บัตรเครดิตคือตัวช่วยให้เรามีสภาพคล่องทางการเงินและมีอำนาจในการจับจ่ายมากขึ้น รวมทั้ง ยังให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ส่วนลดอาหาร หรือคะแนนสะสมเพื่อแลกของ/ลุ้นรางวัล ฯลฯ และที่สำคัญ คือ ใช้จ่ายสะดวก ผ่อนง่าย และก็เช่นเดียวกัน เป็นหนี้ง่าย! หากใช้บัตรเครดิตโดยขาดการวางแผนแล้ว รู้สึกตัวอีกทีตรวนหนี้ก็อาจจะล่ามเราจนขยับไม่ได้ จึงต้องหาทางทำอะไรสักอย่างเพื่อ ปลดหนี้บัตรเครดิต ให้ได้
หัวใจในการแก้ไขปมหนี้ โดยเฉพาะบัตรเครดิต ต้องเริ่มจากความตั้งใจจริง และหากมีวิธีที่ช่วยสนับสนุนให้การลงมือลด-ปลดหนี้ที่ได้ผล โอกาสปลดหนี้บัตรเครดิตได้สำเร็จก็ยิ่งมากขึ้น
7 วิธีปลดหนี้บัตรเครดิตในบทความนี้ คือ วิธีที่จะช่วยคุณปลดเปลื้องภาระนี้ได้ (ขอเพียงคุณเริ่มต้นทำ)
1. หยุดสร้างหนี้ใหม่ (ยอมรับความจริง)
หนึ่งในปัญหาสำคัญของคนเป็นหนี้ โดยเฉพาะ “หนี้เสีย” เช่น หนี้บัตรเครดิตที่เกิดจากการบริโภคเกินรายได้ คือ ความรู้สึกอับอายและไม่ยอมรับความจริง
ผู้ที่เป็นหนี้สินแล้วอับอายกลัวว่าคนอื่นรู้แล้วจะดูไม่ดี ไม่มีคนคบ หรือครอบครัวเป็นห่วง อาจปกปิดความจริงด้วยการสร้าง “หนี้ใหม่” เพื่อเอามาใช้จ่ายเช่นปกติ เหมือนไม่มีภาระหนี้ล่ามขาอยู่ หากลูกและครอบครัวต้องการซื้ออะไรก็ยังเพียรหามาให้ได้ เพื่อนชวนไปสังสรรค์ก็ยังเกรงใจตกปากรับคำไปด้วยอย่างเคย ใช้บัตรเครดิตรูดแล้วรูดอีก วงเงินหมดก็รูดอีกใบ ใช้หมดทุกบัตร ก็ขอสินเชื่ออื่นมาหมุน ปัญหาหนี้สินก็จะไม่ได้รับการแก้ไขสักที มีแต่จะเติบโตขึ้นทุกวันๆ
ดังนั้น ข้อแรกของการเริ่มต้นปลดหนี้ (ที่ไม่ใช่แค่หนี้บัตรเครดิตเท่านั้น) จึงควรเริ่มต้นจากการยอมรับความจริงทั้งกับตนเองและคนรอบข้าง เพื่อให้ทุกคนรับรู้ปัญหาจะได้เข้าใจเรา และคุณจะได้เริ่มตั้งต้นจัดการหนี้สินอย่างจริงจัง ไม่ก่อหนี้เพิ่มได้
2. สำรวจหนี้สินและลำดับชำระหนี้
เมื่อต้องการแก้ไขหรือสะสางปัญหาอะไร เราต้องรู้จักปัญหาให้ดีก่อน รู้ว่าปัญหาของเราคืออะไร มีอะไรบ้าง และปัญหานั้นมีขนาดเท่าใด และสำหรับปัญหาหนี้บัตรเครดิต ก็มีดอกเบี้ยเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ต้องพิจารณาเพื่อจะได้รู้ว่าหนี้ตัวใดที่ดอกเบี้ยสูงและควรปิดก่อนและนำไปวางแผนจัดลำดับการชำระหนี้
การสำรวจภาระหนี้สินเพื่อการจัดการหนี้สินต่อไป จำเป็นต้องมีเกณฑ์รวบรวมข้อมูลสำหรับใช้ลำดับหนี้ที่ต้องจัดการให้ได้ก่อน ได้แก่
- รายการหนี้
- ยอดหนี้สินรวม
