10 เคล็ดลับเปลี่ยนตัวเอง (สำหรับคนอยากมีเงิน)

/
/
10 เคล็ดลับเปลี่ยนตัวเอง (สำหรับคนอยากมีเงิน)

หากคุณไม่ได้แค่อยากมีเงิน แต่ตระหนักได้ว่าอะไรน่าจะเป็นสาเหตุ และต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงแนวคิดที่มีต่อเงินให้ดีขึ้น

สิ่งที่ทำให้คนเราแตกต่างกัน ปัจจัยสำคัญ คือ แนวคิด (Mindset) และนิสัยหรือพฤติกรรม (Habit and behaviour) เช่นเดียวกันกับข้อแตกต่างระหว่าง “คนที่มีเงิน” กับ “คนที่ไม่มีเงิน (เพียงพอ)” นั่นก็เป็นเพราะว่ามีมุมมองหรือแนวคิดต่อเงินไม่ถูกต้อง อีกทั้ง ยังมีนิสัยหรือพฤติกรรมการใช้เงินที่ขัดขวางความมั่นคงมั่งคั่งไปตลอดชีวิต

หากคุณเข้ามาอ่านบทความชิ้นนี้ แสดงว่าคุณเป็นหนึ่งคนที่ไม่ใช่แค่อยากมีเงิน แต่ตระหนักได้ว่าอะไรน่าจะเป็นสาเหตุ และต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง 10 เคล็ดลับเปลี่ยนตัวเอง ต่อไปนี้ คือ แนวทางที่จะช่วยให้คุณเปลี่ยนแปลงแนวคิดที่มีต่อเงินให้ดีขึ้น พร้อมทราบนิสัยการเงินที่ควรสร้างเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็น “คนมีเงิน” อย่างแท้จริง

1. เรื่องเงินเป็นเรื่องของทุกคน (และเงินไม่ใช่สิ่งเลวร้าย)

แม้หลายๆ คนจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าความรู้ด้านการเงินจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความมั่งคั่งในระยะยาวอย่างมั่นคงได้ กระนั้น ก็ยังไม่เห็นความสำคัญเท่าที่ควร บางคนยังรู้สึกว่า “ไม่ได้มีเงินเยอะ จะรู้ไปทำไม” เช่น การลงทุน การออม หรือการติดตามการใช้จ่าย ก็อาจคิดว่าเป็นเรื่องของคนที่มีเงินจำนวนมากเท่านั้น

นอกจากนี้ ในสังคมบางส่วนยังมองว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องไกลตัวหรือถึงขั้นเป็นเรื่องไม่ควรใส่ใจ เพราะการตีความคำกล่าวต่างๆ เช่น “เงินทองเป็นของนอกกาย” “ความสุขที่แท้จริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินในบัญชี” ผิดไป รวมทั้ง ยังผูกโยง “เงิน” กับ “ความโลภ” “กิเลส” หรือ “การเป็นคนเห็นแก่ตัว” อีกด้วย  ทำให้ทัศนคติต่อการเรียนรู้เรื่องเงินดูแย่ และเมื่อไม่มีความรู้ เราจะจัดการกับเงินให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร

ดังนั้น สิ่งแรกที่คุณควรเปลี่ยนแปลงตัวเองถ้าอยากมีเงินก็คือ เปลี่ยนแปลงทัศนคติเรื่องเงินใหม่ว่า “เรื่องเงินเป็นเรื่องของทุกคน และเงินไม่ใช่สิ่งเลวร้าย”

2. อยากมีเงินต้องจัดระเบียบการเงิน

โดยทั่วไป หากเป็นคนที่ไม่ได้ใส่ใจกับการเงินมากนัก ก็มักจะละเลยการจัดระเบียบการเงินหรือใช้จ่ายเงินเป็นระบบ แต่ถ้าใครที่มีทัศนคติต่อการเงินที่ดีหรือได้ปรับปรุงแนวคิดทางการเงินใหม่แล้ว ก็น่าจะเริ่มเห็นความสำคัญของการจัดการเงินให้เป็นระเบียบ

การจัดระเบียบการเงินในที่นี้ หมายความถึงการติดตามการใช้จ่ายของตัวเองและควบคุมการใช้จ่ายให้เป็นระบบ ด้วยการทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย และการทำงบประมาณส่วนบุคคล

ทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย

การทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย ถือเป็นการจัดระเบียบการใช้จ่ายให้เห็นว่ามีรายได้และรายจ่ายจากทางใดบ้าง ช่วยให้คุณสามารถติดตามพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเองว่ามักใช้จ่ายกับอะไร และสิ่งนั้นจำเป็นแค่ไหน ทำให้เห็น “รูรั่ว” ของกระเป๋าเงิน เพื่อที่จะได้หาแนวทางปรับปรุงพฤติกรรมและรู้เท่าทันการใช้จ่ายของตัวเองได้ดีกว่านี้

ทำงบประมาณส่วนบุคคล

อีกสิ่งที่ต้องทำเพื่อจัดระเบียบการเงิน คือ การทำงบประมาณส่วนบุคคล เพื่อควบคุมการใช้จ่ายของตนเองอย่างเป็นระบบ โดยเมื่อทราบรายจ่ายของตัวเองโดยประมาณในแต่ละเดือน ก็จะช่วยให้สามารถวางแผนได้ว่าในแต่ละเดือนคุณมีอะไรที่ต้องจ่ายบ้าง และแต่ละรายการต้องจ่ายเท่าไร ทั้งนี้ ให้คุณรวม “เป้าหมายการออม” เป็นหนึ่งในรายการที่ต้องจ่ายด้วย

ตัวอย่างการทำงบประมาณส่วนบุคคลอย่างคร่าว

ตัวอย่างการทำงบประมาณส่วนบุคคลอย่างคร่าว

3. ไม่ลืมตั้งเป้าหมายการเงิน

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่จะขัดขวางไม่ให้เราสามารถเก็บเงิน สร้างรายได้ และกลายเป็น “คนมีเงิน” อย่างแท้จริงได้ นั่นคือการขาดเป้าหมาย เพราะลำพังอยากรวย อยากมีเงิน เพียงเท่านั้น ความตั้งใจก็จะไม่มี ความฝันจะมีเงินก็คงเป็นไปได้ยาก ขาดเป้าหมายและแรงกระตุ้น

สิ่งที่ควรตั้งต้นใหม่ คือ การวางเป้าหมายการเงิน เช่น ตั้งใจเก็บเงินสำรองสำหรับ 6 เดือนให้ได้ ปิดหนี้ให้ได้ภายใน 1 ปี เก็บเงิน 1,000,000 บาท แรก ให้ได้ภายใน 5 ปี เป็นต้น เพราะการตั้งเป้าหมายจะนำทางคุณไปสู่สถานีต่อไป คุณจะเริ่มถามตัวเองว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย ไปทางไหนจึงจะถึงเร็วที่สุด และเป้าหมายยังช่วยให้คุณเห็นความคืบหน้าว่าตอนนี้คุณเข้าใกล้ความสำเร็จมากเพียงใดแล้ว

ทั้งนี้ เคล็ดลับในการตั้งเป้าหมายการเงินให้สำเร็จนั้น ต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน มีจุดประสงค์แน่วแน่ และมีระยะเวลากำหนด (ที่ต้องสัมพันธ์กับจำนวนเงินเป้าหมายด้วย) เพื่อเพิ่มโอกาสให้เป้าหมายเป็นจริงได้

4. ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ ไม่ต้องรอใครช่วย

หนึ่งในความเชื่อที่เป็นภัยต่อความมั่งคั่งร่ำรวย คือ การรอคอยโชคชะตาหรือคาดหวังว่าใครจะต้องมาช่วยเหลือรับผิดชอบตัวเรา เช่น การหวังรวยด้วยการเสี่ยงโชค หรือคิดว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานใดๆ ต้องเข้ามาช่วยเหลือหรือรับผิดชอบคุณภาพชีวิตของตน

ความเชื่อเช่นนี้ทำให้ขาดพลังและความเชื่อมั่นในตัวเองจนไม่มีความกระตือรือร้นอยากจะลุกขึ้นมาทำอะไรให้สำเร็จด้วยตัวเอง นอกจากนี้ คนที่มีความเชื่อเช่นนี้ยังมีแนวโน้มที่จะโทษผู้อื่น จนมองไม่เห็นปัญหาของตน และไม่รู้ว่ามีอะไรที่ต้องแก้ไขเพื่อให้ตัวเองพัฒนา

