“การเงินเป็นเรื่องของทุกคน” ไม่ใช่แค่เพราะในทุกๆ วันเราต้องใช้เงินในการแลกเปลี่ยนปัจจัยในการดำรงชีวิตและเติมเต็มความสุขให้ตนเองเท่านั้น แต่เงินยังช่วยเราสร้างความมั่นคง สร้างอนาคต หรือความฝันให้เป็นจริงได้ ทั้งนี้ แม้ทุกคนจะตระหนักถึงความสำคัญของเงินมากเพียงใด ก็ยังอาจหลงลืมเรื่องสำคัญที่สุดไปได้ นั่นคือ “การบริหารการเงิน”
การบริหารการเงินไม่ได้หมายความถึงการหารายได้มาและใช้จ่ายออกไป หรือการหารายได้ให้ได้มากๆ และใช้จ่ายอย่างประหยัด หากแต่หมายถึงการบริหารพฤติกรรมการใช้จ่าย การจัดการและดูแล “ทรัพย์สิน” และ “หนี้สิน” ที่มีอยู่ให้คุ้มค่า งอกเงย สร้างความมั่นคง หรือแม้กระทั่งความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน (Wealth)
บทความชิ้นนี้ ได้รวบรวมเคล็ดลับวิธีการบริหารเงินที่ทุกคนควรรู้ ทั้งสิ้น 5 เคล็ดลับ ที่จะช่วยให้คุณบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
1. บริหารรายจ่าย
การบริหารรายจ่ายเป็นเคล็ดลับแรกในการบริหารเงินอย่างชาญฉลาด อีกทั้ง ยังเป็นเคล็ดลับที่ถือว่าสำคัญที่สุด เพราะในทุกๆ วันที่เราใช้ชีวิต มีรายจ่ายเกิดขึ้นหลายทาง ทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น
การจดบันชีรายรับรายจ่าย น่าจะเป็นวิธีจัดการกับรายจ่ายในเบื้องต้นที่ทุกคนทราบ กระนั้นก็มีเพียงน้อยคนที่จะแน่วแน่ในการบันทึกรายรับและค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน อาจเป็นเพราะรู้สึกว่ายุ่งยากเกินไป หรือเมื่อลงมือทำแล้วแต่ก็รู้สึกว่า วิธีการนี้ไม่ได้ช่วยให้สภาพการเงินของตนเองคล่องตัวหรือมั่นคงมากขึ้นเลย ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่วิธีการ แต่อยู่ที่ “การจัดการกับข้อมูล”
เมื่อคุณทราบแล้วว่าคุณมีรายจ่ายอะไร ให้คุณแบ่งรายจ่ายออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
- รายจ่ายจำเป็น (ประจำ) ได้แก่ ค่าอาหาร ค่าผ่อน ค่าเดินทาง ค่าของใช้อุปโภค ค่าเครื่องนุ่งห่มที่จำเป็น เป็นต้น เมื่อทราบรายจ่ายต่อเดือนในส่วนนี้แล้ว คุณก็สามารถวางแผนต่อได้ว่า ในแต่ละเดือนมีรายจ่ายจำเป็นจริงๆ เท่าไร และควบคุมปริมาณการใช้จ่ายให้อยู่ในจำนวนที่จำกัดไว้
- รายจ่ายไม่จำเป็น (แปรผัน) ได้แก่ ค่าดูหนัง ท่องเที่ยว หรือค่าใช้จ่ายทุกอย่างเพื่อความบันเทิง โดยรายจ่ายส่วนนี้ให้พิจารณาจัดสรรหลังจากที่หักรายจ่ายส่วนที่จำเป็นออกแล้ว เช่น คุณมีรายได้ต่อเดือน 25,000 บาท มีค่าใช้จ่ายจำเป็น 15,000 บาท เหลือเงิน 10,000 บาท อาจแบ่งไปลุงทุนและเก็บออมฉุกเฉินและระยะยาว 5,000 บาท คุณก็จะเหลือเงินใช้เพื่อความบันเทิงโดยเฉพาะ 5,000 บาท ทั้งนี้ การบันทึกรายจ่ายจะช่วยให้คุณเห็นว่ารายจ่ายไม่จำเป็นส่วนใดสามารถลดลง/ตัดออกได้
เคล็ดลับนี้ มีหัวใจอยู่ที่การวางแผนว่าในแต่ละเดือนคุณจะใช้จ่ายเท่าไร เมื่อจะกดเงินก็ควรกดเงินตามที่ประมาณการไว้ และใช้จ่ายไม่เกินจำนวนที่วางแผนไว้ เช่น รายจ่ายจำเป็น 15,000 บาท รายจ่ายเพื่อความบันเทิง 5,000 บาท คุณก็ไม่ควรใช้เงินเกินจำนวนนี้ และถ้าหากมีส่วนที่ใช้ไม่หมดก็สามารถนำไปออมหรือลงทุนเพิ่มได้