- อัตราดอกเบี้ย
- ยอดชำระขั้นต่ำ
- ระยะเวลาผ่อนชำระที่เหลือ
ตัวอย่างตารางสำรวจหนี้สิน
- บัตรเครดิต A ยอดหนี้รวม 40,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 20% ต่อปี ยอดชำระขั้นต่ำ 8,000 บาท
- หนี้บัตรเครดิต B (ผ่อนซื้อโทรศัพท์) ยอดหนี้รวม 15,000 บาท ดอกเบี้ย 0% ยอดชำระขั้นต่ำ 1,500 บาท เหลือระยะเวลาผ่อนอีก 10 เดือน
- บัตรเครดิต C ยอดหนี้รวม 30,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 12% ต่อเดือน ยอดชำระขั้นต่ำ 3,000 บาท
จากลำดับจะเห็นได้ว่า หนี้ที่ควรปิด/ปลดให้ได้ก่อน คือ หนี้ A ที่มียอดหนี้ก้อนใหญ่และต้องเสียอัตราดอกเบี้ยมากที่สุด เพราะหากเวลาที่ปล่อยให้หนี้เหล่านั้นมีชีวิตนานเท่าไร ก็เท่ากับดอกเบี้ยที่เติบโตผลาญรายได้ของเราเท่านั้น ส่วนลำดับต่อมา คือ หนี้ B ถือเป็นหนี้ที่ต้องชำระตามจำนวนข้อตกลงจากการผ่อนชำระสินค้า อย่างไรก็ต้องจ่าย และ หนี้ C คือ หนี้ที่ดอกเบี้ยต่ำกว่าหนี้ A เราอาจจ่ายหนี้ C แค่ขั้นต่ำ เพื่อแบ่งเงินไปจ่ายหนี้ A ให้มากๆ เพื่อจะปิดหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงกว่า
3. ปลดหนี้บัตรเครดิตได้ ต้องจ่ายมากกว่าขั้นต่ำ
เชื่อว่าใครก็ตามที่มีประสบการณ์ติดหนี้บัครเครดิตคงทราบกันดีว่า อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตทั้งสูงและส่วนมากคิดเป็นรายเดือน ทำให้ยอดหนี้คงเหลือแทบจะไม่ลดลงเลย เหมือนกับทำงานส่งให้กับธนาคารหรือเจ้าของบัตรเครดิตเพียงเท่านั้น
หลักการสำคัญในการชำระหนี้บัตรเครดิตที่ทุกคนต้องทำ คือ คุณต้องจ่ายมากกว่าขั้นต่ำ
เหตุผลที่คุณควรจ่ายมากกว่าขั้นต่ำนั้น ไม่ใช่แค่เพื่อให้คุณปลดหนี้บัตรเครดิตได้เร็วขึ้นเท่านั้น แต่เพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยเติบโตบานปลาย ตัวอย่างการคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิตต่อไปนี้จะช่วยให้คุณเห็นภาพว่า หากจ่ายเพียงขั้นต่ำ ดอกเบี้ยจะเติบโตไปเพียงใด
ตัวอย่างการคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิต
สูตรคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิต
เงินต้นทั้งหมดที่ค้างจ่าย x อัตราดอกเบี้ย x จำนวนวัน ÷ 365 วัน |
*ยอดบัตรเครดิต 40,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 20% ต่อปี จ่ายขั้นต่ำ 8,000 บาท (10%)
สรุปยอดทุกวันที่ 24 และกำหนดชำระบัตรทุกวันที่ 10
สมมติว่า เริ่มสรุปยอดวันที่ 24 มี.ค.
