เริ่มต้นรีไฟแนนซ์บ้านง่ายๆ ใน 5 ขั้นตอน

/
/
เริ่มต้นรีไฟแนนซ์บ้านง่ายๆ ใน 5 ขั้นตอน

สำหรับคนที่กำลังผ่อนชำระบ้านอยู่ อาจรู้สึกว่าภาระผ่อนต่องวดอาจจะหนักเกินไป ดอกเบี้ยชำระต่อเดือนหรือตลอดระยะเวลาผ่อนชำระสูง และอยากลดภาระเหล่านี้ลง “รีไฟแนนซ์บ้าน” เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยผ่อนปรนปัญหาดังกล่าว

หลักการทำงานของการรีไฟแนนซ์ คือ การกู้ยืมสินเชื่อบ้านจากสถาบันการเงินแห่งใหม่มาปิดสัญญากู้สินเชื่อเดิมแล้วมาเริ่มผ่อนชำระสินเชื่อที่ใหม่แทน โดยสาเหตุที่วิธีการนี้ช่วยลดดอกเบี้ยได้นั้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารในช่วงปีแรกๆ หรือ 3 ปีแรก มักจะต่ำ แต่หลังจากนั้นจะปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเปลี่ยนผู้ให้กู้ใหม่ ผู้กู้ก็จะได้สิทธิประโยชน์ตรงนี้

อย่างไรก็ตาม แม้การรีไฟแนนซ์จะช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยได้ แต่หลายคนก็อาจรู้สึกว่ามีขั้นตอนที่ซับซ้อนยุ่งยากเกินไป หรือกลัวว่าค่าธรรมเนียมในการยื่นเรื่องเมื่อนำมาคิดรวมกันแล้วก็อาจจะไม่คุ้ม บทความชิ้นนี้ได้แจกแจงขั้นตอนรีไฟแนนซ์บ้านออกเป็น 5 ขั้นตอน ไม่ซับซ้อน ที่คุณก็สามารถทำตามได้

1. ตรวจสอบสัญญากู้เดิม

ขั้นตอนแรกในการรีไฟแนนซ์บ้านก็คือ การตรวจสอบสินเชื่อเดิมก่อนว่า สินเชื่อเดิมถึงกำหนดเวลาที่สามารถยื่นรีไฟแนนซ์บ้านหรือยัง ซึ่งโดยทั่วไปธนาคารจะอนุญาตให้รีไฟแนนซ์หรือไถ่ถอนสินเชื่อเดิมได้เมื่อผ่อนชำระครบ 3 ปี แต่ทั้งนี้ คุณสามารถเตรียมตัว หาสถาบันการเงินอื่นๆ และยื่นเรื่องรีไฟแนนซ์ได้ก่อน เพราะกระบวนการรีไฟแนนซ์อาจใช้เวลา 1 – 2 เดือนได้

ทั้งนี้ นอกจากการตรวจสอบสัญญากู้เดิมแล้ว คุณควรสอบถามสถาบันที่คุณทำสินเชื่ออยู่แล้วว่าสามารถปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่ (Retention) ได้หรือไม่ และถ้าได้ สามารถปรับลดลงได้เท่าไร เพื่อที่คุณจะได้นำมาพิจารณาตัดสินใจร่วมกับการหาธนาคารแห่งใหม่รีไฟแนนซ์เพื่อความคุ้มค่าของคุณเอง

2. เลือกธนาคารที่จะรีไฟแนนซ์บ้าน

หลักการการเลือกธนาคารแห่งใหม่เพื่อรีไฟแนนซ์ก็เช่นเดียวกับการเลือกธนาคารทำสินเชื่อ นั่นคือ เลือกที่ที่จะให้ผลที่คุ้มค่าที่สุด และแน่นอนว่าเมื่อจะย้ายแหล่งกู้ใหม่ก็ต้องเลือกที่ที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าแห่งเดิม ซึ่งสิ่งที่ควรต้องดู มีตั้งแต่อัตราดอกเบี้ยตามโปรโมชั่นของแต่ละธนาคาร หรือตามอัตราดอกเบี้ยโปรโมชั่นของโครงการสินเชื่อบ้าน