2. บริหารภาษี
ภาษีเป็นเรื่องที่หลายคนไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ของเราเองด้วย ดังนั้น จึงไม่ควรละเลยที่จะหาความรู้เรื่องภาษี เช่น การยื่นภาษี การลดหย่อนภาษี ภาษีประเภทต่างๆ ที่ไม่ใช่ภาษีเงินได้ ฯลฯ หากขาดความเข้าใจและการวางแผนเรื่องภาษี อาจทำให้ประสบปัญหาทางการเงินได้ แต่หากคุณมีวิธีจัดการกับภาษีให้ดี คุณก็สามารถลดรายจ่ายส่วนนี้ลงได้
เคล็ดลับในการบริหารภาษีก็คล้ายๆ กับการบริหารรายจ่าย นั่นคือ คุณต้องรู้ก่อนว่าคุณต้องจ่ายภาษีเท่าไร จากนั้นจึงมาดูว่าคุณมีสิทธิลดหย่อนภาษีจากอะไรได้บ้าง
ยกตัวอย่างสิทธิลดหย่อนภาษี เช่น สิทธิลดหย่อนภาษีเลี้ยงดูบุตร สิทธิลดหย่อนภาษีเลี้ยงดูบุพพการี สิทธิลดหย่อนจากดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สิทธิลดหย่อนภาษีจากประกันสังคม ฯลฯ
นอกจากนี้ คุณยังสามารถนำเงินไปลงทุนกับผลิตภัณฑ์การเงินบางประเภทที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษีกับคุณได้ เช่น ประกันชีวิตแบบต่างๆ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ทั้งนี้ การลงทุนประเภทต่างๆ ไม่ได้มีจุดประสงค์หลักเพื่อนำมาลดหย่อนภาษี เพียงแต่ความรู้ตรงนี้ จะช่วยให้คุณวางแผนการลงทุนและบริหารภาษีให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้
3. บริหารสินทรัพย์
สินทรัพย์ (Asset) คือ ทรัพยากรที่มีมูลค่าสามารถตีราคาเป็นเงินได้ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีตัวตนหรือจับต้องได้หรือไม่ก็ได้ เช่น เงินสด เงินฝาก บ้าน รถยนต์ หุ้น กองทุน เป็นต้น ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้คาดการณ์ได้ว่าสามารถก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้
การบริหารสินทรัพย์ คือ การจัดการสินทรัพย์ให้เติบโตหรืองอกเงยขึ้นจากเดิม หากมีสินทรัพย์แต่ไม่รู้จักบริหาร มูลค่าของสินทรัพย์ที่มีก็อาจลดลง ทั้งที่แท้จริงแล้ว คุณสามารถหาประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ได้
เคล็บลับในการบริหารสินทรัพย์ให้เกิดมูลค่าเริ่มต้นจากการ “รู้จัก” สินทรัพย์ของตนเอง โดยคุณสามารถแบ่งประเภทสินทรัพย์ออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
- สินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น เงินสด บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ใบรับเงินฝากประจำ (FDR) เป็นต้น สินทรัพย์ประเภทนี้คือสินทรัพย์ที่คุณควรมีไว้ให้พอสำหรับการใช้จ่ายในทุกๆ วัน และออมไว้เผื่อเหตุฉุกเฉิน เพราะสามารถนำออกมาใช้ได้สะดวกที่สุด
- สินทรัพย์เพื่อการลงทุน เช่น บัญชีเงินฝากประจำ บ้านมือสองของธนาคาร สลากออมทรัพย์ ธอส. คอนโดมิเนียมที่ปล่อยเช่า กองทุนรวม หุ้น เป็นต้น สินทรัพย์ประเภทนี้สามารถช่วยให้คุณเพิ่มรายได้ขึ้นมาได้ คุณควรแบ่งเงินจากรายได้ในแต่ละเดือนนำมาลงทุนกับสินทรัพย์กลุ่มนี้อย่างสม่ำเสมอและเหมาะสม เพื่อสร้างความมั่นคงในระยะยาว เป็นอีกหนึ่งช่องทางให้มีรายได้เข้ามา