การจะประสบความสำเร็จทางการเงินได้ ต้องเกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเองเท่านั้น คนที่มีเงินหรือมหาเศรษฐีต่างทุมเททำงาน บริหารเงิน และสร้างฐานะด้วยตัวเอง

5. ฝึกออมให้ “ง่าย” ฝึกจ่ายให้ “ยาก”

ทุกคนต่างทราบกันดีว่า “การออม” คือพื้นฐานของความมั่นคงมั่งคั่งทางการเงิน และเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็สามารถทำได้ แต่อย่างไรมนุษย์ก็ยังใช้จ่ายกันตามอารมณ์อยู่ดี เช่น ซื้อเสื้อผ้าตามกระแสแฟชั่น รู้สึกอยากกินอาหารหรืออยากเที่ยวในที่ที่ใครหลายคนไป เป็นต้น จึงต้องหาวิธีช่วยเก็บเงินมาแก้ไข วิธีที่อยากนำเสนอ เรียกว่า เคล็ดลับ “ออมให้ง่าย จ่ายให้ยาก”

หนึ่งในวิธีการออมที่ง่ายและมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การออมก่อนใช้โดยตัดบัญชีเงินรายได้เข้าบัญชีเงินออมอัตโนมัติ วิธีนี้ง่ายที่สุด เพราะคุณไม่ต้องทำอะไร เพียงแค่ลงมือตั้งระบบตัดเงินอัตโนมัติครั้งแรก หรือสำหรับการงดหรือลดรายจ่าย ก็แค่ทำให้การจับจ่ายเป็นเรื่องยาก เช่น ไม่สมัครบัตรเครดิต ไม่แวะห้างสรรพสินค้า พกเงินสดให้น้อยลง ไม่รับบัตร ATM สำหรับบัญชี

นอกจากนี้ คุณควรจะใช้เครื่องมือเก็บเงินที่ช่วยให้เพิ่มประสิทธิภาพและทำให้การเก็บเงินของคุณง่ายขึ้น

  1. บัญชีเงินฝากประจำ เครื่องมือตัวนี้โดดเด่นที่เราไม่สามารถถอนเงินมาใช้ก่อนกำหนดได้ จึงทำให้เราเก็บเงินได้นาน และหากใช้เคล็ดลับตัดเงินเข้าฝากอัตโนมัติแล้วด้วย รับรองได้ว่าคุณจะมีเงินออมมากมายอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน นอกจากนี้ การฝากออมประจำยังสามารถกำหนดเวลาเองได้ด้วย ตั้งแต่ 3 – 60 เดือน
  2. บัญชีออมทรัพย์แบบพิเศษ เครื่องมือตัวนี้มีเฉพาะบางธนาคารเท่านั้น เป็นบัญชีออมทรัพย์ที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้คุณอยากเก็บเงินได้มากขึ้น เพราะจำกัดจำนวนการถอน จึงเหมาะสำหรับคุมการใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังได้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงกกว่าออมทรัพย์ทั่วไปอีกด้วย

6. จ่าย “แพง” วันนี้ เพื่อ “ประหยัด” วันหน้า

หลายคนที่อยากมีเงิน อยากเก็บเงินให้ได้มากๆ อาจมุ่งมั่นแต่เพียงการเก็บออมและประหยัดรายจ่ายในปัจจุบันเท่านั้น แต่ทัศนคติของคนที่จะประสบความสำเร็จทางการเงินจะไม่ได้มองรายจ่ายเพียงเท่านั้น เขาจะมองความสำเร็จในระยะยาว มองการณ์ไกลว่าสิ่งใดจะทำให้ไปถึงเป้าหมายได้เร็ว

เคล็ดลับในการ “จ่ายแพงเพื่อประหยัด” นั้น หมายถึง การใช้จ่ายเงินอย่างคุ้มค่า เช่น รับประทานอาหารที่มีคุณภาพเพื่อหลีกเลี่ยงค่ารักษาพยาบาลในอนาคต ทำประกันภัยเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด ซื้อเครื่องนุ่งห่มที่มีคุณภาพดีสามารถใช้ได้นานเพื่อไม่ต้องซื้อบ่อยๆ หรือลดโอกาสการไปร้านเสื้อผ้าซึ่งกระตุ้นให้รู้สึกอยากได้อยู่เสมอ หรือซื้อรถยนต์ที่มีระบบความปลอดภัยที่รัดกุมกว่าเพื่อรักษาชีวิตและการสูญเสีย เป็นต้น