3. เตรียมค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์บ้าน

แม้ว่าการรีไฟแนนซ์บ้านจะสามารถช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยสินเชื่อลงมาได้ แต่ต้องอย่าลืมว่า การรีไฟแนนซ์ยังมีค่าใช้จ่ายในการยื่นเรื่องอยู่ ไม่แตกต่างจากการที่เราขอกู้สินเชื่อใหม่ ซึ่งค่าใช้จ่ายโดยทั่วไปนั้น ได้แก่

  • ค่าประเมินราคาหลักประกัน ตามแต่ละธนาคารกำหนด ทั้งนี้ ถ้าหากขอปรับอัตราดอกเบี้ยหรือรีไฟแนนซ์กับธนาคารเดิมก็อาจไม่ต้องเสียเงินในส่วนนี้
  • ค่าธรรมเนียมในการปล่อยกู้ใหม่ แต่ถ้าหากทำเรื่องกับธนาคารเดิมอาจไม่ต้องเสีย
  • ค่าอากรณ์แสตมป์
  • ค่าจดจำนองที่ดิน ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะจ่ายให้กับกรมที่ดินไม่ว่าจะยื่นเรื่องกับธนาคารใดก็ตาม แต่หากทำเรื่องกับธนาคารเดิมก็ไม่จำเป็นต้องจดจำนองใหม่ จึงไม่มีค่าใช้จ่าย
  • ค่าใช้จ่ายอื่นๆ แต่ละธนาคารอาจมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามาเป็นค่าใช้จ่ายได้ เช่น ค่าไถ่ถอนจำนอง ค่าทำประกันอัคคีภัย ค่าปรับกรณีรีไฟแนนซ์ก่อนกำหนด เป็นต้น

จากค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมข้างต้น เมื่อนำมาคิดรวมกันแล้ว คุณควรจะเตรียมเงินสำหรับรีไฟแนนซ์สักก้อนไว้ก่อนบ้าง หากเลือกธนาคารที่มีโปรโมชั่นรีไฟแนนซ์อินก็อาจจะได้รับสิทธิประโยชน์งดเว้นค่าใช้จ่ายบางรายการซึ่งคุณสามารถศึกษาและสอบถามจากธนาคารก่อนได้

4. เตรียมเอกสาร

ขั้นตอนต่อมา คือ การเตรียมเอกสารสำหรับการยื่นเรื่องรีไฟแนนซ์ ซึ่งเอกสารต่างๆ ก็ไม่แตกต่างจากการยื่นขอสินเชื่อบ้านทั่วไป ได้แก่ เอกสารส่วนบุคคล เอกสารทางการเงิน และเอกสารหลักประกันซึ่งก็คือตัวบ้านที่คุณผ่อนอยู่ แต่นำมาใช้ค้ำประกัน

เอกสารส่วนบุคคล

  • บัตรประจำตัวประชาชน / บัตรข้าราชการ / บัตรรัฐวิสาหกิจ
  • สำเนาทะเบียนสมรส / ใบหย่า / ใบมรณะบัตร (ถ้ามี)
  • สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ – สกุล (ถ้ามี)
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนคู่สมรส (ถ้ามี)

เอกสารทางการเงิน

  • ใบรับรองเงินเดือน
  • สลิปเงินเดือนหรือหลักฐานการรับเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน
  • สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน (หรือ 12 เดือน สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ)
  • หลักฐานการเสียภาษีเงินได้

*สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระอาจต้องยื่นสำเนาใบประกอบวิชาชีพ หรือสำหรับเจ้าของกิจการต้องแสดงหลักฐานกิจการ เช่น รูปภาพกิจการ เป็นต้น

เอกสารหลักประกัน

  • หลักฐานการเป็นเจ้าของอาคาร
  • สำเนาโฉนดที่ดิน / นส.3ก / หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด / อช.2 ทุกหน้า
  • ภาพถ่ายเพื่อแสดงสิทธิหลักประกัน
  • สัญญากู้เงิน / สัญญาจำนอง / ใบเสร็จ / Statement ย้อนหลัง 12 เดือนกับสถาบันการเงินเดิม
  • สัญญาซื้อขายฉบับกรมที่ดิน ทด.13