การสำรวจสินทรัพย์ ให้คุณสำรวจสินทรัพย์ทั้งหมดและประเมินมูลค่าของสินทรัพย์แต่ละชิ้นออกมาเป็นมูลค่าราคาจริงในปัจจุบัน เพื่อดูว่าตอนนี้คุณมีสินทรัพย์ทั้งสิ้นเท่าไร มีสัดส่วนที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตและเป้าหมายของคุณหรือไม่ รวมทั้ง เพื่อจะได้ทราบว่ามีสินทรัพย์ชิ้นได้ที่สามารถสร้างรายได้ให้คุณได้อีกต่อ
4. บริหารหนี้สิน
หนี้สินเป็นสิ่งที่คล้ายๆ จะตรงกันข้ามกัยสินทรัพย์ เพราะหนี้สินคือรายจ่ายที่คุณต้องรับผิดชอบ และก็เช่นเดียวกับรายจ่ายหากคุณมีวิธีการจัดการที่ดี คุณก็สามารถชำระหนี้ได้โดยไม่ลำบากและหากบริหารอย่างดีก็จะช่วยคุณประหยัดดอกเบี้ยชำระลงได้
ขั้นตอนแรกในการบริหารหนี้สินก็คือการสำรวจว่าคุณมีหนี้สินอยู่กี่กองที่ต้องรับผิดชอบ และหนี้สินแต่ละกองมีกำหนดผ่อนชำระตอนไหน และ/หรือมีระยะเวลาให้ผ่อนชำระนานเท่าไร โดยควรแยกหนี้ออกเป็น 2 ประเภท เพื่อให้ง่ายต่อการบริหาร ได้แก่
- หนี้สินระยะสั้น หมายถึง การผ่อนสินค้าอุปโภคบริโภค สินเชื่อส่วนบุคคล หรือเงินค้างชำระบัตรเครดิต ที่มีกำหนดชำระเงินทั้งหมดไม่เกิน 1 ปี คุณควรวางแผนจัดสรรเงินมาชำระก่อนเพราะเป็นหนี้สินที่อัตราดอกเบี้ยสูง
- หนี้สินระยะยาว หมายถึง หนี้สินที่ต้องใช้ระยะเวลาชำระนานกว่า 1 ปี เช่น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ หรือสินเชื่อที่มีระยะเวลายาวในการผ่อน ฯลฯ หนี้สินประเภทนี้คุณสามารถบริหารเพื่อให้ประหยัดอกเบี้ยและร่นระยะเวลาในการผ่อนชำระลงได้ด้วยการเปรียบเทียบว่าหนี้สินส่วนใดควรปิดให้ได้ก่อน หรือพิจารณาอัตราส่วนชำระต่องวดของหนี้สินแต่ละกอง
ยกตัวอย่างเช่น
นาย ก มีหนี้บุคคลอยู่ 2 กอง ที่ต้องชำระทุกเดือน เมื่อได้รับโบนัสปลายปีจากบริษัทก็มาพิจารณาดูว่าจะนำเงินส่วนนี้ไป “โปะ” หรือตัดเงินต้นของหนี้สินกองใด โดยพิจารณาดูแนวโน้มดอกเบี้ยที่จะปรับอัตราขึ้นหรือลง หรือถ้าหากต้องชำระหนี้บ้านซึ่งจ่ายด้วยวิธีแบบลดต้นลดดอกแล้ว ก็อาจนำมาพิจารณาว่า เงินก้อนนี้เมื่อไปตัดยอดเงินต้นของหนี้สินกองได้จะช่วยลดดอกเบี้ยในอนาคตลงได้คุ้มค่าที่สุด
5. บริหารเงินเพื่อความมั่งคั่ง
สำหรับเคล็ดลับการบริหารเงินข้อสุดท้าย ถือเป็นเคล็ดลับในระดับรากฐานที่ไม่ใช่แค่จะช่วยให้คุณมีความมั่นคงทางการเงินและใช้จ่ายเงินได้อย่างชาญฉลาดแล้ว เคล็ดลับนี้ยังถือเป็นแนวทางสร้างนิสัยไปสู่ความมั่งคั่ง (Wealth) ที่แท้จริงได้
เคล็ดลับนี้เรียกว่า “6 Jars system” จากหนังสือการเงินชื่อดัง “Secrets of the Millionaire Mind” ของ T. Harv Eker ที่ไม่ว่าใครก็สามารถทำตามได้ ไม่จำเป็นต้องมีเงินมากมาย เพราะจุดสำคัญคือการสร้างนิสัยไปสู้ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน สิ่งที่คุณต้องทำก็คือการแบ่งเงินออกเป็น 6 กอง (โหล) ในสัดส่วนต่างๆ
- โหลที่ 1: เงินใช้จ่ายจำเป็น 55% (NEC – Necessaries)