7. ใส่ใจค่าธรรมเนียมและสิทธิประโยชน์

ค่าธรรมเนียมและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นสิ่งที่น้อยคนจะใส่ใจ เพราะคิดว่าเงินจำนวนนั้นเล็กน้อย จึงไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร

ในหนึ่งปีหากคุณสามารถสรุปค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมกันได้ คุณอาจตกใจกับจำนวนเงินที่เสียไปโดยไม่รู้ตัวว่ามันมากแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมบัตร ATM ค่าธรรมเนียมบัญชีเงินฝาก ค่าธรรมเนียมซื้อ-ขายกองทุน ค่าธรรมเนียมโอนเงิน ค่าธรรมเนียมบัตรเครเดิต ฯลฯ ก่อนทำธุรกรรมต่างๆ จึงไม่ควรลืมคำนึงถึงค่าใช้จ่ายส่วนนี้ และควรวางแผนก่อนทำธุรกรรมด้วย

สำหรับสิทธิประโยชน์ เช่น ประกันสังคม ประกันภัย สวัสดิการขององค์กร หมายคนเองก็มักจะไม่ได้ศึกษาให้ดี หรืออาจลืมไปว่าตนมีสิทธิรับประโยชน์ ทั้งๆ ที่สิทธิประโยชน์ทั้งหลายสามารถช่วยลดรายจ่ายได้มากเช่นกัน เช่น ค่าตรวจสุขภาพ ค่าทำฟัน ค่ารักษาพยาบาล หรือการเบิกค่าเดินทางจากบริษัท เป็นต้น

8. ความเสี่ยงไม่น่ากลัวเท่าความเฉื่อย

การลงทุน คือ วิธีการสร้างรายได้อีกทางนอกเหนือจากงานที่ทำประจำ ข้อดีของการลงทุนมักจะเป็นการลงทุนเพียงไม่กี่ครั้ง ลงแรงไม่มากหรือไม่กี่ครั้ง และไม่เสียเวลา เป็นช่องทางหารายได้แบบ “เสือนอนกิน” (Passive income) หรือเปรียบเสมือนเครื่องทุนแรงที่ช่วยให้คุณมีรายได้เพิ่มขึ้น

กระนั้น หลายคนก็ไม่ลงมือทำสักที ด้วยคิดความกลัวว่าจะไม่เข้าใจ ไม่อยากเสี่ยง และคอยแต่ศึกษาจากตำราโดยไม่ลงมือทำจริงๆ หรือการบอกตัวเองว่า “จะทำ” แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ลงมือ เราควรเปลี่ยนความคิดเช่นนั้นเป็น “การเรียนรู้จากการลงมือทำ” หรือ “Learning by doing” มากกว่า

แม้ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง” แต่ยิ่งเสี่ยงเท่าไร นั่นหมายความว่าเราควรจะ “ทำ” และ “ศึกษา” เพื่อเรียนรู้มันให้ดีและรอบคอบมากยิ่งขึ้นไปพร้อมๆ กัน เพราะอย่างไรความรู้ที่ได้มาก็จะช่วยให้เราพัฒนาตัวเอง และค่อยๆ รู้แนวทางการลงทุนดียิ่งขึ้น อย่ามัวกลัวว่าการลงทุนจะขาดทุน หรือมัวแต่ศึกษาเตรียมตัวจนความตั้งใจกลายเป็น “ความเฉื่อยชา” จนไม่ได้เริ่มต้นลงมือสักที

9. หนี้สินก็สร้างรายได้ได้

ใครๆ ต่างก็บอกว่า “หากอยากมีเงิน อย่าสร้างหนี้” ซึ่งคำกล่าวนี้ก็เป็นความจริง เพราะอย่างไร หนี้สินก็คือสิ่งที่เราต้องผ่อนชำระคืนพร้อมทั้งดอกเบี้ยซึ่งมักจากสูงกว่าเงินต้น กระนั้นก็ตา หนี้สินไม่ได้มีแค่ “หนี้จน” แต่ยังมี “หนี้รวย” ด้วยเช่นกัน

หนี้จน หมายถึง ภาระหนี้สินที่เราต้องจ่ายโดยไม่มีความจำเป็น เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด หรือหนี้ผ่อนซื้อของที่ไม่จำเป็น

