อุบัติเหตุเป็นเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ใครๆ ต่างก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น ซึ่งในแต่ละครั้งก็นำมาซึ่งความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ “ไฟไหม้” ซึ่งควบคุมได้ยากที่สุดและรุนแรงที่สุด อีกทั้งหากระงับเหตุการณ์ไม่ทัน อาจทำให้คุณสูญเสียบ้านไปทั้งหลัง
แม้จะไม่มีวิธีที่ป้องกันไม่ให้เกิดได้ถาวร แต่แน่นอนว่ากันไว้ย่อมดีกว่าแก้ เพียงติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับระงับเหตุการณ์เบื้องต้น เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและบ้านที่คุณรัก
มาดูกันเลยว่า “อุปกรณ์ดับเพลิง” ที่ควรมีติดบ้านไว้มีอะไรบ้าง
ประเภทของเพลิงไหม้
อันดับแรกก่อนที่จะทำการเลือกอุปกรณ์ เราต้องรู้ก่อนว่าเหตุเพลิงไหม้แต่ละครั้งนั้นมีรูปแบบไม่เหมือนกัน และต้องใช้อุปกรณ์ดับเพลิงที่แตกต่างกันไปเช่นกัน โดยเหตุเพลิงไหม้ที่สามารถเกิดได้ภายในบ้าน จะมีอยู่ 5 ประเภท ดังนี้
- เพลิงไหม้ประเภท A จากเชื้อเพลิงธรรมดาติดไฟง่าย อย่างเช่น กระดาษ พลาสติก หรือเสื้อผ้า เป็นเหตุเพลิงไหม้ที่พบได้ค่อนข้างบ่อย โดยมากจะเกิดจากต้นเพลิงอื่นแล้วลามมาที่วัสดุเหล่านี้
- เพลิงไหม้ประเภท B จากเชื้อเพลิงของเหลวติดไฟ เช่น น้ำมันก๊าซ น้ำมันเบนซิน แก๊สติดไฟต่างๆ และสารไวไฟทุกชนิด
- เพลิงไหม้ประเภท C จากอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร หรือเกิดความร้อนสูงจนเกิดไฟไหม้
- เพลิงไหม้ประเภท K จากเชื้อเพลิงจากการทำครัว เช่น น้ำมันพืช ไขมันสัตว์ เป็นอีกหนึ่งเหตุเพลิงไหม้ที่พบได้บ่อยที่สุด โดยมากเกิดจากความสะเพร่าจากการทำอาหารในห้องครัว แล้วไฟเกิดลุกลาม
เมื่อทุกท่านทราบถึงประเภทของเพลิงไหม้ต่างๆ แล้ว … ทีนี้ก็มาเลือกอุปกรณ์สำหรับป้องกันเหตุเพลิงไหม้ต่างๆ ภายในบ้านของคุณกัน
อุปกรณ์รองรับเหตุเพลิงไหม้สำหรับครัวเรือน
หลายๆ คนอาจคิดว่า ป้องกันไฟไหม้แค่มีถังดับเพลิงไว้ในบ้านสัก 1 ถังก็เพียงพอแล้ว … ในความเป็นจริงเหตุเพลิงไหม้นั้นเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมาก ถังดับเพลิงเพียงถังเดียวอาจไม่สามารถป้องกันเหตุการณ์ได้ อีกทั้งหากเลือกใช้ไม่ถูกประเภท ไฟนั้นอาจจะไม่ดับและเป็นอันตรายต่อตัวคุณเองด้วย
มาดูกันดีกว่าว่า … ภายในบ้านของคุณ ควรมีอุปกรณ์รองรับเหตุเพลิงไหม้อะไรบ้าง
1. อุปกรณ์ตรวจจับเพลิงไหม้
บ่อยครั้งที่เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้ส่งเสียงดังเพื่อแจ้งเตือนให้เรารู้ตัวก่อน กว่าจะรู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้นไฟก็ลุกลามจนระงับเหตุการณ์ไม่ทันแล้ว เพราะฉะนั้น! คุณจึงต้องมีอุปกรณ์แจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ เพื่อการระงับเหตุ หรือหลบหนีออกมาอย่างทันท่วงที