เงินกองแรกที่คุณควรจัดสรรไว้ก็คือเงินส่วนที่จำเป็นต้องใช้มากที่สุด พยายามคุมรายจ่ายส่วนนี้ไว้ให้ไม่เกิน 55% ของรายได้ ทั้งนี้ คุณอาจนำเคล็บลับแรกหรือการจัดการรายจ่ายเข้ามาปรับใช้ด้วยกันเพื่อควบคุมพฤติกรรมหรือสร้างนิสัยที่ดีในการใช้จ่ายได้ ถ้าคุณทำได้ตามนี้ คุณจะมีเงินเหลืออีก 45% สำหรับโหลใบต่อๆ ไป
- โหลที่ 2: เงินเก็บออมระยะยาว 10% (LTSS – Long-Term Savings for Spending)
สำหรับโหลใบที่ 2 เป็นเรื่องของการเก็บออมไว้เผื่อรายจ่ายในระยะยาว เช่น แต่งงาน ซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ มีลูก ฯลฯ รายจ่ายส่วนนี้เป็นส่วนที่ควรเตรียมตัวไว้ เพราะหากไม่เตรียมตัวแต่มีความจำเป็นต้องมีก็อาจก่อหนี้ก้อนใหญ่ขึ้นได้ อีกทั้ง ยังถือเป็นเงินเก็บฉุกเฉินเผื่อสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคตด้วย
- โหลที่ 3: เงินสำหรับความบันเทิง 10% (Play)
โหลนี้เป็นโหลที่มีควาามสำคัญไม่ต่างจากโหลใบอื่นๆ คุณควรจัดสรรเงินสำหรับใช้จ่ายเพื่อความสุขและความสนุกของคุณ เพราะหากมุ่งหวังแต่เพียงความร่ำรวยและจดจ่อแต่เพียงตัวเลขในบัญชีที่เพิ่มขึ้น ชีวิตก็คงขาดสีสัน อีกทั้ง ยังอาจเกิดอาการเก็บกดจนอาจใช้จ่ายเงินอย่างวู่วาม ดังนั้น เงินกองนี้จึงสำคัญต่อการเลี้ยงดูจิตใจและความสุขของคุณ
- โหลที่ 4: เงินเก็บเพื่อการศึกษา 10% (Edu – Education)
เงินส่วนที่คุณควรแบ่งไว้อีกส่วนก็คือ เงินเพื่อการศึกษาหรือพัฒนาตนเอง เพราะการศึกษาหรือพัฒนาตัวเองช่วยเพิ่มมูลค่าในตัวเอง ซึ่งอาจก่อให้เกิดรายได้ได้อีกทาง เช่น เรียนภาษาเพิ่มเติมและได้รับการปรับเงินเดือน ลงเรียนเรื่องการเงินก็อาจช่วยให้คุณรู้แนวทางบริหารหรือเพิ่มพูนเงินได้ เป็นต้น
- โหลที่ 5: เงินเพื่อสร้างความมั่นคง 10% (FFA – Financial Freedom Account)
เงินในโหลที่ 5 คือเงินที่จะสร้างความมั่งคั่งให้คุณ เป็นอีกหนึ่งช่องทางรายได้ที่คุณต้องใช้ “งานแลกเงิน” แต่เป็น “เงินต่อเงิน” เพราะเงินในส่วนนี้แนะนำให้จัดสรรไว้เพื่อลงทุน ไม่ว่าจะเป็นลงทุนในหุ้น กองทุนรวม พันธบัตร ทองคำ หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ก็ถือเป็นการเปิดก๊อกรายได้รองไว้โดยที่คุณไม่ต้องไปทำอะไรมมากนัก ทั้งนี้ คุณอาจประยุกต์ใช้กับเคล็บลับการบริหารสินทรัพย์เพื่อจะได้สำรวจว่าคุณมีอะไรที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้บ้าง
- โหลที่ 6: เงินเพื่อการให้ 5% (Give)
ส่วนหนึ่งของเงินที่ผู้เขียนหนังสือแนะนำให้ทุกคนต้องแบ่งไว้ คือ เงินเพื่อบริจาคหรือช่วยเหลือผู้อื่น จำนวน 5% เงินส่วนนี้จะช่วยเพิ่มคุณค่าทางจิตใจของคุณว่าคุณเองก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้เช่นกัน และสำหรับคนที่ชอบบริจาคอยู่แล้ว ก็อาจใช้ตัวเลข 5% ควบคุมการบริจาคของตัวเองไม่ให้มากเกินไปได้
สรุป
การบริหารเงินเป็นเรื่องที่ทุกๆ คนควรรู้ ไม่ใช่แค่เพื่อความร่ำรวย แต่ยังเพื่อความมั่นคงมั่งคั่งในชีวิต เคล็ดลับการบริหารเงินทั้ง 5 วิธี จะช่วยให้คุณสามารถจัดการกับรายจ่าย ภาษี สินทรัพย์ และหนี้สินได้อย่างชาญฉลาด ตลอดจนสร้างนิสัยทางการเงินที่ดี ซึ่งเป็นการแผ้วถางทางไปสู่ความมั่งคั่งที่แท้จริง