การได้มีบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพื่อให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ถือว่าเป็นความฝันของหลายคน ซึ่งในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพไหน จะเป็นพนักงานประจำ หรืออาชีพอิสระก็สามารถมีบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ เพียงมีการเตรียมตัวที่ดี
ใบบทความนี้มาดูกันว่า จะต้องเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมในด้านใดบ้าง เพื่อให้สามารถพิชิตบ้านในฝันได้ตามความต้องการ และอยู่ในความสามารถทางการเงินที่เหมาะสมกับรายได้และค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของคุณ
รู้จักกับสินเชื่อบ้าน ทางเลือกสำหรับคนอยากมีบ้าน
หนึ่งในความกังวลของหลายคนที่อยากมีบ้าน นั่นคือ เรื่องเงิน เนื่องจากบ้านหรือที่อยู่อาศัยต่างๆ เป็นสิ่งที่มีราคาสูง ซึ่งถ้าอยากจะเป็นเจ้าของ ก็ต้องหาเงินจำนวนมากมาจ่ายเพื่อซื้อบ้านที่ต้องการ
แต่จริงๆ แล้ว คุณสามารถซื้อบ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่จ่ายในครั้งเดียวด้วย “การขอสินเชื่อบ้านกับธนาคาร” ที่เป็นการทำสัญญากับธนาคารเพื่อขอกู้เงินซื้อบ้าน โดยธนาคารจะเป็นผู้จ่ายเงินซื้อบ้านให้กับคุณก่อน แล้วคุณก็ทำการผ่อนชำระกับธนาคารเป็นรายเดือนจนกว่าจะครบสัญญา
สิ่งที่ควรรู้ในการขอสินเชื่อบ้าน
- การขอสินเชื่อบ้านมีการกำหนดวงเงิน โดยธนาคารที่เป็นผู้ให้สินเชื่อจะกำหนดวงเงินเอาไว้ ซึ่งอาจจะได้มากกว่าราคาบ้าน หรือน้อยกว่าราคาบ้าน จะขึ้นอยู่กับราคาประเมินบ้านที่ธนาคารกำหนด รวมถึงการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของคุณด้วย
- การขอสินเชื่อบ้านมีอัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระ โดยเมื่อมีการขอสินเชื่อแล้ว ผู้กู้จะต้องชำระคืนให้กับธนาคารเป็นงวดตลอดระยะเวลากู้ ซึ่งจะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยเข้าไปกับยอดสินเชื่อคงเหลือในแต่ละเดือน
- การขอสินเชื่อบ้านมีระยะเวลากู้ โดยธนาคารจะมีการกำหนดระยะเวลาในการขอสินเชื่อ ได้ยาวนานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และสูงสุดไม่เกิน 40 ปี เพื่อให้ผู้กู้สามารถเลือกผ่อนชำระในระยะยาวได้ตามต้องการ
- ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ขอสินเชื่อได้ สำหรับผู้ที่มีรายได้ในทุกสายอาชีพ สามารถขอสินเชื่อกับธนาคารได้ โดยที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีโครงการสินเชื่อที่ออกแบบมาอย่างเปิดกว้างให้กับคนไทยหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นพนักงานที่มีรายได้ประจำ บุคลากรภาครัฐ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ก็สามารถมีบ้านในฝันเป็นของตนเองได้
เช็กลิสต์ 5 ข้อ เตรียมตัวก่อนมีบ้านเป็นของตนเอง
เมื่อได้รู้จักกับสินเชื่อบ้านไปแล้ว ต่อไปมาดูเช็กลิสต์ในการเตรียมตัวขอสินเชื่อบ้าน เพื่อช่วยให้คุณสามารถขอสินเชื่อบ้านผ่านได้ง่ายและรวดเร็ว ให้คุณได้พิชิตบ้านในฝันได้ดั่งใจต้องการ
1. เลือกซื้อบ้านที่ราคาเหมาะสมกับรายได้ของคุณ
ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนการขอสินเชื่อ สิ่งแรกที่คุณต้องทำก่อน นั่นคือ การเลือกบ้านในราคาที่เหมาะสม สอดคล้องต่อรายได้ในแต่ละเดือน และไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือนมากจนเกินไป โดยค่าผ่อนบ้านต่อเดือนที่เหมาะสม ไม่ควรเกิน 30-40% ของรายได้ต่อเดือน
เช่น คุณมีรายได้ต่อเดือน 40,000 บาท ภาระค่าผ่อนบ้านไม่เกิน 40% ของรายได้จะอยู่ที่ประมาณ 16,000 บาท ก็ต้องมองหาตัวเลือกบ้านหรือที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เพื่อให้สามารถผ่อนจ่ายค่าบ้านได้แบบสบายๆ และยังมีเงินส่วนที่เหลือที่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายในแต่ละเดือน
อยากรู้ว่าควรเลือกซื้อบ้านในราคาเท่าไรดี สามารถใช้เครื่องมือคำนวณสินเชื่อจาก ธอส. เพื่อดูยอดกู้สูงสุด และจำนวนในการผ่อนจ่ายต่อเดือนที่เหมาะสมได้ที่ > เครื่องมือคำนวณสินเชื่อ
2. มีเงินออมสำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้าน
ในขั้นตอนการซื้อบ้านแม้ว่าจะสามารถขอสินเชื่อบ้านได้ แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่คุณต้องชำระด้วยเงินสดก่อน เช่น ค่าจอง ค่าทำสัญญา ค่าผ่อนดาวน์ ค่าโอนกรรมสิทธิ์ ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจซื้อบ้าน คุณควรมีเงินออมในบัญชีประมาณ 10% ของราคาบ้าน เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้
และนอกเหนือจากการออมเงินเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายก้อนแรกในการซื้อบ้านแล้ว การออมเงินในบัญชีอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลา 6 เดือนขึ้นไป จะทำให้ธนาคารเห็นว่าคุณมีวินัยในด้านการเงินที่ดี และมีกำลังในการผ่อนชำระสินเชื่ออย่างแน่นอน ทำให้โอกาสที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อมีมากยิ่งขึ้น
3. จัดการภาระหนี้สินให้ได้มากที่สุด
สำหรับเรื่องภาระหนี้สินเดิมที่มีอยู่ เป็นหนึ่งปัจจัยที่ธนาคารใช้ในการพิจารณาวงเงินสินเชื่อบ้านด้วย โดยยิ่งมียอดภาระหนี้สินเดิมมาก โอกาสที่จะได้วงเงินกู้สำหรับซื้อบ้านก็ลดลงไปด้วย ซึ่งถ้าต้องการให้ยอดวงเงินกู้สูง ก็จะต้องจัดการภาระหนี้ให้ลดลงได้น้อยที่สุด หรือทางที่ดีก็ควรปิดยอดหนี้ค้างชำระให้หมดก่อน
ยอดหนี้แบบไหนที่ควรจัดการให้เรียบร้อย
- ยอดการใช้งานบัตรเครดิต โดยถ้ามียอดผ่อนชำระค้างอยู่ก็ควรชำระเงินเพื่อปิดยอดให้เรียบร้อยก่อน และในกรณีที่มีบัตรเครดิตหลายใบ แม้จะไม่ค่อยได้ใช้งานก็ควรปิดการใช้งานบัตรไปก่อน เพื่อไม่ให้มีผลต่อการคำนวณวงเงินสินเชื่อในการกู้บ้าน
- ยอดผ่อนชำระของชิ้นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ โทรศัพท์มือถือ รวมถึงอุปกรณ์ไอทีต่างๆ ที่มีราคาสูง ที่แม้ว่าจะเหลือยอดผ่อนไม่กี่เดือน ก็ควรจัดการชำระเงินเพื่อปิดยอดให้หมดก่อน เพราะถ้าหากยังมียอดค้างชำระ ยอดเหล่านี้จะถูกมองว่าเป็นหนี้สิน จะส่งผลให้วงเงินสินเชื่อที่จะได้รับการอนุมัติลดลง
4. เลือกสินเชื่อบ้านที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ
เลือกอัตราดอกเบี้ยต่ำดีอย่างไร?