ขั้นที่ 1
40,000 บาท x 20% x 17 (วันที่ 24 มี.ค. – 10 เม.ย.) ÷ 365 วัน = 372.60 บาท |
ขั้นที่ 2
32,000 บาท(จ่ายขั้นต่ำ 8,000 บาท) x 20% x 15 (วันที่ 10 เม.ย. – 24 เม.ย.) ÷ 365 วัน = 263 บาท |
ดังนั้น หลังจากงวดที่จ่ายขั้นต่ำไป คุณจะต้องจ่ายดอกเบี้ยของทั้งสองขั้น ทำให้ยอดค้างชำระของคุณ คือ 32,000 + 372.60 + 263 = 32,635.6 บาท เท่ากับจ่ายดอกเบี้ยราว 635 บาท และถ้าหากคุณเป็นหนี้บัตรเครดิตหลายๆ บัตรพร้อมกัน ดอกเบี้ยที่คุณต้องจ่ายต่อเดือนก็ยิ่งสูง ซึ่งเป็นรายจ่ายที่คุณไม่ได้อะไรกลับมา เสมือนการส่งเงินให้กับเจ้าหนี้ไปเรื่อยๆ
ทั้งนี้ จากข้อที่แล้วที่เราได้เรียงลำดับหนี้สินไป คุณควรที่จะเร่งปิดหนี้หรือจ่ายมากกว่าขั้นต่ำมากๆ สำหรับหนี้สินที่ดอกเบี้ยสูง เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายโดยรวม
4. รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต ลดดอกเบี้ย
การรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต คือ หนึ่งในวิธีปลดหนี้บัตรเครดิตที่ช่วยปลดหนี้ได้จริง ลดภาระดอกเบี้ยลงได้ และช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้จัดการง่ายยิ่งขึ้น
รีไฟแนนซ์บัตรเครดิตจะเหมาะกับคนที่รู้สึกว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตในปัจจุบันสูงเกินไป อยากลดอัตราดอกเบี้ยลง หรือมีบัตรเครดิตอยู่หลายใบแล้วต้องการรวมหนี้เพื่อให้จัดการได้ง่าย เพราะให้วงเงินถึง 5 เท่าของรายได้ (แต่ไม่เกิน 1 – 2 ล้านบาท)โดยที่ไม่ต้องใช้หลักประกันใดๆ ในการขอสินเชื่อ และต้องการลดภาระผ่อนต่อเดือนลง เพราะสามารถผ่อนชำระได้ยาวนานตั้งแต่ 12 – 72 เดือน (ตามโครงการสินเชื่อและแต่ละธนาคาร)
ทั้งนี้ วิธีการนี้ก็มีเงื่อนไขที่จำกัดอยู่ ได้แก่
- มีระยะเวลาในการชำระชัดเจน เช่น 12 เดือน 24 เดือน หรือ 12 – 60 เดือน จนถึง 72 เดือน โดยอายุรวมระยะเวลาผ่อนต้องไม่เกิน 60 ปี
- อายุการทำงาน 6 เดือน ขึ้นไป
- รายได้ประจำต่อเดือน 30,000 บาท ขึ้นไป
- มีประวัติการใช้บัตรเครดิต 2 ปี ขึ้นไป
หากคุณต้องการลดดอกเบี้ยบัตรเครดิต ลดภาระผ่อนต่อเดือน ปรับโครงสร้างหนี้เพื่อปลดหนี้บัตรเครดิตให้ได้ การรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต คือ ตัวเลือกที่น่าทำมากที่สุด
5. รวมหนี้สินด้วยสินเชื่อจำนองสินทรัพย์
วิธีนี้ไม่แนะนำสำหรับคนที่มีหนี้สินเพียงบัตรเครดิตหรือยังสามารถจัดการหนี้สินได้อยู่บ้าง เพราะการรวมหนี้สินด้วยการขอสินเชื่อจำนองสินทรัพย์มาปิดหนี้หลายๆ ตัว คือ ความเสี่ยงที่จะสูญเสียสินทรัพย์ไป วิธีนี้จึงเหมาะเป็นทางเลือกท้ายๆ ในการจัดการปัญหาหนี้สิน