หนี้รวย หมายถึง ภาระหนี้สินที่เกิดจากความจำเป็นหรือมีจุดประสงค์เพื่อการลงทุนซึ่งสร้างกำไรให้ภายหลัง เช่น หนี้สินเชื่อบ้าน หนี้ก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับปล่อยเช่า เป็นต้น

ทั้งนี้ ไม่ว่าคุณจะมีทั้งหนี้จนและหนี้รวย เมื่อมีทัศนคติว่า หนี้ช่วยให้ชีวิตมีความคล่องตัวมากขึ้นและช่วยให้ประสบควมสำเร็จได้เพียงแต่ต้องมีการวางแผนบริหารหนี้อย่างรอบคอบ การมีหนี้ก็จะไม่ได้น่ากลัวต่อไป ทั้งยังช่วยให้คุณ “กล้า” ที่จะลงมือลงทุนให้เงินงอกเงยมากยิ่งขึ้นด้วย

10. แบ่งเงินเป็นต้นทุนความรู้และการพัฒนาตนเอง

เศรษฐีจำนวนมากหรือคนที่มีอิสรภาพทางการเงิน (Financial freedom) จะให้ความสำคัญกับการศึกษาและการพัฒนาตัวเองเป็นอย่างยิ่ง พวกเขารู้ว่าการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด การศึกษาไม่ได้จบเพียงรั้วมหาวิทยาลัย เพราะโลกหมุนไปทุกวัน ความรู้เกิดขึ้นใหม่เสมอ และการพัฒนาตัวเองก็คือการเพิ่มมูลค่าให้ตนเองที่ดีที่สุด

การพัฒนาตัวเองจะช่วยให้คุณสามารถทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ได้เลื่อนตำแหน่ง เห็นช่องทางทำกำไรมากขึ้น ทำงานมีความสุขมากขึ้น จนเกิดความพอใจในชีวิตที่ช่วยลดความต้องการที่ฟุ่มเฟือยลงได้ ยังผลให้มีชีวิตที่เป็นสุข ดังนั้น ไม่ใช่แค่อยากมีเงิน แต่อยากมีชีวิตที่เป็นสุขได้โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินอีกต่อไป หนึ่งสิ่งที่ควรเริ่มต้นทำตั้งแต่วันนี้ คือ การหาความรู้ทั้งเรื่องเงินและด้านอื่นๆ รวมทั้งพัฒนาตัวเอง ซึ่งอาจแบ่งเงินจากรายจ่ายไม่จำเป็นเป็นค่าคอร์สการเงิน ค่าเรียนภาษาเพิ่มเติม ซื้อหนังสือพัฒนาตัวเอง ฯลฯ ที่ช่วยให้คุณเติบโตได้ไกลกว่าคำว่า “รวย”

สรุป

แนวคิดและนิสัยเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนคนหนึ่งประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว สำหรับคนอยากมีเงิน หากยังมีทัศนคติต่อการเงินที่ไม่ถูกต้อง มีนิสัยการใช้จ่ายเพียงระยะสั้น ความอยากก็ยังคงเป็นเพียงแค่ความอยาก แต่สำหรับคนที่อยากมีเงินและต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทั้งความคิดและพฤติกรรม “ความอยาก” จะกลายเป็น “ความจริง” ได้ ด้วยความมุ่นมั่นตั้งใจ และลงมือทำอย่างต่อเนื่อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
-

บริการของเรา

สนใจผลิตภัณฑ์ธนาคาร

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณ
อาจสนใจ

ติดตามข่าวสารจาก GH BANK

อัปเดตทุก
เรื่องบ้าน

อัพเดตเรื่องบ้านก่อนใคร รู้ก่อนได้เปรียบ

ติดตามข่าวสารจาก GH BANK

อัปเดตทุก
เรื่องบ้าน

อัพเดตเรื่องบ้านก่อนใคร รู้ก่อนได้เปรียบ

ติดตามข่าวสารจาก GH BANK

อัปเดตทุก เรื่องบ้าน

อัพเดตเรื่องบ้านก่อนใคร รู้ก่อนได้เปรียบ

ค้นหาตาม Keyword เช่น การเงิน, การลงทุน, สินเชื่อ, บ้าน