดยความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ธนาคารแต่ละที่จะกำหนดตั้งแต่ 40% – 70%* ของรายได้หลังหักภาระหนี้สินต่างๆ ออกแล้ว

*หมายเหตุ: อัตราส่วนความสามารถในการผ่อนชำระขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารกำหนด

สูตรคำนวณความสามารถในการผ่อนชำระ (กรณีธนาคารกำหนดความสามารถที่ 50%)

[รายได้ x 50%] – หนี้สินทั้งหมด = ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้สูงสุด

ยกตัวอย่างการคำนวณ

  • ประมาณการรายได้ = 33,541.50 บาท
  • ประมาณการรายจ่ายหนี้สิน = 13,500 บาท

ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ได้ [33,541.50 x 50%] – 13,500 = 3,270.50 บาท

ทั้งนี้ หากผู้กู้เตรียมตัวกู้ซื้อบ้าน สะสางหนี้สินต่างๆ จนหมด ก็จะมีความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือนได้มากขึ้น ซึ่งจะสามารถเพิ่มวงเงินสูงสุดที่จะได้ ยกตัวอย่างเช่น รายได้เฉลี่ย 33,541.50 บาท x 50% = 16,770.75 บาท

วิธีประเมินความสามารถในการกู้ หรือ คำนวณวงเงินกู้บ้าน

วิธีประเมินความสามารถในการกู้ หรือ คำนวณวงเงินกู้บ้าน

วิธีการประเมินความสามารถในการกู้โดยทั่วไป ธนาคารจะใช้ อัตราผ่อน 7,000 : วงเงินกู้ 1,000,000 บาท* ซึ่งผู้กู้สามารถนำมาคำนวณหาวงเงินกู้บ้านที่น่าจะได้รับกับความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ด้วยสูตรนี้ 

(ความสามารถในการชำระหนี้ x 1,000,000) ÷ 7,000 = ยอดวงเงินกู้

ยกตัวอย่างการคำนวณ

(3,270.75 x 1,000,000) ÷ 7,000 = 467,250

จากตัวอย่างข้างต้น ผู้กู้อาจได้วงเงินกู้บ้านจำนวน 467,250 บาท

หรือในกรณีที่ไม่มีภาระหนี้สิน คำนวณวงเงินกู้สูงสุดได้ (16,770.75 x 1,000,000) ÷ 7,000 = 2,395,821 บาท

ดังนั้น หากผู้กู้ต้องการวงเงินในการกู้ซื้อบ้านที่สูงขึ้น จึงควรสะสางหนี้สินต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุด

เงินเดือนเท่านี้ สามารถกู้สินเชื่อบ้านได้สูงสุดเท่าไหร่

สรุปแล้ว เงินเดือนของคุณ สามารถกู้สินเชื่อได้วงเงินสูงสุดที่เท่าไหร่ หากประเมินจากรายได้คร่าวๆ ในกรณีที่ไม่มีหนี้สินอะไร ธอส. ประมาณการวงเงินสินเชื่อบ้านให้ โดยมีขั้นตอนในการคิด ได้แก่

  1. คำนวณความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ต่อเดือน 
  2. คำนวณความสามารถในการกู้หรือวงเงิน 
เงินเดือนหรือรายได้ต่อเดือน
(บาท)
ความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือน
(กรณีกำหนดไม่เกิน 50% ของรายได้)
วงเงินกู้สูงสุดโดยประมาณ
(บาท)
15,0007,5001,074,429
20,000 10,0001,428,571
30,00015,0002,142,857
40,00020,0002,857,143
50,00025,0003,571,428
60,00030,0004,285,714
100,00050,0007,142,857

หมายเหตุ: สูตรการคำนวณดังกล่าวเป็นเพียงการประมาณการเท่านั้น หากผู้ยื่นกู้ต้องการทราบข้อมูลแบบละเอียดชัดเจน แนะนำให้ทำการติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่ธนาคาร ธอส.

แนะนำสินเชื่อบ้าน ธอส.​ ที่ให้วงเงินได้สูงกว่า

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คุณน่าจะพอได้คำตอบคร่าวๆ ว่าความสามารถในการกู้บ้านของคุณหรือวงเงินที่น่าจะได้รับจากธนาคารอยู่ที่เท่าไร ทั้งนี้ หากผู้กู้เลือกขอสินเชื่อกับธนาคารอาหารสงเคราะห์ หรือ ธอส. คุณมีโอกาสได้วงเงินสินเชื่อบ้านที่สูงกว่าธนาคารอื่น เนื่องจากสามารถเลือกผ่อนชำระได้นานสูงสุดถึง 40 ปี (โดยผู้กู้ต้องอายุไม่เกิน 70 ปี)

เมื่อผ่อนชำระได้ยาวนานขึ้น (ธนาคารโดยทั่วไปจะให้ระยะเวลาผ่อนชำระเพียง 30 ปี) ภาระในการผ่อนชำระสินเชื่อบ้านแต่ละงวดจะถูกลง ทำให้เมื่อนำมาคำนวณวงเงิน จึงมีโอกาสได้วงเงินที่สูงกว่า 

อย่างไรก็ตาม ในการให้วงเงินยังมีปัจจัยต่างๆ ที่ธนาคารจะนำมาพิจารณา ซึ่งแตกต่างไปตามเงื่อนไขของแต่ละบุคคล 

หากคุณสนใจยื่นกู้สินเชื่อบ้านหรือต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม สามารถกรอกข้อมูล เพื่อขอคำแนะนำด้านสินเชื่อ และให้เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับ >>> ได้ที่นี่

เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ที่คอยให้คำแนะนำ พร้อมเปรียบเทียบและหยิบยื่นข้อเสนอด้านสินเชื่อที่ดีที่สุดให้กับคุณ ติดต่อเราได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาใกล้บ้านคุณ

หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.ghbank.co.th   

ติดต่อ G H BANK Call Center : 02 645 9000

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
-

บริการของเรา

สนใจผลิตภัณฑ์ธนาคาร

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณ
อาจสนใจ

ติดตามข่าวสารจาก GH BANK

อัปเดตทุก
เรื่องบ้าน

อัพเดตเรื่องบ้านก่อนใคร รู้ก่อนได้เปรียบ

ติดตามข่าวสารจาก GH BANK

อัปเดตทุก
เรื่องบ้าน

อัพเดตเรื่องบ้านก่อนใคร รู้ก่อนได้เปรียบ

ติดตามข่าวสารจาก GH BANK

อัปเดตทุก เรื่องบ้าน

อัพเดตเรื่องบ้านก่อนใคร รู้ก่อนได้เปรียบ

ค้นหาตาม Keyword เช่น การเงิน, การลงทุน, สินเชื่อ, บ้าน