ต้องบอกว่าอัตราดอกเบี้ยแม้จะคิดเป็นหลักเปอร์เซ็นต์ที่น้อย แต่เมื่อนำมาคำนวณกับยอดกู้ที่มีจำนวนมากแล้ว ก็ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้กับธนาคารมีสูงขึ้นไปด้วย ดังนั้น การเลือกขอสินเชื่อบ้านด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ จึงเป็นผลดีที่ช่วยให้คุณสามารถผ่อนบ้านหมดได้ไวขึ้น เนื่องจากเงินที่ชำระไปถูกหักยอดดอกเบี้ยน้อย ทำให้ยอดกู้ลดลงได้เร็วนั่นเอง
สำหรับเคล็ดลับในการเลือกสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำ สามารถทำได้ 2 วิธี คือ
- เลือกขอสินเชื่อกับธนาคารที่ให้อัตราดอกเบี้ยในช่วง 3 ปีแรกต่ำ เนื่องจากในช่วงที่กู้บ้านครั้งแรก ธนาคารมักจะมีโปรโมชั่นอัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วง 1-3 ปีแรก ที่ช่วยให้สามารถชำระในส่วนของเงินต้นได้เยอะ และจะถูกหักในส่วนดอกเบี้ยออกไปน้อย
- เลือกขอรีไฟแนนซ์กับธนาคารใหม่ เมื่อหมดช่วงโปรโมชั่นดอกเบี้ยต่ำในช่วง 3 ปีแรกไปแล้ว อัตราดอกเบี้ยบ้านมักจะลอยตัวสูงขึ้น ทำให้แม้ว่าจะชำระค่าผ่อนบ้านเท่าเดิมทุกเดือน แต่ยอดเงินต้นจะลดลงช้า เนื่องจากถูกหักไปจ่ายในส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเยอะขึ้น หากคุณไม่ต้องการแบกภาระในการจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูง ก็สามารถใช้วิธีรีไฟแนนซ์บ้าน หรือยื่นกู้บ้านหลังเดิมกับธนาคารแห่งใหม่ เพื่อให้ได้รับอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปอีกได้ 1-3 ปี ช่วยให้ยอดเงินกู้ลดลงได้เร็ว และระยะเวลาในการผ่อนชำระสั้นลงด้วย
5. เตรียมเอกสารในการขอสินเชื่อบ้านให้พร้อม
สำหรับการขอสินเชื่อบ้าน ในขั้นตอนการเตรียมเอกสาร ถือว่าเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากเอกสารต่างๆ ที่ต้องเตรียมจะเป็นสิ่งที่ใช้ประกอบอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร ซึ่งถ้าหากเตรียมพร้อมได้ครบถ้วนตามรายการที่ธนาคารกำหนด การยื่นขอสินเชื่อจะมีโอกาสผ่านได้รวดเร็ว
สำหรับเอกสารที่ต้องเตรียมในการขอสินเชื่อบ้าน จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
- เอกสารส่วนบุคคล เช่น บัตรประจำตัวประชาชน, บัตรข้าราชการ, สำเนาทะเบียนบ้าน, สำเนาทะเบียนสมรส / ใบหย่า, ใบมรณะบัตร, สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ – สกุล (ถ้ามี)
- เอกสารที่เป็นหลักฐานเกี่ยวกับรายได้ สำหรับผู้ที่ทำงานประจำ เช่น ใบรับรองเงินเดือน, สมุดบัญชีธนาคาร และสำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น รูปถ่ายกิจการ, สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง
- เอกสารเกี่ยวกับหลักประกัน เช่น สำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย, สัญญาวางมัดจำ, สำเนาโฉนดที่ดิน
โดยนอกจากเอกสารข้างต้นแล้ว ธนาคารอาจมีการขอเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อบ้านเพิ่มเติม
เปลี่ยนบ้านในฝันให้เป็นจริงได้กับ ธอส.
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นธนาคารเพื่อการมีบ้านโดยเฉพาะ โดยเรามีโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหลายรูปแบบ ที่ตอบโจทย์คนไทยทุกคน ทุกอาชีพ ให้สามารถมีบ้านในฝันเป็นของตนเองได้ พร้อมอัตราดอกเบี้ยต่ำ ที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับคุณในระยะยาวได้
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับโครงการสินเชื่อบ้านจาก ธอส. สามารถกรอกข้อมูล เพื่อขอคำแนะนำด้านสินเชื่อ และให้เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับ >>> ได้ที่นี่
เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ที่คอยให้คำแนะนำ พร้อมเปรียบเทียบและหยิบยื่นข้อเสนอด้านสินเชื่อที่ดีที่สุดให้กับคุณ ติดต่อเราได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาใกล้บ้านคุณ
หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.ghbank.co.th
ติดต่อ G H BANK Call Center : 02 645 9000