ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกหลักเกณฑ์การปฏิบัติและการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับดอกเบี้ย ค่าบริการ และเบี้ยปรับ กับผู้ให้บริการทางการเงินภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป
หลักเกณฑ์ทั้ง 6 ข้อนี้ ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินในราคาที่เหมาะสม รวมถึงได้รับข้อมูลที่โปร่งใสในการใช้บริการ โดยมีข้อมูลดังนี้
เกณฑ์การปฏิบัติและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับดอกเบี้ย ค่าบริการ และเบี้ยปรับ
หลักเกณฑ์การปฏิบัติและการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับดอกเบี้ย ค่าบริการ และเบี้ยปรับ สำหรับผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงินที่ประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป โดยครอบคลุมสัญญาที่เกิดขึ้นก่อนแต่ยังมีผลผูกพันอยู่ และสัญญาตั้งแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้
โดยเกณฑ์การปฏิบัติและการเปิดเผยข้อมูล จะช่วยควบคุมและส่งเสริมในด้านต่างๆ คือ
- ประชาชนได้รับความเป็นธรรมจากการกำหนดค่าบริการและเบี้ยปรับ
- ประชาชนได้รับข้อมูลที่เปิดเผยอย่างโปร่งใส และเพียงพอต่อการตัดสินใจในการเลือกใช้บริการที่ง่ายยิ่งขึ้น
- ส่งเสริมให้ผู้บริการทางการเงิน แข่งขันการให้บริการภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนด
เกณฑ์การปฏิบัตินี้จะบังคับใช้กับผู้ให้บริการ ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ซึ่งได้แก่
- สถาบันการเงิน
- บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อหรือคล้ายการให้สินเชื่อ
- สถาบันการเงินเฉพาะกิจ
- ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต
- ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ
- ผู้ประกอบธุรกิจ
- สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ
- ผู้ประกอบธุรกิจระบบ หรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรม
- สินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล
- ผู้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินภายใต้การกำกับ
- บริษัทบริหารสินทรัพย์
สำหรับผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ยังต้องถือปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับฝากเงิน การเรียกเก็บค่ารักษาบัญชีเงินฝาก รวมถึงการให้สินเชื่อ หรือการให้กู้ยืมเงินเพื่อการอุปโภคบริโภค (consumer loan) และเพื่อการประกอบธุรกิจ (commercial loan) ด้วย
6 หลักเกณฑ์การปฏิบัติและเปิดเผยข้อมูลมีอะไรบ้าง?
หลักเกณฑ์การปฏิบัติและเปิดเผยข้อมูลดอกเบี้ย ค่าบริการ และค่าปรับ สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน มีการระบุหลักสำคัญ 6 ข้อจะช่วยทั้งการดูแลประชาชน รวมถึงส่งเสริมผู้ให้บริการทางเงิน นั่นคือ
1. สะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ และไม่เรียกเก็บซ้ำซ้อน
ผู้ให้บริการต้องให้ความเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบ ไม่เรียกเก็บซ้ำซ้อน โดยคำนึงถึงต้นทุนในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง และกำหนดอัตราดอกเบี้ยค่าบริการและค่าปรับอย่างเหมาะสม
ที่สำคัญต้องไม่นำเอาดอกเบี้ย เบี้ยปรับ และค่าใช้จ่ายที่ผู้ให้บริการได้สำรองจ่ายไปก่อน มารวมกับจำนวนหนี้ค้างเพื่อคิดดอกและเบี้ยปรับเพิ่มอีก
2. ใช้ฐานในการคำนวณค่าบริการและเบี้ยปรับที่เหมาะสม
โดยใช้ฐานในการคำนวณค่าบริการและเบี้ยที่สมเหตุสมผล และสอดคล้องกับปัจจัยที่ทำให้เกิดต้นทุน