หากคุณมีหนี้สินหลายรายการ และหลายประเภท เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ภาระผ่อนรถยนต์ ซึ่งหนี้แต่ละก้อนคิดอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน และแน่นอนว่าสินเชื่อเหล่านี้คิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสินเชื่อแบบจำนองสินทรัพย์ เช่น รถแลกเงิน บ้านแลกเงิน ที่ดินแลกเงิน ที่อัตราดอกเบี้ยไม่ถึง 10% ต่อปี
หากคุณกู้สินเชื่อจำนองสินทรัพย์ก้อนใหญ่มาเพื่อปิดหนี้ก้อนอื่นๆ จริง วิธีนี้จะเป็นเสมือน “ยาแรง” ช่วยคุณแก้หนี้ได้ แต่หากไม่รู้วิธีใช้ นำเงินจากสินเชื่อไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ยาแรงตัวนี้ก็จะให้ผลที่เลวร้ายได้เช่นกัน
6. ขอประนอมหนี้กับสถาบันการเงิน
หากปัญหาหนี้สินของคุณมาถึงทางตัน ไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้ต่อไปได้ คุณควรที่จะยอมรับความจริงแล้วเดินหน้าขอความช่วยเหลือจากเจ้าหนี้ แจ้งปัญหาให้เขาทราบว่าสถานการณ์การเงินของคุณเป็นอย่างไร และขอประนอมหนี้กับเขา ซึ่งก็มีอยู่หลายวิธี เช่น
- ขอขยายเวลาในการชำระหนี้ เพื่อให้ยอดชำระหนี้ในแต่ละงวดของคุณลดลง (คุณอาจแบ่งเงินไปปิดหนี้ที่คิดดอกเบี้ยสูงมากกว่าได้
- ขอให้คิดอัตราดอกเบี้ยแบบปกติที่ไม่ผิดนัด ข้อนี้เป็นข้อที่ขอความช่วยจริงๆ ใช้ในกรณีที่คุณจำเป็นจริงๆ เท่านั้น และคุณต้องชำระเงินต่องวดให้ได้ตามสัญญาด้วย
- หยุดดอกเบี้ยชั่วคราว เพื่อผ่อนชำระตัดเงินต้นให้มากในช่วงหนึ่ง เร่งปิดหนี้ ลดดอกเบี้ย
- เจรจาขอลดหนี้ที่ค้างชำระบางส่วน วิธีนี้โดยมาก หากเราค้างชำระมานาน ทางสถาบันการเงินจะเป็นผู้ยืนข้อเสนอนี้มาเอง เพราะประเมินแล้วว่าอย่างไรๆ ก็ไม่มีทางชำระคืนได้
ทั้งนี้ อย่าลืมว่า วิธีนี้คือวิธีสุดท้ายที่คุณจะใช้เพื่อปลดหนี้บัตรเครดิต เพราะโอกาสในการใช้วิธีนี้ได้สำเร็จก็น้อยกว่าวิธีการอื่นๆ อีกทั้ง คุณอาจต้องเสียเงินมากขึ้นกว่าเดิม เช่น ยอดรวมดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาผ่อนชำระที่สูงขึ้น ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม ค่าทวงถาม ฯลฯ และถ้าถึงวิธีนี้แล้วจริงๆ คุณก็ต้องพยายามปลดหนี้ให้สำเร็จ มิเช่นนั้น อาจต้องขึ้นศาล ถูกฟ้องร้องถึงขั้นถูกยึดทรัพย์ได้
7. สร้างนิสัยทางการเงินที่ดี จ่ายบัตรเครดิตเต็มจำนวน
ไม่มีวิธีปลดหนี้วิธีใดจะมีประสิทธิภาพ สามารถปลดตรวนหนี้สินทั้งหลายลงได้เท่ากับการสร้างวินัยทางการเงินที่ดี เพราะวินัยจะช่วยกันปัญหาการเงินต่างๆ รวมถึงดึงเราไกลห่างจากหนี้สินทั้งหลายอีกด้วย
วินัยทางการเงินที่ดีนั้น อาจฟังดูทำได้ยาก ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร แต่หากเรามีแผนที่ชัดเจนก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป สิ่งที่จะช่วยสร้างวินัยทางการเงินได้จริง เช่น