โดยมีอยู่ 3 ประเภท ดังนี้
-
ระบบตรวจจับด้วยความร้อน
ทำการตรวจจับอุณหภูมิภายในพื้นที่ติดตั้งและบริเวณรอบๆ เมื่ออุณหภูมิมีการเปลี่ยนแปลงแบบเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ตั้งไว้ อุปกรณ์จะทำการส่งสัญญาณแจ้งเตือน
-
ระบบตรวจจับควันไฟ
ทำหน้าที่ตรวจจับควันที่เกิดขึ้นภายในบริเวณ หากตรวจพบว่ามีเขม่าควันมากเกินปกติ อุปกรณ์ก็จะเริ่มทำงานและส่งสัญญาณเตือน เป็นอุปกรณ์รุ่นที่นิยมใช้มากที่สุด
-
ระบบตรวจจับเปลวไฟ
เหมาะสำหรับบริเวณที่มีโอกาสเกิดเหตุเพลิงไหม้แต่ไม่ก่อเกิดควัน เช่น เชื้อเพลิงจากน้ำมันก๊าดในโรงจอดรถ ระบบจะทำการตรวจจับแสงที่เป็นอินฟาเรด เมื่อตรวจพบจะทำการส่งสัญญาณแจ้งเตือน
ตำแหน่งติดตั้งอุปกรณ์
ควรติดตั้งในจุดเสี่ยงที่จะเกิดไฟไหม้ที่สุด เช่น ห้องครัว เป็นไปได้ควรติดตั้งไว้ให้ครบทุกห้อง (ยกเว้นห้องน้ำ) ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการเลือกอุปกรณ์แจ้งเตือนให้เหมาะสมกับรูปแบบบ้านของคุณ
2. อุปกรณ์สำหรับดับเพลิง
-
ถังดับเพลิง
อุปกรณ์ดับเพลิงที่ทุกคนต่างก็รู้จักกันดี แม้จะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายๆ กัน แต่ก็มีรูปแบบการใช้งานที่ไม่เหมือนกัน โดยแยกตามเคมีที่บรรจุภายในถังเพื่อความสามารถในการดับเพลิงที่แตกต่างกันไป
โดยถังดับเพลิงที่เหมาะสำหรับใช้ภายในบ้าน มีทั้งหมด 3 ประเภท ดังนี้
-
แบบผงเคมีแห้ง
ภายในบรรจุผงเคมีแห้งและไนโตรเจนที่ใช้สำหรับระงับปฏิกิริยาของการเกิดเหตุเพลิงไหม้ เมื่อฉีดออกมาจะเป็นฝุ่นละอองไปขวางการลุกไหม้ของออกซิเจนกับเชื้อเพลิง ใช้สำหรับดับเพลิงไหม้ประเภท A, B และ C เหมาะสำหรับติดตั้งตามตำแหน่งทั่วไปของบ้าน
สามารถหาซื้อได้ง่ายและมีราคาถูก แต่เมื่อเปิดใช้แล้วแม้จะใช้ไม่หมด ก็ต้องส่งไปบรรจุใหม่เนื่องจากแรงดันหมด
-
แบบน้ำยาเหลวระเหย
ภายในบรรจุสารเคมีเหลวระเหย ใช้สำหรับดับเพลิงประเภท A, B, C และ K ไม่ทิ้งคราบสกปรกหลังดับ และไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้าจึงไม่ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เสียหาย เหมาะสำหรับติดตั้งไว้เพื่อรองรับเหตุเพลิงไหม้ในห้องครัว แต่มีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับถังดับเพลิงประเภทอื่น
-
แบบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ภายในบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อฉีดออกมาจะเป็นไอเย็นจัดปกคลุมบริเวณที่เกิดไฟไหม้ ลดความร้อนและดับเพลิงได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังไม่ทิ้งคราบสกปรกหลังดับอีกด้วย เหมาะสำหรับการติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ รอบบริเวณบ้าน