*หากมีผู้กู้ร่วม ผู้กู้ร่วมต้องเตรียมเอกสารข้างต้นเช่นเดียวกัน

รูปภายในบทความ รีไฟแนนซ์บ้าน

5. ยื่นขออนุมัติรีไฟแนนซ์กับธนาคารแห่งใหม่

เมื่อเตรียมค่าใช้จ่ายและเตรียมเอกสารต่างๆ ในเบื้องต้นสำหรับยื่นรีไฟแนนซ์กับธนาคารแห่งใหม่เรียบร้อยแล้ว คุณก็พร้อมที่จะยื่นเรื่องทำสัญญาสินเชื่อกับธนาคารแห่งใหม่ ซึ่งขั้นตอนในการยื่นเรื่องรีไฟแนนซ์นั้น แม้จะต้องเทียวติดต่อกับทั้งธนาคารเดิมและธนาคารแห่งใหม่ แต่ก็ไม่ได้ซับซ้อนจนดำเนินการลำบาก

ขั้นตอนในการยื่นรีไฟแนนซ์ มีดังนี้

  • ทราบผลการอนุมัติรีไฟแนนซ์จากธนาคารแห่งใหม่
  • ติดต่อธนาคารเดิมเพื่อขอไถ่ถอนที่ดินและปิดบัญชีสินเชื่อเดิม
  • นัดธนาคารเดิมและธนาคารแห่งใหม่มาทำนิติกรรม
  • จดจำนองสินทรัพย์

แม้จะยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ให้สบายใจได้ เพราะธนาคารแห่งใหม่ที่คุณขอรีไฟแนนซ์อินจะช่วยอำนวยความสะดวกและบอกขั้นตอนต่างๆ ให้คุณเอง

สรุป

การรีไฟแนนซ์คือช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้คุณสามารถลดภาระการชำระหนี้บ้านได้ ทั้งประหยัดดอกเบี้ยได้มากขึ้น มีภาระชำระต่องวดน้อยลง ซึ่งนอกจากจะช่วยคุณประหยัดในระยะยาว คุณจะยังมีสภาพการเงินที่คล่องตัวมากยิ่งขึ้น และถ้าหากคุณต้องการยื่นรีไฟแนนซ์ คุณก็สามารถเตรียมตัวและทำตามขั้นตอนที่แจกแจงเป็น 5 ขั้นตอนในบทความนี้ได้ เพื่อให้คุณผ่อนสินเชื่อได้สบายและคุ้มค่า

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
-

บริการของเรา

สนใจผลิตภัณฑ์ธนาคาร

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณ
อาจสนใจ

มาดูกันว่า 3 สินเชื่อบ้าน ธอส. อัตราดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนชำระล้านละ 3,300 บาท/เดือน มีอะไรบ้าง และแต่ละโครงการสินเชื่อเหมาะกับใคร
ในบทความนี้เราได้รวบรวม 10 จุดตรวจสอบบ้านมือสอง ที่ควรรู้ก่อนซื้อบ้านมือสอง การตรวจรับบ้าน เป็นขั้นตอนสำคัญที่คนที่จะซื้อบ้านทุกคนควรรู้
ในบทความนี้ ธอส. ได้รวบรวม 10 ต้นไม้ปลูกหน้าบ้าน ที่ไม่ต้องรดน้ำต้นไม้บ่อย ให้ได้นำมาปลูกกัน ช่วยเพิ่มความร่มรื่น และช่วยเพิ่มความสิริมงคล

ติดตามข่าวสารจาก GH BANK

อัปเดตทุก
เรื่องบ้าน

อัพเดตเรื่องบ้านก่อนใคร รู้ก่อนได้เปรียบ

ติดตามข่าวสารจาก GH BANK

อัปเดตทุก
เรื่องบ้าน

อัพเดตเรื่องบ้านก่อนใคร รู้ก่อนได้เปรียบ

ติดตามข่าวสารจาก GH BANK

อัปเดตทุก เรื่องบ้าน

อัพเดตเรื่องบ้านก่อนใคร รู้ก่อนได้เปรียบ

ค้นหาตาม Keyword เช่น การเงิน, การลงทุน, สินเชื่อ, บ้าน