เช่น ค่าประเมินราคาหลักประกัน ต้องไม่กำหนดเป็นสัดส่วนร้อยละของวงเงินสินเชื่อ เพราะปัจจัยหลักที่มีผลต่อต้นทุนจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการประเมินราคา ที่อาจต่างกันไปตามประเภท สถานที่ และขนาดของหลักประกัน
สำหรับเบี้ยปรับจากการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด ต้องคำนวณจากยอดเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่ไถ่ถอน ไม่คำนวณจากวงเงินตามสัญญา
3. คืนค่าบริการในส่วนที่ลูกค้าไม่ได้ใช้
โดยให้คืนตามสัดส่วนของระยะเวลาที่ยังไม่ได้ใช้บริการ รวมถึงแจ้งเงื่อนไขและช่องทางการคืนค่าบริการให้ลูกค้าทราบอย่างชัดเจน
4. ไม่ผลักภาระให้กับลูกค้าหรือไม่สร้างภาระจนเกินสมควร
โดยผู้ให้บริการต้องไม่ผลักภาระให้กับลูกค้าหรือไม่สร้างภาระจนเกินสมควร และคำนึงถึงความสามารถในการชำระของลูกค้า ไม่เรียกเก็บค่าบริการจากการดำเนินการตามปกติ และค่าใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มเติมให้แก่ลูกค้า
เช่น ไม่เรียกเก็บค่าประเมินราคาหลักประกัน ในกรณีทบทวนราคาหลักประกัน เพื่อการจัดชั้นสินทรัพย์ การกันเงินสำรอง และ/หรือการบริหารความเสี่ยงของผู้ให้บริการเอง
5. เปิดเผยข้อมูลดอกเบี้ย ค่าบริการ และเบี้ยปรับ
ผู้ให้บริการต้องเปิดเผยข้อมูลดอกเบี้ย ค่าบริการ และเบี้ยปรับ อย่างชัดเจนโปร่งใส และเป็นปัจจุบัน เพื่อให้ลูกค้าใช้ประกอบการตัดสินใจการเลือกใช้บริการได้อย่างถูกต้อง
6. ควบคุมดูแลและสื่อสารกับพันธมิตรทางธุรกิจที่ดำเนินการแทน ให้ทราบถึงเจตนารมณ์ ของกรอบหลักการข้างต้น
โดยผู้ให้บริการภายนอก (outsourcer) หรือตัวแทนทางการเงิน (agent) ต้องกำหนด อัตราค่าบริการที่จะเรียกเก็บกับลูกค้าอย่างเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบ ไม่ทำให้คุณภาพการให้บริการที่ลูกค้าได้รับด้อยลง หรือผลักภาระไปให้ลูกค้า รวมถึงดูแลให้เปิดเผยข้อมูลค่าบริการต่างๆ ให้ลูกค้าทราบอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และชัดเจน
หากท่านได้รับบริการที่ไม่เป็นธรรม สามารถแจ้งมาที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินของ ธปท. โทร.1213 ได้ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. หรือส่งเรื่องร้องเรียนมาที่ www.1213.or.th ตลอด 24 ชั่วโมง
สอบถามข้อมูลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยกับ ธอส.
สำหรับลูกค้าท่านใดที่กำลังมองหาโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งมือหนึ่งและมือสอง ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว บ้านแฝด คอนโด ทาวน์เฮ้าส์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์มีรายละเอียดข้อเสนอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ที่ตอบทุกโจทย์ของคนอยากมีบ้านมาแนะนำ
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และปานกลาง หรือกลุ่มผู้มีรายได้สูง ก็มีผลิตภัณฑ์พร้อมโปรโมชันหลากหลาย ที่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสม
หากสนใจขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจาก ธอส. สามารถทำการกรอกข้อมูล เพื่อขอคำแนะนำด้านสินเชื่อ และให้เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับ >>> ได้ที่นี่
เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ที่คอยให้คำแนะนำ พร้อมเปรียบเทียบและหยิบยื่นข้อเสนอด้านสินเชื่อที่ดีที่สุดให้กับคุณ ติดต่อเราได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาใกล้บ้านคุณ
G H BANK Call Center: 0-2645-9000