- การติดตามรายรับ-รายจ่าย
วิธีนี้จะช่วยให้คุณรู้จักพฤติกรรมการใช้จ่ายของคุณ รู้ว่ารายได้ต่อเดือนมีเท่าไร แล้วรายจ่ายอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมหรือไม่ และยังช่วยให้คุณมองเห็น “รูรั่ว” หรือรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและมากเกินไปนั้นมีมากขนาดไหน ถึงเวลาที่ควรลดรายจ่ายบางรายการนั้นหรือยัง
- ทำงบประมาณรายจ่าย
การทำงบประมาณราย่ายส่วนบุคคลคล้ายกับการทำงบประมาณของหน่วยงาน คือ เราจะตั้งงบประมาณที่จะใช้จ่ายไปกับสิ่งต่างๆ อย่างจำกัด ซึ่งคุณจะรู้จักรายจ่ายประจำของคุณจากการทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายอยู่แล้ว เพียงแต่แปลงมาเป็นงบประมาณตั้งแต่ต้นเดือนเพื่อคุ้มการใช้จ่ายตลอดทั้งเดือนไม่ให้เกินงบ
- ฝากเงินบัญชีเงินฝากประจำ
เงินฝากประจำ คือ เครื่องมือที่ใช้สำหรับสร้างวินัยทางการเงินที่ดีที่สุด เพราะคุณจะไม่สามารถกดเงินมาใช้ได้ก่อนถึงเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ คุณอาจผูกบัญชีเงินเดือนเข้ากับบัญชีเงินฝากประจำแล้วตั้งระบบตัดเงินฝากประจำอัตโนมัติในทุกๆ เดือน เพื่อที่อย่างไรเงินออมของคุณก็จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เป็นการสร้างวินัยทางการเงินโดยอ้อมอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ การออมเงินในระบบเป็นประจำจะช่วยสร้างเครดิตที่ดีในการขอกู้สินเชื่อต่างๆ ให้ผ่านง่ายได้อีกด้วย
นอกจากนี้ เพื่อป้องกันการเกิดหนี้บัตรเครดิต คุณควรใช้บัตรเครดิตอย่างจำกัด อาจลดจำนวนบัตรลงเหลือเพียง 1 – 2 บัตรเท่านั้น และควรสร้างนิสัยในการชำระหนี้ที่ดี ป้องกันการเติบโตของดอกเบี้ย ด้วยการใช้บัตรเครดิตตามงบที่วางแผนไว้และชำระบัตรเครดิตเต็มจำนวน เช่น ตั้งงบประมาณใช้บัตรเครดิตไม่เกิน 10,000 บาท ต่อเดือ และต้องชำระเต็มจำนวน 10,000 บาท เมื่อถึงวันชำระ เพื่อไม่ให้เกิดหนี้
สรุป
ภาระหนี้สินจากบัตรเครดิต แม้โดยผิวเผินแล้ว ทุกคนอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าเป็นหนี้ก้อนใหญ่มาก อย่างไรก็สามารถจัดการได้ แต่ด้วยความชะล้าใจใช้จ่ายโดยขาดการวางแผน บัตรเครดิต “เพียงไม่กี่ใบ” ก็อาจสร้างหนี้ใหญ่ได้ และเมื่อเกิดปัญหามาแล้ว ก็ต้องหาทางปลดหนี้บัตรเครดิตให้หมดให้ได้
บทความนี้ ได้รวบรวมวิธีปลดหนี้บัตรเครดิตที่ใช้ได้ผลจริงมาทั้ง 7 ข้อนี้แล้วกระนั้นก็ตาม ต่อให้มีวิธีเป็นสิบเป็นร้อย หากแต่คุณไม่เริ่มลงมือจัดการปัญหาอย่างจริงจัง ปัญหาหนี้ก็คงไม่หมดไป
ทั้งนี้ อยากไกลหนี้ อยากสร้างความมั่นคงทางการเงิน ติดตามความรู้ด้านการเงินดีๆ จากบทความการเงินต้องรู้ ของ ธอส. ได้ เพราะเราอยากเห็นคนไทยมีชีวิตที่มั่นคง