สามารถดับเพลิงได้ไว, มีราคาไม่สูงมาก และหาซื้อได้ง่าย แต่สามารถดับเพลิงได้แค่ประเภท B และ C เท่านั้น
-
ลูกบอลดับเพลิง
อุปกรณ์ดับเพลิงรูปแบบลูกบอล ภายในบรรจุสารแอมโมเนียฟอตเฟตสำหรับดับเพลิง มีหลักการทำงานง่ายๆ เพียงลูกบอลสัมผัสกับเปลวไฟก็จะแตกตัวออก เคมีข้างในก็จะฟุ้งกระจายดับเพลิงโดยรอบ สำหรับดับเพลิงไหม้ประเภท A, B และ C เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่กล้าเผชิญหน้ากับไฟในระยะใกล้
สามารถดับเพลิงได้ไว ใช้งานง่าย แต่มีราคาที่ค่อนข้างสูง สามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียว
-
ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ แบบติดตั้งเพดาน
เป็นอุปกรณ์แบบใช้ร่วมกับตัวตรวจจับเหตุเพลิงไหม้ เมื่อมีสัญญาณจะทำการปล่อยคมีสำหรับดับเพลิงออกมาแบบอัตโนมัติ ซึ่งสามารถระงับเหตุได้ในทันที โดยสารเคมีที่บรรจุข้างในมีหลายประเภทเช่นเดียวกับ “ถังดับเพลิง” สามารถเลือกสารเคมีภายในให้เหมาะสมกับห้องที่ต้องการจะติดตั้ง เช่น
-
แบบผงเคมีแห้ง
แบบ เคมีแห้ง เมื่อฉีดออกมาจะเป็นฝุ่นละอองไปขวางการลุกไหม้ของออกซิเจนกับเชื้อเพลิง ใช้สำหรับดับเพลิงไหม้ประเภท A, B และ C เหมาะสำหรับติดตั้งตามห้องต่างๆ ของบ้าน
-
แบบน้ำยาเหลวระเหย
แบบ เคมีเหลวระเหย ใช้สำหรับดับเพลิงประเภท A, B, C และ K ไม่ทิ้งคราบสกปรกหลังดับ และไม่ก่อความเสียหายให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เสียหาย เหมาะสำหรับติดตั้งไว้ในห้องครัว
-
แบบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
แบบ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อฉีดออกมาจะเป็นไอเย็นจัดปกคลุมบริเวณที่เกิดไฟไหม้ อีกทั้งยังไม่ทิ้งคราบสกปรกหลังดับ ใช้สำหรับดับเพลิงประเภท B และ C เหมาะสำหรับการติดตั้งไว้ตามทางเดินรอบบริเวณบ้าน
ตำแหน่งติดตั้งอุปกรณ์
ตำแหน่งของอุปกรณ์ดับเพลิงควรอยู่ในที่ที่เมื่อเกิดเหตุสามารถนำมาใช้งานได้สะดวกที่สุด หรือเป็นไปได้ควรติดตั้งเอาไว้ทุกห้องภายในบ้าน โดยเฉพาะจุดที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุเพลิงไหม้สูง เช่น ห้องครัว โรงจอดรถ ห้องนอน
สรุป
แม้อุปกรณ์ดับเพลิงเหล่านี้จะสามารถใช้ระงับอุบัติเหตุเพลิงไหม้เบื้องต้นได้ แต่ก็มีหลายกรณีที่ไฟนั้นลุกลามและสร้างความเสียหายมาก อาจทำให้คุณต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมต่างๆ จำนวนมหาศาล
บ้านของคุณจึงควรมี “ประกันภัยบ้าน” เพื่อเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุไม่คาดฝัน และมีประกันช่วยบรรเทาความสูญเสีย
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ “ประกันภัยบ้าน” สิ่งจำเป็นที่หลายคนมองข้าม