เกริ่นนำ
หนึ่งในวิธีเก็บเงินที่ได้รับความนิยมที่สุด คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการเก็บเอาไว้ในบัญชีเงินฝากของธนาคาร แต่หลายๆ คนที่มีเงินฝากจำนวนมากๆ ก็อาจจะมีความกังวลเกี่ยวกับภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก
บทความนี้ ธอส. จึงจะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการเสียภาษีของดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารให้คุณเข้าใจ พร้อมทั้งแนะนำเงินฝากแบบไม่ต้องเสียภาษีทั้ง 3 ประเภท ให้คุณได้รับดอกเบี้ยแบบเต็มๆ!
กรณีไหนบ้างที่ต้องเสียภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝาก
แม้ว่าดอกเบี้ยจากเงินฝากจะมีการเสียภาษีก็จริง แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มีเงินฝากเก็บไว้ในธนาคารจะต้องเสียภาษีทุกคน
เพื่อให้กรมสรรพากรทราบจำนวนดอกเบี้ยของคุณ ผู้ฝากจะต้องแจ้งต่อธนาคารเพื่อทำการเซ็นยินยอมให้ธนาคารเจ้าของบัญชีที่เปิดอยู่ สามารถแจ้งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากไปยังกรมสรรพากรได้
โดยเมื่ออ้างอิงจากประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 347 เงื่อนไขของภาษีดอกเบี้ยเงินฝากนั้น สามารถสรุปออกมาให้เข้าใจง่ายๆ ได้ ดังนี้
- ผู้ที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาทนั้นจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
- ผู้ที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากทุกธนาคารรวมกันแล้วเกินกว่า 20,000 บาท จะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% (เฉพาะดอกเบี้ยที่ได้รับเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเงินต้น)
- ผู้ที่ไม่ได้ทำเรื่องยินยอมให้ธนาคารแจ้งดอกเบี้ยไปยังกรมสรรพากร ก็จะโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นจำนวน 15% แม้ว่าจำนวนดอกเบี้ยจะไม่ถึง 20,000 บาทก็ตาม (สามารถทำเรื่องยื่นขอเงินคืนภาษีตอนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปีได้)
ซึ่งจำนวนดอกเบี้ยที่เกิน 20,000 บาทนั้น จะนับรวมจากทุกบัญชีเงินฝากที่เปิด หมายความว่าแม้แต่ละบัญชีจะมีดอกเบี้ยไม่ถึง 20,000 บาท แต่เมื่อผลรวมดอกเบี้ยของทุกบัญชีเกินกว่าจำนวนนี้ คุณก็จะถูกหักภาษีนั่นเอง
3 ประเภทเงินฝากไม่เสียภาษี!
เมื่อได้ทราบเงื่อนไขของภาษีดอกเบี้ยเงินฝากกันไปแล้ว ทีนี้เรามาดูกันว่ามีบัญชีเงินฝากประเภทใดบ้างที่คุณสามารถออมเงินแล้วรับดอกเบี้ยแบบเต็มๆ ได้บ้าง ซึ่ง ธอส. จะขอแนะนำให้รู้จักกับช่องทางออมเงิน 3 ประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษี ดังนี้
1. บัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี
บัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี เป็นบัญชีเงินฝากที่ให้ดอกเบี้ยตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินแบบทั่วไป โดยผู้ฝากจะต้องทำการฝากเงินเข้าบัญชีเป็นประจำในทุกๆ เดือนตามระยะเวลาที่กำหนด โดยที่ไม่สามารถถอนเงินนั้นออกมาใช้ได้ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้รับอัตราดอกเบี้ยตามที่ตกลงไว้
โดยบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษีนั้นจะมีเงื่อนไขในการเปิดบัญชี ดังนี้
- ผู้ฝาก 1 คนสามารถเปิดได้เพียง 1 บัญชีเท่านั้น (รวมทุกธนาคาร)
- มีการกำหนดเงินฝากสูงสุดไม่เกินจำนวนที่กำหนด (เช่น ไม่เกิน 20,000 บาทต่อครั้ง)
- มีการกำหนดยอดรวมในบัญชีสูงสุดต้องไม่เกินจำนวนที่กำหนด (เช่น ยอดรวมเมื่อจบบัญชีไม่เกิน 600,000 บาท)
- ไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร
โดย ธอส. มีบัญชีเงินฝากประจำสะสมทรัพย์ ที่เป็นเงินฝากประจำปลอดภาษี ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อการออมเงินที่ดีสำหรับผู้ที่เริ่มต้นเก็บเงิน หรืออยากมีเงินก้อน นอกจากนี้ยังได้รับดอกเบี้ยตอบแทนที่มากกว่าปกติอีกด้วย จึงนับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย
หากสนใจเปิดบัญชีเงินฝากประจำสะสมทรัพย์กับ ธอส. สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
2. เงินฝากออมทรัพย์จากธนาคารของรัฐ
ธนาคารของภาครัฐบาลจะมีสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้า ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร
อย่างเช่น บัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ สำหรับบุคคลธรรมดาจาก ธอส. ครอบคลุมบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทุกประเภท (ออมทรัพย์ ออมทรัพย์พิเศษ ซุปเปอร์ออมทรัพย์พิเศษ) จึงการันตีได้เลยว่าดอกเบี้ยของเงินที่คุณฝากไว้จะได้รับมาเต็มๆ อย่างแน่นอน
หากสนใจเปิดบัญชีฝากออมทรัพย์กับ ธอส. สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
3. สลากออมทรัพย์จากธนาคารของรัฐ
หากสนใจจะฝากเงินเก็บไว้เพื่อกินดอกเบี้ยในระยะยาว อีกหนึ่งช่องทางการเก็บออมเงินที่น่าสนใจไม่แพ้ประเภทอื่นๆ เลย นั่นก็คือ สลากออมทรัพย์จากธนาคารของรัฐนั่นเอง
สลากออมทรัพย์นั้นมีรูปแบบคล้ายกับบัญชีเงินฝากประจำ ที่คุณจะต้องนำเงินฝากไว้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งโดยที่ถอนออกมาก่อนไม่ได้ เพียงแต่สลากออมทรัพย์นั้นจะมีสิทธิพิเศษให้คุณได้นำเลขที่ได้จากสลากมาลุ้นรางวัล
ซึ่งรางวัลที่ได้นั้นจะถูกแบ่งออกเป็นรางวัลเล็กและรางวัลใหญ่แตกต่างกันไปตามแต่ละธนาคารกำหนด โดยดอกเบี้ยที่ได้รับจากสลากออมทรัพย์ของธนาคารรัฐนั้นจะได้รับการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร
แม้อัตราดอกเบี้ยของสลากออมทรัพย์จะไม่ได้สูงเทียบเท่ากับบัญชีเงินฝากประจำ แต่เมื่อนับรวมอัตราดอกเบี้ยที่ได้เมื่อครบกำหนดสัญญา และรางวัลที่ได้ลุ้นในทุกๆ รอบ ก็นับว่าคุ้มค่าทีเดียว
สลากออมทรัพย์ ธอส. ชุดใหม่ “ต่อเงินต่อทอง”
ข้อมูลและผลตอบแทนของสลากต่อเงินต่อทอง
- สลากต่อเงินต่อทอง ราคาหน่วยละ 10,000 บาท โดยต้องซื้อขั้นต่ำที่ 1 หน่วย
- ให้อัตราดอกเบี้ยสูงถึง 0.5% ต่อปี
- สลากมีอายุ 3 ปี โดยมีสิทธิ์ลุ้นรางวัลทุกเดือน จำนวนทั้งหมด 36 งวด
- ออกรางวัลสลากทุกวันที่ 16 ของเดือน
- เปิดให้ซื้อแล้วตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2565 ไปจนกว่าจะเต็มกรอบวงเงินที่ 2 ล้านหน่วย หรือ 2 หมื่นล้านบาท (ขณะนี้ยังเปิดขายอยู่)
เมื่อถูกรางวัลของสลาก คุณจะได้รับเป็นสลากต่อเงินต่อทอง ที่สามารถนำไปลุ้นโชคต่อได้อีก โดยแบ่งรางวัลออกเป็น
- รางวัลที่ 1 ได้รับสลากจำนวน 100 หน่วย มูลค่า 1,000,000 บาท จำนวน 1 รางวัล/หมวด
- รางวัลที่ 2 ได้รับสลากจำนวน 10 หน่วย มูลค่า 100,000 บาท จำนวน 4 รางวัล/หมวด
- รางวัลที่ 3 ได้รับสลากจำนวน 2 หน่วย มูลค่า 20,000 บาท จำนวน 20 รางวัล/หมวด
- รางวัลที่ 4 ได้รับสลากจำนวน 1 หน่วย มูลค่า 10,000 บาท จำนวน 20 รางวัล/หมวด
- รางวัลเลขท้ายในหลักหน่วย (เลข 0-9) รางวัลละ 30 บาท
โดยหากคุณได้โชคใหญ่หรือถูกรางวัลสลากออมทรัพย์ ในรางวัลที่ 1-4 ก็สามารถติดต่อขอรับรางวัลสลากได้ที่ ธอส. ทุกสาขา และสำหรับรางวัลเลขท้ายหลักหน่วย ธนาคารจะโอนรางวัลบัญชีคู่โอนของคุณอัตโนมัติในวันถัดไป
ซื้อสลากออมทรัพย์ ชุดต่อเงินต่อทองกับ ธอส.
หากว่าคุณสนใจในการออมเงินกับสลากออมทรัพย์ต่อเงินต่อทอง สามารถซื้อได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 8.30-15.30 น. หรือสาขาในศูนย์การค้าวันจันทร์-วันอาทิตย์ เวลา 10.30-19.00 น.
สำหรับลูกค้าที่เคยเปิดบัญชีซื้อสลากกับ ธอส. และผูกบัญชีออมทรัพย์กับแอปพลิเคชัน GHB ALL แล้ว ก็สามารถทำการซื้อสลากต่อเงินต่อทองผ่านแอปพลิเคชันได้เลย
ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสลากต่อเงินต่อทอง สามารถติดต่อได้ที่ Live Chat บนหน้าเว็บไซต์ https://www.ghbank.co.th/ หรือ Facebook Page ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือติดต่อ G H BANK Call Center : 02 645 9000